“ขิง” ในทัศนะแพทย์แผนจีน

“ขิง” ในทัศนะแพทย์แผนจีน เป็นทั้งยาสมุนไพรที่ใช้บ่อยและเป็นทั้งอาหาร เครื่องปรุงรส ที่ต้องมีไว้ประจำครัวเรือน
ขงจื๊อ ปราชญ์จีนสมัยชุนชิว (ค.ศ.๔๗๙-ค.ศ.๕๐๐) ได้เสนอว่า “อาหารทุกมื้อไม่ควรละเลยขิง” ท่านเชื่อว่าบรรดาผักต่างๆ ขิงมีคุณค่ามากที่สุด สามารถทำให้มีชีวิตชีวา ขจัดของเสียในร่างกาย ขงจื๊อเป็นคน มณฑลซานตุง ปัจจุบันที่เมืองไหลอู๋ของซานตุง มีโรงงานผลิตเหล้าขิง ที่มีชื่อ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อของขงจื๊อได้รับการสืบทอดต่อกันมา

ซูตงปอ กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้เขียนบทกวี “ตงปอจ๋อจี้” พูดถึงพระที่วัดเฉียนถางจิ้ง แห่งเมืองหางเจ่า ซึ่งมีอายุกว่า ๘๐ ปี มีใบหน้า อันอิ่มเอิบ สุขภาพแข็งแรง ได้คำตอบจากพระท่านนั้นว่า” ท่านฉันขิงมากว่า ๔๐ ปี ท่านจึงไม่แก่” ซูตงปอจึงมีความเชื่อว่าขิงคือยาอายุวัฒนะดีๆ นี่เอง

ความเชื่อของคนจีนต่อขิงมีมากมาย เช่น
 เดือนสิบมีขิงคือโสมน้อยๆ นั้นเอง”
” ชา ๑ แก้ว ขิง ๑ แว่น ขับลมบำรุงกระเพาะดีนักแล”
” ตื่นนอน ขิง ๓ แว่น ไม่แพ้ซุปใส่โสม”
” ทุกวันกินขิง ๓ แว่น ไม่ต้องรบกวนหมอสั่งยา”
ความเชื่อเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปในหมู่ประชาชน เป็นภูมิปัญญาที่ยึดถือเป็นหลักการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคและมีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง

ชนิดรูปแบบของขิง และสรรพคุณ
๑. ขิงสด คุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสเผ็ด
 สรรพคุณ ขับเหงื่อ อุ่นจงเจียว (กระเพาะอาหาร) แก้อาเจียน
๒. น้ำขิง คุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสเผ็ด 
 สรรพคุณ แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ (เสมหะขาวใส)
๓. ขิงแห้ง คุณสมบัติร้อน อุ่นจงเจียว สลายความเย็น ใช้ ในกรณีระบบม้าม-กระเพาะอาหารพร่อง-เย็น
๔. ขิงหมกไฟ คุณสมบัติร้อน สามารถอุ่นเส้นลมปราณ หยุด เลือด ทะลวงหัวใจ เสริมหยาง
๕. เปลือกขิง คุณสมบัติร้อนเล็ก น้อย ขับปัสสาวะ ลดบวม
๖. ใบขิง คุณสมบัติร้อนเล็กน้อย ช่วยย่อย ขับน้ำ ทำให้เลือดไหลเวียนคล่อง

ข้อควรระวัง
เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด คุณสมบัติอุ่น คนที่ยินพร่อง มีความร้อนภายใน รวมทั้งริดสีดวง เหงื่อ ออกมาก เหงื่อออกกลางคืน ตา แดง เจ็บคอ หรือมีไฟในตัวมาก (ร้อนแกว่ง) ไม่เหมาะกับขิง รวม ทั้งฤดูกาลที่แห้ง (ฤดูใบไม้ร่วง) การกินขิงต้องระวัง เพราะขิงมักทำลายสารยิน

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
๑. ผลต่อระบบย่อยอาหาร
– น้ำต้มขิงเข้มข้นร้อยละ ๕๐ มีฤทธิ์ยับยั้งกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง ต่อจากนั้นมีฤทธิ์กระตุ้น
– เสริมความแข็งแรง รักษาแผลกระเพาะอาหารบริเวณ ลำไส้เล็กส่วนต้น กระตุ้นความอยากอาหาร
– กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้อย่างอ่อน ทำให้ลดอาการท้องอืด แน่น
– กระตุ้นการบีบตัวของถุงน้ำดี ควบคุมการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin, PG) ซึ่งเป็นกรดไขมัน ชนิดหนึ่ง ทำให้ลดปริมาณเมือกและการเกาะตัวของเมือกในถุงน้ำดี
– ฤทธิ์ป้องกันและรักษาตับอักเสบ ในหนูทดลองที่ได้ รับบาดเจ็บจากสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง การให้น้ำสกัดจากขิงหรือขิงผสมน้ำผึ้ง สามารถลดการอักเสบของตับได้
– แก้อาเจียนที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอาหารหรือสาร เคมีบางอย่าง


๒. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
– กล่อมประสาท ทำให้นอนหลับสนิท
– ระงับความเจ็บปวด ควบคุมสารเกี่ยวกับการเจ็บปวด(prostaglandin E2) ซึ่งเป็นสารฮอร์โมนเฉพาะที่ ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากการขาดเลือด
– ลดไข้ กรณีใช้ขนาดน้อยๆ สามารถลดไข้ได้
– กระตุ้นระบบการหายใจ ทำให้หายใจคล่อง แก้ไอ แก้เสมหะ


๓. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
– เสริมกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้แรงบีบตัวของหัวใจดีขึ้น
– ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด การกินขิงมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหลอดเลือด หัวใจตีบ


๔. ผลต่อเชื้อแบคทีเรียและพยาธิ
– ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค จากการทดลองน้ำที่ได้จากการแช่ขิง สามารถยับยั้งเชื้อโรคแบคทีเรีย การเติบโตของพยาธิต่างๆ ได้


๕. ผลต่อการต้านการอักเสบ
การทดลองในหนูที่มีอาการบวมอักเสบที่ขา เมื่อฉีดน้ำมันสกัดจากขิง ๑๔๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม เข้าไปในกระเพาะอาหาร ตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของสารเคมี และการดูอาการภายนอก พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน


๖. แก้คลื่นไส้อาเจียนมีการทดลองในคนและสัตว์ทดลอง พบว่าขิงมีคุณสมบัติออกฤทธิ์คล้ายกับยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แผนปัจจุบัน


๗. ผลต่อร่างกายด้านอื่นๆ– สารจากน้ำขิงมีบทบาทต่อ การต้านการเติบโตของมะเร็ง ในระดับหนึ่ง (เยอรมัน)
– ลดผลข้างเคียงของสารเคมีที่รักษามะเร็ง นักวิจัยชาวญี่ปุ่นแนะนำว่า ควรกินขิงควบคู่กับยารักษามะเร็ง
– ป้องกันภาวะภูมิไวเกินที่เกิดจากการกินยา หรืออาหารทะเลแล้วเกิดผื่นลมพิษหรือ ช็อก

การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
๑. บรรเทาอาการอาเจียนรุนแรง

ใช้ขิงสดพอกที่จุดฝังเข็มไน่กวน(เหนือข้อมือด้าน ใน ๒ ชุ่น) ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงถึง ๑ ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น


๒. บรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นต้มขิงสดที่ตำให้ละเอียดกับน้ำ ๓๐๐ มิลลิลิตร นาน ๓๐ นาที กินวันละ ๓ เวลา เป็นเวลา ๒ วัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น พบว่าอาการปวดกระเพาะน้อยลงหรือหายไป ความรู้สึกแสบท้องเวลาหิวดีขึ้นมาก ท้องผูก หรือถ่ายอุจจาระสีดำ (แสดงว่ามีเลือดออก) ปกติ ความอยากอาหารดีขึ้น (พบว่าผู้ป่วยเหล่านั้นส่วนใหญ่กลับเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งอาจต้องรักษาต่อเนื่อง หรือควบคุมปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยจึงจะรักษาหายขาดได้)


๓. รักษาโรคบิด
ใช้ขิงสด ๗๕ กรัม น้ำตาลแดงตำเข้าด้วยกัน แบ่งกินเป็น ๓ มื้อต่อตำรับ


๔. ป้องกันรักษาอาการเมารถ เมาเรือ
– ใช้ขิงสดเป็นแผ่นปิดที่จุดไน่กวน(เหนือข้อมือด้านใน ๒ ชุ่น )ใช้เหรียญสตางค์ขนาดพอเหมาะปิดทับแล้วใช้ปลาสเตอร์หรือยางยืดรัดไว้
– ใช้ขิงสด ๒๕ กรัม ตำละเอียด คั้นเอาเฉพาะน้ำดื่ม (ไม่ต้องดื่มน้ำตาม)


๕. รักษาปัสสาวะรดที่นอนในผู้ป่วยที่มีภาวะหยางพร่อง มีความเย็นในร่างกายเป็นเหตุให้ใช้ขิง ๓๐ กรัม (ตำ)  ยาสมุนไพรฟู่จื่อ ๖ กรัม  ปู่กู่จื่อ ๑๒ กรัม บดคลุกให้เข้ากันฟอกในแอ่งสะดือ ใช้ผ้ากอซสะอาดปิดทับแล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดให้แน่น


๖. รักษาลำไส้อุดกั้นจากพยาธิตัวกลม
ใช้ขิงสด ๑๒๐ กรัม ตำละเอียด คั้นเอาน้ำขิงผสมกับน้ำผึ้ง ๑๒๐ กรัม
กินครั้งเดียว หรือค่อยๆ กินหมดภายในครึ่งชั่วโมง การทดลองในผู้ป่วย ๖๔ คน พบว่าสามารถลดการอุดกั้นของลำไส้ ร้อยละ ๙๖.๘ ฤทธิ์ในการขับพยาธิร้อยละ ๖๑.๓


๗. เป็นหวัดตัวร้อนเป็นไข้เนื่อง จากกระทบความเย็น เช่น โดนฝน โดนลม ทำให้หนาว มีไข้ต่ำๆ
ให้หั่นขิงฝอย ๓๐ กรัม ชงกับน้ำตาลทรายแดง หรืออาจใส่หัวหอมทุบ ๓-๔ หัว (ช่วยกระจายลม) ดื่มขณะร้อนๆ แล้วห่มผ้าให้เหงื่อออก


๘. ฟื้นฟูร่างกายภายหลังคลอดบุตรนิยมให้หญิงหลังคลอดกินไก่ผัดขิง โดยเฉพาะไก่ดำตัวผู้จะยิ่งมีหยางมากกว่าไก่ตัวเมีย
ร่างกายของหญิงหลังคลอด จะเสียทั้งพลังหยางและเลือด มีน้ำในร่างกายตกค้างอยู่มาก การกินไก่ผัดขิงจะเสริมทั้งเลือดพลังหยาง ช่วยทำให้การย่อยดูดซึมอาหารดีขึ้น มีการขับระบายของเสียน้ำตกค้าง น้ำคาวปลาได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น

คุณสมบัติและสรรพคุณอันมากมายของขิง ทำให้ขิงจัดเป็นยาอายุวัฒนะที่หาง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง ปัจจุบันยังพบว่ามีสารต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจหลักพื้นฐานข้อหนึ่งที่ว่า มีข้อดี ก็มีข้อเสีย การเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับภาวะร่างกายของปัจเจกบุคคล สภาพของภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ต้องนำมาพิจารณาด้วย ในคนที่มีภาวะยินพร่อง มีความร้อนหรือไฟอ่อนๆ ในตัว หรือคนที่ร้อนแกว่ง ต้องระวัง อาจทำให้โรคกำเริบ หรือหนักขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น คนที่ยินของกระเพาะอาหารพร่อง ทำให้เกิดลมเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ได้เหมือนกัน การรักษาด้วย ขิงเป็นจุดหลักไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นกลับทำให้เป็นมากขึ้น ต้องใช้ยาสมุนไพรบำรุงยิน ยาขับลมที่มีฤทธิ์เย็นเป็นหลัก เป็นต้น

จึงไม่แปลกที่หลายๆ ท่านกินขิงแล้วอะไรๆ ก็ดีไปหมด แต่บางท่านกลับรู้สึกว่าไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ก็อย่าได้เข้าใจผิดว่าไม่มีอะไรดี แต่โดยภาพรวม ระบบการย่อยอาหารของคนเราชอบความอุ่นร้อน ต้องการย่อยอาหารที่ดี และระบบย่อยอาหารถือเป็นแหล่งกำเนิดพลังของร่างกายที่สำคัญมาก ขิงจะมีคุณค่าต่อการช่วยเกิดพลัง ภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการย่อย และกลไกต่างๆ ของร่างกาย ขิงจึงเป็นยาอายุวัฒนะที่ควรแก่การเรียนรู้และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ขิงอ่อน-ขิงแก่ กับตำรับยาจีนอย่างง่าย

ขิงอ่อน : สรรพคุณหลักคือ แก้คลื่นไส้ อาเจียน
๑. คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนมีน้ำลายมาก ไม่กระหายน้ำ
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงสด ๓ แว่น ป้านเซี่ย ๑๒ กรัม
๒. คลื่นไส้อาเจียน หรือเรอ สะอึก
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงสด ๓ แว่น เปลือกส้มจีน ๑๐ กรัม
๓. คลื่นไส้อาเจียน กลัวหนาว เบื่ออาหาร ระบบย่อยไม่ดี
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิง ๕ แว่น พุทธาจีน ๑๐ ลูก
๔. อาเจียนไม่หยุด เบื่ออาหาร คนแพ้ท้อง
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงสด ๕ แว่น น้ำผึ้ง ๕ ช้อนโต๊ะ โสมคน ๑๐ กรัม
(ขนาดของขิงแต่ละแว่นประมาณ ๒ เซนติเมตร หนา ๑ เซนติเมตร)


ขิงแก่ : สรรพคุณหลักคือ รักษาภาวะน้ำลายมาก แก้อาเจียน มือเท้าเย็น แก้ไอ แก้ปวดเอว (มีความเย็นมาก) แก้ท้องอืด
๑. น้ำลายมาก อาเจียนเป็นน้ำใส ไอ
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงแห้ง ๑๐ กรัม ชะเอม  ๓ กรัม ป้านเซี่ย ๑๒ กรัม
. มือ เท้าเย็น คลำชีพจรไม่ได้ ช็อก โรคหัวใจ
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงแห้ง ๑๐ กรัม ฟู่จื่อ ๕ กรัม
๓. ไอ หอบ เสมหะขาวเหลวปริมาณมาก มีฟอง
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงแห้ง  ๑๐ กรัม ซี่ซิง  ๖ กรัม หวู เว่ย จื่อ ๑๐ กรัม
๔. ท้องอืด ปวดท้อง เย็นท้อง กลัวหนาว ปัสสาวะไม่คล่อง
 ตำรับยาอย่างง่าย ขิงแห้ง ๑๐ กรัมไป่จุ๊ ๑๐ กรัม ฟู่หลิง ๑๒ กรัม ชะเอม ๓ กรัม