แพทย์แผนจีน กับภาวะความดันโลหิตสูง

แพทย์แผนจีนกับภาวะความดันโลหิตสูง

คนปกติ  ความดันโลหิตไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท

ความดันโลหิตค่าบน  คือ  แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว

ความดันโลหิตค่าล่าง  คือแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูงอย่างอ่อน ความดันค่าบน 140 – 159 ความดันค่าล่าง 90 – 99

 

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่า ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ น่าจะเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญ คือ อิทธิพลของเอนไซม์ ที่เรียกว่า เรนิน (Renin) และฮอร์โมนแองจิโอเท็นซิน (Angiotensin) จากไต ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะทำงานร่วมกับต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองในการควบคุมน้ำ เกลือแร่ โซเดียม และการบีบตัวของหลอดเลือดในร่างกาย

โดยกลไกของแรงต้านหลอดเลือดส่วนปลายเพิ่มขึ้นที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการตีบแคบลงของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและหลอดเลือดแดงจิ๋ว (arteriole)

ขณะเดียวกันในมุมมองแพทย์แผนจีน มองว่าภาวะความดันโลหิตสูงเป็นการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการติดขัดของการไหลเวียนเลือดส่วนปลายของสมอง ทำให้มีสัญญาณ (จากสมองระบบประสาทส่วนกลาง) ให้มีการผลักดันเลือดและนำเลือดสู่ส่วนบนมากขึ้น ซึ่งแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญต่ออวัยวะตับ ไต และม้าม ความเสื่อมพร่องของอวัยวะทั้งสามมีผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

ระบบม้ามเกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมอาหารที่รับประทานเข้าไป ถ้าอาหารตกค้างหรือม้ามพร่อง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จะเกิดความชื้นสะสม นานวันเข้าจะกลายเป็นเสมหะเกาะตัวตามส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน การผลักดันพลังและเลือดขึ้นชดเชยด้านบนมากเกินไป จะทำให้กลไกพลังที่ลงสู่ด้านล่างของปอดลดลง ซึ่งพลังปอดกำกับพลังลงล่างต้องได้รับสารอาหารที่ย่อยแล้วจากม้ามเป็นแหล่งให้พลัง  สรุปคือม้ามพร่องเป็นสาเหตุหนึ่งของพลังขึ้นบนขาดการควบคุม ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ รวมถึงทำให้เกิดไขมันในเลือดสูงและไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือดด้วย

 

ความดันโลหิตช่วงเช้ากับความดันโลหิตช่วงบ่าย

ปกติแล้วความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ตอนเช้าความดันซิสโตลิก (ความดันตัวบน) อาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100  มม.ปรอท เป็นต้น

แพทย์แผนจีนมองว่า การขับเคลื่อนพลังขึ้นด้านบนเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของตับและพลังพื้นฐานที่เรียกว่า หยวนชี่ของไต หลังเที่ยงคืน พลังจะค่อยๆ สะสมตัวและสูงขึ้นทำให้เกิดการตื่น ความดันในช่วงเช้าจึงเป็นช่วงขาขึ้น ประกอบกับการทำงานในช่วงเช้า ร่างกายต้องใช้พลังงานมาก เมื่อถึงตอนบ่ายร่างกายจำเป็นต้องมีการชดเชยเลือดไปสมองมากขึ้น โดยทั่วไปความดันช่วงเช้าจึงมักจะต่ำกว่าช่วงบ่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานและกลไกการปรับสมดุลยังทำงานดีอยู่ แต่ถ้าพบว่าความดันโลหิตช่วงบ่ายต่ำกว่าช่วงเช้า แสดงว่ากลไกการปรับให้เลือดไปสมองมีปัญหา มีความบกพร่องของการทำงานของอวัยวะภายในซึ่งต้องได้รับการปรับสมดุล

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *