ความสำคัญของหัวใจ ในทัศนะแพทย์แผนจีน

หัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะตัน มีเยื่อหุ้มหัวใจปกคลุมห่อหุ้มอยู่ภายนอก หัวใจเปรียบเสมือน จ้าวแห่งชีวิต (生命之主宰) เป็นแกนหลักของอวัยวะภายในทั้งหมด(五脏六腑之大主)

1. อวัยวะหัวใจ สัมพันธ์กับจิตใจ ความนึกคิด การรับรู้และการตอบสนอง จึงสามารถมองการทำงานของหัวใจจากแววตา สีหน้า ราษี ความมีชีวิตชีวา การรับรู้ตอบสนองต่อสื่งกระตุ้น อวัยวะรับความรู้สึก หู ตา จมูก ลิ้น

– หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อ(血肉之心) ความหมายใกล้เคียงกับอวัยวะหัวใจทางกายวิภาค อยู่ในช่องอกระหว่างปอดและตับ แนวระดับกระดูกสันหลังที่ 5

– หัวใจที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจ (神明之心) ทำหน้าที่ในการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก ความรู้สึกตัว การรับรู้ การคิด อารมณ์ ฯลฯ

2. หัวใจกำกับหลอดเลือดชีพจร (心主血脉)

การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ของหัวใจอาศัย 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ

  1. พลังหยางของหัวใจที่สมบูรณ์เต็มเปี่ยม เป็นตัวกำหนด แรงบีบตัว อัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ
  2. เลือดที่เพียงพอและคุณภาพเลือดที่ดี กำหนดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในเส้นเลือด
  3. ทางเดินเลือดไม่ติดขัด กำหนดการไหลเวียนที่คล่องตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

3. หัวใจกำกับหลอดเลือดชีพจร ความอุดมสมบูรณ์แสดงออกบนใบหน้า เปิดทวารที่ลิ้น   “心主血脉,其华在面,开窍于舌”

เนื่องจากศีรษะเป็นที่รวมของพลังหยาง จึงเป็นตำแหน่งที่เส้นลมปราณมีการไหลเวียนเลือดไปมากที่สุด ใบหน้า ลิ้น จึงเป็นพื้นที่ในการสังเกตสมรรถภาพการทำงานของหัวใจได้ชัดเจน 

4. หัวใจเปิดทวารที่ลิ้น (心开窍于舌) และลิ้นเป็นหน่ออ่อนของหัวใจ(舌为心之苗)

– ถ้าเลือดจากหัวใจไม่พอ สีลิ้นจะซีด

– ถ้าการไหลเวียนเลือดติดขัด เลือดคั่ง สีลิ้นจะม่วงคล้ำ

– ถ้าไฟหัวใจร้อนขึ้นบนลิ้นจะแดงมีแผลในปาก ถ้าเสมหะปิดกั้นหัวใจจะทำให้หมดสติ ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด

นอกจากนี้ หัวใจยังมีความสัมพันธ์กับลำไส้เล็กและเยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย

หัวใจสัมพันธ์กับลำไส้เล็ก

เส้นลมปราณหัวใจเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณลำไส้เล็ก เส้นลมปราณลำไส้เล็กเป็นด่านด้านนอกที่จะเข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจที่เป็นส่วนที่อยู่ด้านใน การติดขัดของเส้นลมปราณลำไส้เล็กมีผลต่อการไหลเวียนไปยังหัวใจ  ในทางกลับกันความร้อนไฟหัวใจจะถูกขับระบายไปที่ลำไส้เล็ก ทำให้ปัสสาวะปวดแสบ ปริมาณน้อยสีเข้ม(小肠经为表,心经为里)

การที่เลือดเลี้ยงหัวใจไม่พอ เป็นเหตุผลของปัญหาหนึ่งของเส้นลมปราณลำไส้เล็กที่ยากแก่การเยียวยา ในอีกด้านหนึ่งความผิดปกติของการไหลเวียนเส้นเส้นลมปราณลำไส้เล็กบริเวณสะบัก หัวไหล่ด้านซ้ายเป็นสัญญาณบอกว่าอาจมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตามมาในอนาคต

หัวใจสัมพันธ์เยื่อหุ้มหัวใจ

หัวใจเปรียบเสมือนกษัตริย์ มีคำกล่าวทีว่า กษัตริย์ไม่ต้องรับสิ่งก่อโรค (君主不受邪)เยื่อหุ้มหัวใจเป็นเสมือนผู้ปกป้องที่อยู่รอบนอกคอยป้องกันและเผชิญกับสิ่งก่อโรคที่จะมากระทบหัวใจ เปรียบได้กับว่าเมื่อมีปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกษัตริย์หรือต้องการสื่อสารถึงกษัตริย์ ต้องผ่านผู้รับผิดชอบคือขุนนางในสมัยโบราณ การกระตุ้นเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจจะสามารถลดการติดขัดของภาวะติดขัดอุดกั้นของเลือดและพลังที่กระทบไปยังหัวใจได้