กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นการแพทย์แผนโบราณของชาวฮั่นที่มีมากว่า 5,000 ปี

สำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า องค์ประกอบหลักของการแพทย์แผนจีนคือ การวินิจฉัยหรือการบอกโรค การรักษาด้วยการฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพร การนวดทุยหนา ชี่กง และอาหารที่เป็นยา

โดยหลักพื้นฐานของการแพทย์แผนจีนจะเกี่ยวข้องกับหยินหยาง การเดินลมปราณ ลักษณะของอวัยวะส่วนต่างๆ ตลอดจนโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

การแพทย์แผนปัจจุบันอธิบายว่าเกิดจากการเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้น รวมถึงอาจมาจากการยกของหนักผิดท่า ตลอดจนอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังบ่อยๆ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกตามไปด้วย ทำให้เกิดกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมาเพื่อต้านการทรุดตัว 

โดยปกติแล้วกระดูกงอกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทของร่างกายได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน และปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่องและเท้า

ทางร่วม…รักษาโรค 

ในการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ต้องดูการตรวจเอกซเรย์กระดูกว่ามีลักษณะ อย่างไร มีการกดทับของกระดูกมากน้อยแค่ไหน ถ้ากดทับไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง และเสี่ยงว่าผลที่ได้รับอาจไม่ดีอย่างที่คาดคิด 

สำหรับแพทย์แผนจีน สิ่งสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคือ การทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล สำหรับผู้ที่ถูกกดทับมาก และจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือเคยผ่านการผ่าตัดมาแล้ว สามารถใช้การแพทย์แผนจีนร่วมกับการรักษาแผนตะวันตกเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของร่างกายได้ด้วย

“อาการปวดของผู้ป่วย เกิดจากการไหลเวียนของเลือดและพลังลมปราณติดขัด ดังนั้นในการบรรเทาอาการปวด เราจะเน้นกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดและพลังเดินได้คล่อง ซึ่งสาเหตุการติดขัดต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อาจเกิดจากลม ความเย็น ความชื้น เลือดหรือพลังอุดกั้น และพิจารณาภาวะพร่องของร่างกายว่ามีจุดอ่อนที่ส่วนไหน เพื่อทำให้เกิดความสมดุล”

“วิธีการรักษามีทั้งการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณต่างๆ ควบคู่กันไปกับการใช้สมุนไพร โดยการฝังเข็มจะช่วยคลายเส้นหรือกล้ามเนื้อมัดลึกมัดตื้นและช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้”

วิธีป้องกันจากโรคนี้  สิ่งสำคัญคือต้องปรับท่าทางในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ  ให้เหมาะสม ไม่ฝ่าฝืนทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลานาน ถ้าเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ควรหยุดพักการทำกิจกรรมนั้นๆ ควรออกกำลังกายและบริหารร่างกายโดยการยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือมีการนวดอย่างรุนแรงและผิดวิธีจากผู้ที่ไม่ผ่านการอบรมการทำกายภาพบำบัดอีกด้วย