พลังไตย้อนกลับขึ้นบน คืออะไร

ในผู้ป่วยหอบหืดเรื้อรัง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรังตามทัศนะแพทย์แผนจีน มีสาเหตุหลายอย่าง สาเหตุที่สำคัญ สาเหตุหนึ่งคือ ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน (พลังไตไม่กลับที่แหล่งกำเนิดเพราะพลังไตพร่อง อ่อนแอ)

ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน”  หมายถึง ภาวะพลังไตอ่อนแอ พลังไม่สามารถกลับสู่ตำแหน่ง ดั้งเดิมของไต คือบริเวณตานเถียน ซึ่งเป็นแหล่งเก็บพลังพื้นฐานของไต ทำให้การหายใจสั้น หายใจไม่ลึก มีอาการหอบหืด มักพบว่ามีความผิดปกติร่วมกันของพลังปอดพร่องกับพลังไตพร่องควบคู่กัน

อาการสำคัญคือ หอบหืดหายใจสั้น หายใจเข้าได้น้อย หายใจออกมาก ถ้าเคลื่อนไหวหรือใช้กำลังกายอาการจะรุนแรงขึ้น
อาการร่วม เป็นโรคไอ หอบหืดเรื้อรัง เหงื่อออกมากผิดปกติ ใบหน้าขาดความมีชีวิตชีวา เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยอยากจะพูด เสียงพูดไม่มีพลัง เอวและเข่าเมื่อยล้าอ่อนแรง ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหอบหืดรุนแรง มีเหงื่อเย็นออกมาก แขนขาเย็น หน้าซีดเขียว
ลักษณะลิ้น : ลิ้นซีด ฝ้าขาว
ชีพจร : ลึกและอ่อนแอ

สาเหตุสำคัญของ “ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน”มาจาก
1. ไอ หอบหืดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ทำให้โรคจากพลังปอดพร่อง พัฒนาไปทำให้พลังไตพร่องด้วย
2. คนสูงอายุ มักมีพลังไตอ่อนแออยู่แล้ว เป็นเงื่อนไขที่ทำให้การรับหรือดึงพลังไตกลับตานเถียนได้น้อยกว่าปกติ
3. โรคเรื้อรังที่กระทบกระเทือนต่อไต เพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป, การทำงานเหนื่อยล้านานเกินไปอย่างต่อเนื่อง

กลไกการเกิด “ภาวะพลังไตย้อนขึ้น” และการดำเนินของโรค
เนื่องจากไตมีหน้าที่ดึงและกักเก็บพลัง เป็นรากฐานของพลัง  เมื่อไตพร่อง ไตขาดพลังดึงรั้ง พลังจึงไม่สามารถกลับสู่รากฐาน หรือตำแหน่งที่ตั้งเดิมบริเวณใต้สะดือ (ตานเถียน)  ทำให้หายใจเข้าน้อยหายใจออกมาก การเคลื่อนไหวดูดซับพลังไม่ต่อเนื่อง เวลาเคลื่อนไหวหรือออกกำลังจะเหนื่อยมากขึ้น หรือมีอาการหืดหอบ
พลังของไตไม่พอ ขาดการหล่อเลี้ยงร่างกาย เหงื่อออกง่าย เหนื่อยง่าย สีหน้าหมองคล้ำ ขาดความมีชีวิตชีวา ไม่อยากจะพูดจา (เวลาพูดต้องเสียพลัง) พูดจาเสียงค่อย ไม่มีพลัง กล้ามเนื้อและกระดูกขาดการหล่อเลี้ยงทำให้บริเวณเอวและเข่าอ่อนแรง ปวดเมื่อย ถ้าพลังหยางอ่อนแอมากขึ้นถึงขั้นแยกตัว จะเกิดอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น มีเหงื่อเย็นออก แขนขาเย็นเฉียบ ใบหน้าเขียว ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรจม อ่อนแอ ซึ่งเป็นอาการของไตหยางพร่อง

การดำเนินโรค ถ้าภาวะนี้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งไม่เพียงแต่พลังหยางของปอดและไตพร่องเท่านั้น ยังมีผลทำให้พลังหัวใจ หยางของหัวใจพร่องอีกด้วย ซึ่งทำให้หัวใจกระตุ้นการสูบฉีดของเลือดน้อยลง เลือดคั่งค้างอุดกั้น ไม่ไหลเวียน ทำให้ใบหน้า ริมฝีปาก เล็บเขียวม่วง มีอาการหอบหืดรุนแรงร่วมกับเหงื่อกาฬไหล เกิดภาวะช็อกที่อาจถึงแก่ชีวิตเป็นภาวะสูญสลายของยิน-หยาง

การแยกแยะ “ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน จากภาวะอื่น
อาการหอบหืดทางแพทย์แผนจีนมักเกี่ยวข้องกับอวัยวะสำคัญคือปอดและไต
ภาวะพลังไตพร่อง แม้ว่าภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน มีพื้นฐานจากพลังไตพร่องแต่ภาวะพลังไตพร่องมีอาการที่สำคัญคือ เสียงดังในหูหรือหูอื้อ เวียนศีรษะตามัว เอวเข่าอ่อนแรง ปัสสาวะบ่อยครั้งตอนกลางคืน ฝันเปียกหรือน้ำกามเคลื่อน
แต่ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน นอกจากที่มีอาการภาวะพลังไตพร่องแล้ว มีอาการสำคัญ คือการหายใจถี่ หอบหืด หายใจเข้าสั้น หายใจไม่ต่อเนื่อง ไม่คล่อง เคลื่อนไหวร่างกายอาการจะรุนแรงขึ้น
ภาวะพลังปอดพร่อง แม้ว่าภาวะพลังปอดพร่องจะมีอาการหอบหืด เช่นเดียวกับภาวะพลังไตพร่องทำให้มีอาการหอบหืด การแยกภาวะทั้งสองออกจากกันคือ
1. ไอ หอบหืด เรื้อรังเป็นเวลานาน เริ่มต้นมักเกิดจากพลังปอดพร่อง ต่อมามักจะทำให้พลังไตพร่องไปด้วย
2. ไอ หอบหืดเรื้อรังที่พบในคนสูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ มักเกิดจากพลังไตพร่อง
3. นอกจากอาการหอบหืดแล้ว ยังมีอาการที่แสดงว่าพลังไตพร่อง เช่น ปวดเมื่อยเอวขาอ่อนแรง ปัสสาวะบ่อย หูมีเสียงดัง หูอื้อ หูตึง เวียนศีรษะตาลาย
4. ถ้าพลังปอดพร่อง มักมีเหงื่อออกมาก เสียงพูดไม่มีแรง ไอมีเสมหะใส ไม่มีอาการพลังไตพร่อง

หลักการรักษา และตำรับยาจีนที่ใช้รักษา “ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน”

หลักการรักษา
บำรุงไตเพื่อดึง จับพลัง
ตำรับยา
1. เหยิน-เซิน-หู-ถาว-ทัง
2. เซิน-เจี้ย-ส่าน
ปรับลดตามสภาพ
ตัวยาสำคัญ
เหยินเซิน
หู-ถาว-โย้ว
เก๋อ เจี้ย
เนื่องจากภาวะนี้มักมีสาเหตุจากปอดพร่องแล้วทำให้ไตพร่องด้วย จึงต้องมียาบำรุงพลังปอด อุ่นหยางของไต
นอกจาก เหยินเซิน , หูถาวโย้ว , เก๋อเจี้ย แล้วอาจเสริมด้วย หวงฉี , ฟู่-จือ , โย่วกุ้ย  ร่วมกับยากดพลังลงล่าง เช่น ฉือ-สือ , เฉินเซียง

ภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน ในทัศนะแพทย์ปัจจุบันได้แก่โรคอะไร

– โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
– โรคถุงลมโป่งพอง
– หอบหืด
– โรคหัวใจที่มีสาเหตุจากปอด

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ เกี่ยวกับภาวะพลังไตย้อนกลับขึ้นบน มีอะไรบ้าง

– วารสาร “จง-อี-จื้อ-เหลียว-เสวียะ”  พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ พบว่าวิธีการบำรุงไต เพื่อดึงจับพลังรักษา โรคหอบหืดเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง ทำให้สามารถควบคุมอาการหอบหืดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
– วารสาร “ไป่ จิงจงอี”  ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีรายงานการใช้ยา บำรุงไตหยาง ในผู้ป่วยไตพร่องจากความเย็น มีน้ำคั่งค้าง
– วารสาร “เจียงซูจงอี” ปี พ.ศ. ๒๕๓๘มีรายงานการใช้ยาบำรุง
หยาง บำรุงไต รักษาผู้ป่วยหอบหืดเรื้อรังเนื่องจากหลอดลมอักเสบ พบว่าหลังรักษา ๒ สัปดาห์ อาการดีขึ้นมาก ๔ ราย ผลชัดเจน ๑๕ ราย ได้ผล ๕ ราย ไม่ได้ผล ๔ ราย

สรุป

โรคหอบหืดเรื้อรัง มักมีผลทำให้ระบบปอด ไต และหัวใจค่อยๆอ่อนแอลง เป็นโรคที่รักษาลำบาก เพราะมีความเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง การรักษาในทางแผนปัจจุบัน ก็มักจะเน้นที่การแก้อาการ และรักษาสาเหตุของโรคควบคู่ไปด้วย ทางศาสตร์แพทย์จีนให้ความสำคัญกับการเสริมพลังของปอดและพลังไต หรือพลังหัวใจ เพื่อฟื้นฟูภาวะอ่อนแอของร่างกายเพิ่มไปด้วยอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้อาการหอบหืดเรื้อรังยาวนาน จนกระทบต่อพลังไต หรือพลังหัวใจการรักษาจะยากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะใช้วิธีการใดรักษาก็ตาม เพราะมีความเสื่อมสภาพเข้าเกี่ยวข้อง ทางที่ดีถ้ามีอาการหอบหืด ควรต้องหาทางเยียวยา รักษาอาการ รักษาสาเหตุ และสร้างเสริมสมดุลภายในร่างกายควบคู่กันไปตั้งแต่ระยะแรก