ต่อมลูกหมากโต ในทัศนะแพทย์แผนจีน

ต่อมลูกหมากโต เนื่องจากตัวต่อมมีขนาดอ้วนโตขึ้น โดยไม่ใช่เนื้อร้าย มีบันทึก ไว้ในตำราแพทย์จีนโบราณ โดยเรียกอาการนี้ว่า “ปัสสาวะ ติดขัดไม่คล่อง ปัสสาวะเป็นหยดๆ และขาดช่วงเป็นระยะ”

พยาธิสภาพของโรคไม่แจ่มชัดทั้งหมด แต่สามารถอธิบายในแง่ของการทำงานของอวัยวะภายในทั้ง 5 ได้ดังนี้ แพทย์แผนจีนถือว่า การที่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้คล่องต้อง อาศัยพลังจากซานเจียว (ช่องไฟธาตุทั้ง 3 ที่อยู่บริเวณกลางลำตัว ส่วนบน คือช่องอก เป็นส่วนเหนือกะบังลม ส่วนกลางคือ ช่องท้องส่วนที่เหนือสะดือ และส่วนล่างคือ ส่วนช่องท้องที่อยู่ใต้สะดือ) มาขับเคลื่อน                                                                           

พลังซานเจียวต้องอาศัยพลังจากอวัยวะภายใน 3 ส่วน ที่สำคัญคือ ปอด, ม้าม, ไต มาสนับสนุน กล่าวคือ 
-ปอด มีหน้าที่กระจายน้ำ ส่วนบนลงไปสู่กระเพาะปัสสาวะ
-ม้าม มีหน้าที่ดูดซึม และ ส่งสารอาหารของเหลวที่ดีไปปอด ขับส่วนที่เสียสู่ส่วนล่างไปลำไส้เล็ก, ไต และกระเพาะปัสสาวะ 
-ไต เป็นตัวกำหนดน้ำ ไตช่วยให้ม้ามลำเลียงของเหลวในร่างกายได้ดีไม่ติดขัด ช่วยในการสร้างปัสสาวะและการขับถ่ายปัสสาวะก็ต้องอาศัยพลังของไต นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการอุดกั้นของตับทำให้พลังของซานเจียวในการที่ผลักดันการขับถ่ายของน้ำจากม้าม-ปอด-ไตขัดข้อง

การวินิจฉัยแยกโรค

ผู้ป่วยที่มีอาการของต่อมลูกหมากโต จึงสามารถแยกโรคตามสาเหตุที่ต่างกันดังนี้
1. พลังไตหยางพร่อง ปัสสาวะไม่คล่อง ติดขัด ไม่มีแรงเบ่ง สีหน้าขาวซีด ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา เอว, หัวเข่า รู้สึกเย็น และปวดเมื่อย ไม่มีแรง, ปลายมือปลายเท้าเย็น, ไม่อุ่น ลิ้นสีซีด, ฝ้าขาว ชีพจรอ่อนไม่มีแรงคลำได้ในระดับ ลึก รักษาด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ “บำรุงและอุ่นพลังหยาง, ขับเคลื่อนพลังและขับปัสสาวะ”

2. ไตยินพร่อง อยากจะปัสสาวะแต่ก็ปัสสาวะไม่ออก, คอแห้ง หงุดหงิด ฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน, อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ตัวลิ้นสีแดงเห็นเป็นวาว ชีพจรเบา เร็ว รักษาด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ “บำรุงธาตุน้ำ รักษาไตพร่อง”

3. พลังกระเพาะม้ามพร่อง อาการจุกแน่นบริเวณท้องน้อย, เบื่ออาหาร, หายใจไม่ลึก พูดเสียง เบา (ขาดพลัง) บางครั้งพบมีการหน่วงของปากทวารหนัก (เนื่องจาก ขาดพลังพยุงรั้ง-ทำให้เหมือนจะ ทะลักออกมา) ตัวลิ้นซีด, ฝ้าขาว บาง ชีพจรอ่อนแอและเบา รักษาด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ “บำรุงกระเพาะม้าม เพิ่มพลัง ช่วยการกระจายของเหลว”

4. การอุดกั้นของก้อน การที่มีการคั่งค้างของเลือดหรือมีการอุดกั้นของการไหลเวียนเลือดและพลังบริเวณต่อมลูกหมาก จากสาเหตุใดก็ตามจะทำให้เกิดการ ขับปัสสาวะติดขัด หรือลำปัสสาวะขนาดเล็กปวดแน่นท้องน้อย ตรวจลิ้นจะพบมีจุดจ้ำเลือด หรือตัวลิ้นมี สีม่วง ชีพจรฝืด รักษาด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ “ขับสลายการอุดกั้นของก้อน ขับปัสสาวะ”

5. ความร้อนชื้นสู่ด้านล่าง (ติด เชื้อ, ตรงกับการอักเสบติดเชื้อ) จะมีอาการปัสสาวะน้อย สีเหลือง ปัสสาวะร้อน ปวดขัด มีไข้, ปวดท้องน้อย, คอแห้ง ฝ้าบนลิ้นมี สีเหลืองมัน ตัวลิ้นแดง ชีพจรเร็ว รักษาด้วยสมุนไพรประเภทที่มีฤทธิ์ “ขับร้อน ขับชื้น”

6. พลังตับอุดกั้น อารมณ์ทั้ง ๗ โดยเฉพาะการ มีอารมณ์หงุดหงิด, โมโหง่าย จะมีผลโดยตรงต่อตับ ถ้าพลังตับอุดกั้นจะทำให้พลังซานเจียวติดขัด การขับน้ำปัสสาวะก็เกิดปัญหา อาการที่พบ คือมีอารมณ์แปรปรวน, เจ้าอารมณ์ โกรธง่าย ปวดชายโครง ลิ้นมีฝ้าเหลืองบาง ตัวลิ้นแดง ชีพจรฝืด รักษาด้วยสมุนไพรประเภท ที่มีฤทธิ์ “ใช้ยาระบายการอุดกั้นของตับ”

สำหรับการฝังเข็มนั้น สามารถใช้การฝังเข็มมาประยุกต์เสริมการรักษาตามสาเหตุของโรค การฝังเข็มสามารถเลือกจุดที่เพิ่มพลัง หยางของไต, เพิ่มธาตุน้ำ(ยินพร่อง), เพิ่มพลังกระเพาะม้าม, ช่วยสลายการอุดกั้น, เพิ่มพลังของซานเจียว, ช่วยขับความชื้น ความร้อน, ช่วยลดการอุดกั้นของพลังตับ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันในประเทศจีนมักใช้วิธีการบูรณาการการแพทย์ ๒ แผนเข้าด้วยกัน การ รักษาแบบแผนจีนมักมุ่งเน้นที่ความเสียสมดุลให้ร่างกายปรับสภาพ ซึ่งสามารถให้ผลในระดับที่แน่นอน แต่บางครั้งการเปลี่ยนแปลงหรือภาวะสมดุลไม่อาจปรับให้สู่ภาวะเหมือนเดิมได้หมด จำเป็นต้องอาศัยวิธีการสมัยใหม่เข้าช่วยเหลือ อาจเป็นเครื่องมือต่างๆ หรือการผ่าตัด

ข้อเด่นของการบูรณาการการแพทย์ทั้งตะวันออกและตะวันตกอยู่ ที่ การรักษาแบบตะวันตกแก้ปัญหาต่ออวัยวะที่เป็นโรคได้ตรงจุดและรวดเร็วแต่เฉพาะที่ แต่แพทย์แผนจีนแก้องค์รวมแล้วไปมีผลเฉพาะที่

บางครั้งก็ให้ยาเฉพาะที่ร่วมด้วย จึงมีผลในการรักษาร่างกายโดยองค์รวมควบคู่ไปด้วย เพราะอาการของโรคที่แสดงออกที่จุดใดๆ มักมีปัญหาการเสียสมดุลในองค์รวม ร่วมอยู่ด้วยเสมอ