รับมือกับภาวะ “ท้องผูกเรื้อรัง”

ภาวะท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน มีหลายสาเหตุ การใช้ยาระบายหรือยาถ่าย ต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่ท้องผูกจากภาวะการอักเสบในช่องท้อง หรือกระเพาะ หรือลำไส้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ไทฟอยด์ ลำไส้อักเสบ รวมทั้งกรณีที่มีการอุดตันของลำไส้ ลำไส้ทะลุ หรือมีเลือดออก หรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียน ซึ่งต้องหาสาเหตุที่แน่นอน การใช้ยาในผู้สูงอายุหรือคนที่มีร่างกายอ่อนแอต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ภาวะท้องผูกที่จะกล่าวต่อไป เป็นภาวะท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ได้มีโรคเฉียบพลันเป็นต้นเหตุโดยตรง ในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน จะใช้ยาที่มีฤทธิ์หลักๆ ๓ อย่างด้วยกัน คือ

1. ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

2. ยาเพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้

3. ยาที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้

แต่ในทัศนะแพทย์จีนมักจะวิเคราะห์แยกโรคดังภาวะสมดุลของร่างกายเป็นหลัก และให้การรักษาอาการท้องผูก ร่วมกับสร้างสมดุลภายในของร่างกาย โดยสาเหตุใหญ่ๆ แบ่งได้ 2 ลักษณะ ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ลักษณะแกร่ง ได้แก่ แบบร้อน และแบบพลังอุดกั้น

2. ลักษณะพร่อง ได้แก่ แบบเย็น (หยางพร่อง)  แบบพลังพร่อง และแบบเลือดพร่อง

ท้องผูกเป็นภาวะการทำงานผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ทำให้การถ่ายอุจจาระไม่คล่อง โดยทั่วไป 3-5 วัน บางครั้ง 7-8 วัน ถึงจะถ่ายอุจจาระสักครั้ง (บางรายนานถึงครึ่งเดือน) ก้อนอุจจาระมักมีลักษณะแห้งและแข็ง หรือบางครั้งอาจจะไม่แข็ง แต่ก็ถ่ายลำบาก ถ้าการถ่ายอุจจาระ 2-3 วันต่อครั้ง อุจจาระอาจแข็งแต่การถ่ายไม่ลำบาก ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ

การทำงานของลำไส้ใหญ่ในความหมายของแพทย์แผนจีน และแผนปัจจุบัน
แพทย์แผนจีน เนื่องจากท้อง-ผูกเกี่ยวพันกับการทำงานโดยตรงของลำไส้ใหญ่ แต่ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบการย่อยและดูดซึมอาหารของม้าม และหน้าที่ใน การกระจายและลำเลียงสารอาหารสู่ด้านล่างของปอด การให้ความอบอุ่นหรือพลังไฟของไต ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ปอด ม้าม ไต จึงมีผลกระทบให้เกิดภาวะท้องผูกได้

แพทย์แผนปัจจุบัน เมื่ออาหารที่กินเข้าสู่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กก็จะย่อยและดูดซึมอาหารส่วนที่ดีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนที่เสียหรือเป็นกากจะถูกส่งไปที่ลำไส้ใหญ่ก่อตัวเป็นอุจจาระ กระบวนการก่อตัวเป็นอุจจาระจะใช้เวลา ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ถ้ามีเหตุปัจจัยที่มาทำให้กระบวนการทำงานของกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้เล็กผิดปกติ ทำให้อุจจาระตกค้างนานเกินไป จะทำให้มีการดูดซึมน้ำกลับจากลำไส้ใหญ่ ก็จะทำให้อุจจาระเป็นก้อนแข็งแห้งจนเกิดภาวะท้องผูก

สาเหตุที่พบบ่อยๆ คือ จากภาวะความเคยชิน นิสัยการถ่าย การทำงานของประสาทที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่ผิดปกติ การอักเสบของลำไส้ ขณะฟื้นตัวจากการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนแอ การขาดกำลังเบ่ง การกินยารักษาโรคหรืออาหารบางชนิด

การป้องกันและข้อควรระวังในผู้ป่วยท้องผูก

  •  ควรกินผัก, ผลไม้, อาหารมีกาก กินน้ำให้มากพอ, ไม่กินของเผ็ดจัด, ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่
     
  •  หลีกเลี่ยงการนั่งนาน, ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หมั่นออกกำลังกาย หรือเดินเพื่อให้มีการเคลื่อนไหว
     
  •  ฝึกการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ทางที่ดีควรเป็นตอนเช้า
     
  • ควบคุมอารมณ์ให้สงบ, ไม่หงุดหงิด หรืออารมณ์แปรปรวน
     
  • ไม่ควรใช้ยาระบายต่อเนื่องนานๆ เพราะจะทำให้เสียสารน้ำและพลังของร่างกายโดยไม่จำเป็น ในทางกลับกันจะทำให้ท้องผูกมากขึ้น อุจจาระแข็งมากขึ้น จะสูญเสียพลังของร่างกายมากขึ้น
     
  •  คนที่มีโรคเจ็บป่วยหรือไข้มาก่อน ท้องผูกอาจเกิดจากการกินอาหารได้น้อย จึงถ่ายน้อย ไม่ควรรีบร้อนให้ยาถ่ายหรือยาระบาย ควรเน้นเสริมบำรุงร่างกายให้กินอาหารได้มากขึ้น จะทำให้ถ่ายได้ตามปกติ
     
  •  คนสูงอายุ คนที่มีร่างกายอ่อนแอ, คนที่เลือดพร่อง, พลังพร่อง ต้องให้การบำรุงเสริมร่างกายเป็นหลัก ร่วมกับการใช้ยาระบายเสริมและต้องระวังให้ใช้ส้วมแบบนั่งได้ เพราะผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีแรงเบ่ง จะทำให้เป็นลมหรือมีอุบัติเหตุในห้องน้ำได้

สรุป : ภาวะท้องผูกต้องพิจารณาสาเหตุที่เป็นต้นเหตุ ไม่ว่าในแผนปัจจุบันหรือแผนจีนก็ตาม ในรายที่เป็นเรื้อรังไม่ควรใช้ยาถ่ายหรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ ในทางแพทย์จีนถือว่าจะทำให้เสียน้ำ เสียพลังมากขึ้น ทำให้พื้นฐานของการเสียสมดุลมากขึ้นอีก การรักษาจึงต้องรักษาองค์รวมของร่างกายเป็นหลัก ร่วมกับใช้ยาระบายเป็นตัวเสริม เมื่อร่างกายองค์รวมดีแล้วเท่านั้น อาการท้องผูกจึงจะหายได้ โดยร่างกายไม่เสียหายมากขึ้น จึงจะเป็นการรักษาภาวะสมดุลที่แท้จริง