นาฬิกาชีวิต กับวิถีแห่งธรรมชาติ

แนวคิดใหม่เกี่ยวกับนาฬิกาชีวิต เชื่อว่าภายในร่างกายมนุษย์ถูกควบคุมโดยตารางเวลาที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ทำให้การเคลื่อนไหวระบบการทำงาน สรีระของร่างกายก็มีจังหวะกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างคงที่ เช่น ความดันเลือด อุณหภูมิ การเต้นของหัวใจ การหายใจ ช่วงสูงสุดต่ำสุดของการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น เรียกว่า “กฏเกณฑ์แห่งชีวิต”

การดูแลสุขภาพกับนาฬิกาชีวิตเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ถ้าปราศจากลักษณะมีกฎเกณฑ์ ก็ปราศจากการมีชีวิต หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าดำเนินชีวิตโดยไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามนาฬิกาชีวิต ก็เป็นการทำลายสุขภาพ (ชีวิต) การเคารพวิถีแห่งการดำเนินไปของธรรมชาติ เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพ ซึ่งตรงกับแนวคิดของเล่าจื๊อ”เป็นธรรมชาติแห่งวิถีเต๋า” นั่นเอง

มีการศึกษาวิจัยพบว่านาฬิกาชีวิตของร่างกายมนุษย์มีมากกว่า 100 อย่างหรือฎเกณฑ์ตารางการทำงานของระบบต่างๆ สามารถกำหนดได้เป็นช่วงเวลา สั้นบ้าง ยาวบ้าง เป็นหลายแบบ เช่น
– กฎเกณฑ์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เป็นรอบวัน เรียกว่า นาฬิกาประจำวัน
– กฎเกณฑ์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบเดือน เรียกว่า นาฬิกาประจำเดือน
นอกจากนี้ยังพบว่ามี นาฬิกาประจำปีและนาฬิกาของอายุขัยซึ่งเป็นนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุด ที่กำหนดวัฏจักรแห่งการเกิด-เติบโต-สูงสุด-แก่-ตาย ซึ่งในทางธรรมชาติแล้ว ถ้ามนุษย์ ปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์แห่งนาฬิกาชีวิต จะสามารถมีอายุขัยถึง 120 ปี

เคล็ดลับการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวตามกฎเกณฑ์ ของนาฬิกาชีวิต คืออะไร

ข้อกำหนดระดับสากลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพล่าสุดกล่าวไว้ 2เงื่อนไข

1. การวางแผนการดำเนินชีวิต
ต้องมีความรู้ มีจุดมุ่งหมายในการกำหนดการเคลื่อนไหวในกิจกรรมของชีวิต โดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

2. การวางโครงการอย่างมีระบบ
เนื่องจากพื้นฐานความเสื่อมชราที่รวดเร็ว เป็นผลจากกระบวนการที่ร่างกายได้รับผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะจากปัจจัยที่เป็นโทษอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงไม่ใช่การกำหนด 1 หรือ 2 มาตรการ แล้วจะเห็นผล แต่ต้องมีโครงการที่มีระบบ ต้องจัดวางด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างมีกฎเกณฑ์ตามนาฬิกาชีวิต
 
รูปธรรมในการวางแผนอย่างเป็นระบบตามกฎเกณฑ์ของนาฬิกาชีวิต คืออะไร

สรุปได้เป็น 3 มาตรการใหญ่ คือ
1. ปรับให้สอดคล้อง
พยายามยึดกฎเกณฑ์นาฬิกาชีวิตให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการละเมิดกฎเกณฑ์
ในเมื่อการเคลื่อนไหวของชีวิตถูกกำหนดควบคุมอย่างมีกฎเกณฑ์ การเคลื่อนไหวทั้งมวลของชีวิต ควรมีจังหวะที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ ตัวอย่าง
เช่น ยามเช้า ขณะที่ยังไม่ตื่นนอน หรือกำลังหลับอยู่ ร่างกายได้ถูกเตรียมความพร้อม ทำให้ความดันเลือด การเต้นของหัวใจ การหายใจ เริ่มได้รับการกระตุ้นจากระบบประสาทซิมพาเทติก ทำให้เพิ่มการทำงานมากขึ้น ปลุกให้คนที่หลับอยู่ตื่นนอนขึ้นมา เพื่อรับกับสภาพการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวช่วงกลางวัน
ช่วงกลางคืน สภาพตรงกันข้าม ร่างกายเริ่มอ่อนล้า การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติเกี่ยวกับการกระตุ้นลดถอยลง การเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันเลือด ก็ค่อยๆ น้อยลง ร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย อยากนอนหลับพักผ่อน
การรู้จักยึดกุมเวลาตื่นนอน และเวลาหลับนอน เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติ ถ้าใช้เวลากลางคืนทำงาน กลางวันนอนหลับ ก็คือการดำเนินชีวิตไม่เป็นจังหวะสอดคล้องกับนาฬิกาชีวิต จะเป็นการทำลายร่างกาย ทำให้เสื่อมชราเร็ว

การศึกษาวิจัยพบว่า ถ้าละเมิดกฎเกณฑ์ธรรมชาติ 1 ครั้ง ต้องอาศัยเวลาในการฟื้นฟูนาน 5-6 วัน
คนวัยทำงาน โดยปกติจะตื่นนอนตอนเช้า เมื่อถึงปลายสัปดาห์หรือวันหยุด จะเลี้ยงฉลองกันดึก นอนดึก เที่ยวกลางคืนจนดึกดื่น กว่าจะหลับนอนก็เลยเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 หรือไม่ก็เกือบจะหัวรุ่ง ทำให้ต้องตื่นนอนสายเกือบเที่ยง ไม่ได้รับอาหารเช้า พฤติกรรมนอนดึก ตื่นสาย ทำลายกฎเกณฑ์ธรรมชาติ 2 ครั้ง ต้องฟื้นฟู 5-6 วัน ก็พอดีครบรอบ 1 สัปดาห์ พอถึงศุกร์-เสาร์ พฤติกรรมการทำลายเริ่มกลับเข้าวงจรใหม่อีกครั้ง
การฟื้นฟูยังไม่ทันเข้าที่ การทำลายรอบใหม่ตามมาอีก นี่คือการสึกกร่อนอย่างต่อเนื่อง ความเสื่อมชราเริ่มมากขึ้น อายุขัยเริ่มสั้นลง ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การดูแลสุขภาพบางท่านกล่าวไว้น่าฟังว่า

” การทำงานและวิถีชีวิตที่ไม่ดี บางครั้งเป็นสิ่ง ที่คนวัยหนุ่มสาว ยอมเสียสละสุขภาพที่ดีไปแลกเอามาเพื่อให้ได้ทรัพย์สิน แต่พออายุมากแก่ชราจะเอาทรัพย์สินไปซื้อสุขภาพที่ดีคืนมา ซึ่งไม่คุ้มค่า เพราะทรัพย์สินไม่สามารถซื้อความเสื่อมกลับมาได้อีกแล้ว 
หนทางเดียวที่จะถนอมและทำให้สุขภาพดีคือการเริ่มต้นปฏิบัติตัวตั้งแต่บัดนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายแข็งแรงอยู่

2. ดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย จิตใจให้พอเหมาะ มีสมดุล
การศึกษาวิจัยพบว่า พื้นฐานการเกิดโรคมาจากกฎเกณฑ์ที่สับสน ไม่สมดุล มากไป หรือน้อยไป เพื่อให้ “สุขภาพดีเหมือนที่มีไฟประจุอยู่เต็มเสมอ “การนอนหลับ พักผ่อน ใช้แรงงาน เพศสัมพันธ์ การฝึกฝนร่างกาย การกิน ต้องไม่โน้มเอียงหรือหนักไปน้อยไป ข้างใดข้างหนึ่ง
โดยเฉพาะสุขภาพจิต เวลาโกรธโมโห จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว การไหลเวียนเลือดเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น ศีรษะหนักหรือปวดมากขึ้น ระบบฮอร์โมนแปรปรวน เป็นต้น
นาฬิกาชีวิตในการกำหนดการทำงานของร่างกาย ต้องสม่ำเสมอ มีกฎเกณฑ์ ถ้าสภาพร่างกายจิตใจที่สับสน แปรปรวน อ่อนล้า จะมีผลสะท้อนกลับมารบกวน การกำหนดกฎเกณฑ์ของนาฬิกาชีวิตเช่นกัน

3. การซ่อมแซม ปรับภาวะสมดุลอย่างสม่ำเสมอ
ร่างกายคนแบ่งได้เป็น 3 ภาวะใหญ่ๆ
1.สภาพแข็งแรง ไม่มีโรค หมายถึง การทำงานของนาฬิกาชีวิตอยู่ในภาวะปกติ
2.สภาพไม่สบาย เป็นโรค หมายถึง การทำงานของนาฬิกาชีวิตเสียสมดุลรุนแรง
3.สภาพไม่เป็นโรคแต่ไม่แข็งแรงหมายถึงภาวะที่ร่างกายเสียสมดุล ปริมาณไม่มาก การทำงานของนาฬิกาชีวิตเริ่มผิดปกติ แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยภายนอกที่แจ่มชัด

ภาวะที่ 3 ทางสถิติพบในประชากรกว่าครึ่งหนึ่ง ภาวะที่ 3 อาจแปรปรวนจากภาวะที่ 1 หรือภาวะที่ 2 ภาวะที่ 3 เป็นภาวะที่ยังแก้ไขได้ง่าย เป็นภาวะที่ต้องให้ความสนใจและการปฏิบัติตัวอย่างเข้มงวด จะทำให้สร้างสมดุลกลับมาได้ เป็นทรรศนะในการป้องกัน คือ ” ดูแลรักษาเมื่อยังไม่เกิดโรค  “

หลักการ  3 ประการในการดูแลสุขภาพตามกฎเกณฑ์นาฬิกาชีวิต คือ สอดคล้อง พอเหมาะ ซ่อมแซมปรับสมุดลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเข้าใจตระหนัก ต้องมีการกำหนดที่จริงจังและดูแลอย่างมีระบบ จึงจะมีสุขภาพดีและควรเริ่มต้นตั้งแต่เยาว์วัย น่าเสียดายวิถีชีวิตของสังคมปัจจุบันมีส่วนทำลายระบบนาฬิกาชีวิตอย่างมาก ความเสื่อมชราและโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่ผิดปกติ จึงพบเห็นมากขึ้นทุกทีไม่ว่ามะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคความเสื่อมชรานี้เพราะการละเมิดกฎฟ้าดินนั่นเอง