เหงื่อผิดปกติ บ่งบอกอะไรบ้าง

คุณแม่พาลูกสาวมาพบแพทย์จีนด้วยปัญหาลูกสาวเป็นรังแคและคันศีรษะบ่อยๆ ใช้ยาสระผมมาหลายยี่ห้อก็ไม่ค่อยดีขึ้น หลังจากตรวจร่างกายและจับชีพจร รวมทั้งถามประวัติอาการละเอียดแล้ว พบว่าเด็กมีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเวลานอนกลางคืนบริเวณศีรษะ จึงให้การรักษาด้วยยาบำรุงไตยิน แนะนำการทำความสะอาดเส้นผม การกินอาหาร หลังจากนั้นไม่นานเหงื่อบริเวณศีรษะก็ออกน้อยลง ลูกสาวของเธอก็ไม่เป็นรังแคอีกเลย

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับเหงื่อและการเกิดโรค เช่น
“ทำไมเวลาออกกำลังกายเหงื่อไม่ออกเลย”
“ทำไมเหงื่อของผมออกง่ายจังเลย ทำอะไรเล็กน้อยก็เหงื่อออกท่วมตัว”
“ทำไมเวลานอนกลางคืน ทั้งๆที่นอนห้องแอร์เหงื่อก็ยังออกมาก แต่กลางวันไม่ยักจะออก”
“เวลาเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจะมีไข้สูง จะต้องออกไปขุดดินทำให้เหงื่อออก อาการไข้จะหายไปเองโดยไม่ต้องกินยา”
พูดถึงเรื่อง “เหงื่อ” เป็นหัวข้อหนึ่งที่แพทย์จีนต้องถามถึง วิธีการตรวจแบบแผนจีน “มอง, ดม-สูด , ถาม , สัมผัส” การถามเรื่องของเหงื่อจะบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายในได้ ข้อมูลเรื่องเหงื่อจึงมีความสำคัญที่นำไปสู่การรักษาโรคที่เป็นปัญหาหลัก และจะพบว่าโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันก็อาจหายไปพร้อมกับเรื่องของเหงื่อออกผิดปกติได้

ความผิดปกติของอาการเหงื่อออกแบ่งเป็น
1. ปริมาณของเหงื่อที่ออกผิดปกติ
– ออกน้อยไป , ไม่ค่อยมีเหงื่อออก
-ออกมากไป
2. ช่วงเวลาที่เหงื่อออก
-ออกตอนกลางคืน
-เหงื่อออกเองโดยเฉพาะกลางวัน
3. ตำแหน่งที่เหงื่อออก
-ส่วนศีรษะ
-ส่วนล่าง , ส่วนบน , ด้านซ้าย , ด้านขวา
-ส่วนฝ่ามือ , ฝ่าเท้า

สาเหตุใหญ่ๆของอาการเหงื่อออกผิดปกติ แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท

1. สาเหตุจากภายนอกมากระทำ : โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อน , เย็น , ลม , แห้ง , ชื้น
(1.1) ถ้าเหงื่อไม่ออก ผู้ป่วยมีอาการกลัวความหนาวเย็น , ไข้ต่ำๆ , ปวดศีรษะ , ชีพจรตึงลอย แสดงว่าถูกความเย็นมากระทบ พบได้ในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลง มีฝนตก หรือร่างกายกระทบความเย็นโดยปรับตัวไม่ทัน เมื่อความเย็นจากภายนอกรุกรานสู่ร่างกาย การรักษาโรคโดยการขับเหงื่อ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย , ขุดดิน หรืออบไอน้ำ กินยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของขิง เมื่อเหงื่อออกอาการของโรคจะดีขึ้น
(1.2) ถ้าเหงื่อออก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง , ไม่ถูกกับลม , กระหายน้ำ , คอแห้ง , ลักษณะชีพจรลอย-เร็ว เกิดจากความร้อนหรือลมเป็นปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ทำให้รูขุมขนเปิดมาก เหงื่อออกมาก ต้องใช้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็นเพื่อขับความร้อนออกจากร่างกาย

2. สาเหตุจากภายในร่างกาย
(2.1) เหงื่อออกง่าย ผู้ป่วยมักมีเหงื่อออกในช่วงกลางวัน เวลาทำงานจะออกมากขึ้น มักกลัวความเย็น, แขนขาไม่ค่อยมีแรง , อ่อนเพลีย มักมีสาเหตุจากพลังหยางพร่อง การรักษาต้องให้ยาบำรุงพลังไตหยาง ควรกินอาหารที่ให้ความร้อนและพลังแก่ร่างกาย เช่น ลำไย , ขนุน , ลิ้นจี่ , เนื้อวัว , เนื้อไก่ (ที่เมืองจีนบางครั้งใช้สมุนไพรบางตัวปรุงกับเนื้อสุนัข)
(2.2) เหงื่อออกกลางคืน ผู้ป่วยมักจะมีเหงื่อออกขณะนอนหลับ เมื่อตื่นนอนเหงื่อจะหยุดไหล บางรายมีไข้เป็นพักๆร่วมกับโหนกแก้มแดง มีสาเหตุจากไตยินพร่อง ผู้ป่วยมักมีอาการคอแห้ง , รู้สึกร้อนภายในร่างกาย, หงุดหงิดง่าย , บางรายท้องผูก , ปวดเมื่อยเอว , ข้อเข่าไม่มีแรง ฯลฯ
(2.3) เหงื่อออกมากผิดปกติ มีปริมาณเหงื่อออกมาก ต้องแบ่งแยกว่าเป็นเพราะแกร่งหรือพร่อง ภาวะแกร่งคือเกิดจากปัจจัยภายนอกมากระทำ เช่น มีอาการไข้ตัวร้อนร่วมกับเหงื่อออก , กระหายน้ำ , คอแห้ง , หน้าแดง ถ้าภาวะพร่องเกิดจากภาวะอ่อนแอของร่างกาย ร่างกายมีการเสียทั้งพลังหยางและสารยินอยู่สูง เป็นเหงื่อเย็น เช่น ภาวะช็อก , มีแขนขาเย็น , ชีพจรคลำได้อ่อน , เบา , เร็ว , หน้าตาขาวซีด การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรค
(2.4) เหงื่อออกที่เกิดหลังจากอาการหนาวสั่น ผู้ป่วยมักมีอาการไข้มาก่อน แล้วมีอาการหนาวสั่น ขณะมีอาการจะปวดรุนแรงคล้ายกับกำลังต่อสู้รุนแรงกับโรค หลังจากนั้นเหงื่อจะออก โดยทั่วไปเกิดจากการได้รับปัจจัยจากความเย็นที่เข้าสู่ภายในร่างกายในระดับเลือด ตัวอย่างได้แก่ โรคติดเชื้อรุนแรง , มาลาเรีย

สรุป
เหงื่อเป็นของเหลวที่มาจากหัวใจ เหงื่อกลั่นจากน้ำในร่างกายโดยพลังหยาง และขับออกตามผิวหนังทั่วร่างกาย ข้อมูลที่ควรจะรู้ถึงภาวะเหงื่อออกนั้นคือ เวลา , ตำแหน่ง , ปริมาณของความผิดปกติ รวมทั้งต้องแยกแยะความผิดปกตินั้นเป็นผลจากปัจจัยภายนอก (สิ่งแวดล้อม) หรือเป็นผลของความบกพร่องภายในร่างกายเป็นหลัก

อาการเหงื่อออกที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ความร้อน , ลม , ความชื้น , ความเย็น , ไฟแห้ง สิ่งก่อโรคมักรุกรานจากภายนอกมากระทบผิวหนังหรือร่างกายระดับตื้น
ปัจจัยภายนอก เช่น ความเย็น , ความชื้น เมื่อมากระทบจะทำให้เกิดการปิดของรูขุมขน และการหดตัวของกล้ามเนื้อรูขุมขน มักทำให้ไม่มีเหงื่อออก
ปัจจัยภายนอก เช่น ความร้อน , ลม หรือลมร้อน ลมมีแนวโน้มจะทำลายระบบกลไกป้องกันของผิวหนัง ความร้อนทำให้เกิดการกระจายตัว ทั้ง 2 ปัจจัยทำให้รูขุมขนเปิด มีเหงื่อออกมากผิดปกติเพื่อขับความร้อน

ปัจจัยภายในที่เกิดจากพลังหยางในร่างกายพร่อง ทำให้ไม่มีพลังในการพยุงให้ของเหลวและเหงื่อคงอยู่ในร่างกาย ผลก็คือเหงื่อออกมาก ในทางกลับกัน ถ้ายินในร่างกายพร่อง ทำให้หยางแกร่ง (โดยสัมพัทธ์) หยางจะกลับสู่ภายในร่างกาย ขณะที่นอนหลับ พลังหยางที่ปกป้องผิวลดลง ทำให้เหงื่อออกขณะนอนหลับ
จะเห็นว่าการมีเหงื่อออกผิดปกติ เป็นปรากฏการณ์ซึ่งบ่งบอกความไม่สมดุลของอวัยวะภายในร่างกาย มักมีอาการอื่นร่วมด้วยเสมอ บางครั้งในการตรวจเช็กร่างกายตามแพทย์สมัยใหม่อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรค หรือบางครั้งก็ไม่อาจจะระบุว่าเป็นโรคอะไรแน่ชัด การเข้าใจวิธีคิดและแนวการวินิจฉัยแบบแพทน์แผนจีน จึงมีประโยชน์ทั้งในแง่การรักษาและป้องกันการเสียสมดุลที่จะพัฒนาเป็นโรคต่อไป