สถานการณ์โควิด 19 ของประเทศในการระบาดรอบ 3 มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น มีการกระจายตัวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์และหลังสงกรานต์ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 2000 ราย ยอดเสียชีวิตรายวัน 20 กว่ารายต่อวัน จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ถึงกลางเดือนเมษายน 2564 ในประเทศไทยยังน้อยมากไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แผนการของภาครัฐคือ ให้ได้ 63 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 โดยเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง 7 โรคเรื้อรังและคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป (จำนวนประชากรไทยปี 2564มีประมาณ กว่า 66 ล้านคน ถ้าได้ฉีดคนละ 2 เข็ม จะครอบคลุมประมาณ 50%ของประชากร) การเกิดภูมิค้มกันหมู่จะต้องมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 70% คือประมาณการฉีด 100 ล้านโดส เพราะฉะนั้นจึงต้องหาวิธีการหาวัคซีนและระดมการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วและมากที่สุดโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่า รวมถึงการดื้อวัคซีนที่จะเกิดจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ขณะเดียวกันก็เกิดข่าวคราวมากมายที่เกิดจากผลอันไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาให้ ทำให้คนจำนวนมากมีความไม่มั่นใจที่จะฉีดวัคซีน รวมทั้งยังมีแนวโน้มของไวรัสโควิด19 สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์อังกฤษเช่น สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล อินเดีย ซึ่งอาจมีผลให้วัคซีนที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค
ระบบภูมิคุ้มกันในมุมมองแผนปัจจุบัน
ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) คือ กลไกภายในร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่สามารถก่อให้โรค เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ รวมไปถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบและสร้างกลไกการตอบสนอง เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้
ภูมิคุ้มกันของร่างกายแบ่งเป็น 2 ระบบ
1.ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดหรือภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะ (Innate immunity)
เป็นด่านแรก เสมือนทัพหน้าที่ป้องกันและต่อสู้เกิด ขึ้นภายหลังจากการได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค โดยไม่จำเพาะเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงสามารถป้องกันโรคได้หลายชนิด และไม่มีความจดจำเชื้อโรค (Memory) โดยจำแนกเป็น 2 ส่วน
การป้องกันด่านที่1 เป็นการป้องกันที่บริเวณเยื่อบุหรือผิวหนัง เริ่มตั้งแต่สัมผัสเชื้อโรค เป็นเสมือนป้อมปราการ
- กลไกทางกายภาพกลไกป้องกันโรคกีดขวางไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น ผิวหนังเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รูขุมขน ต่อมเหงื่อและต่อมใต้ผิวหนังต่างๆ รวมทั้งจุรินทรีย์ประจำถิ่นที่อยู่ในร่างกาย
- กลไกทางเคมีเป็นกลไกการป้องกันโรคที่อาศัยสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกาย เช่น กรดในกระเพาะอาหาร สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ เหงื่อ เป็นต้น
- กลไกทางกรรมพันธุ์ เป็นกลไกป้องกันโรคที่ทำให้เชื้อโรคบางชนิด ไม่สามารถติดเชื้อในคนบางคนได้ เช่น คนที่เป็นโรค Sickle cell anemia จะมีความต้านทานต่อโรคมาลาเรีย
การป้องกันด่านที่สอง กลไกนี้เริ่มทำงานเริ่มตั้งแต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในช่วง 6-12 ชั่วโมงแรก เป็นเสมือนทัพหน้า
- อาศัยปฏิกิริยาทางเคมีระดับเซลล์ซึ่งตอบสนองทันทีที่เชื้อโรคผ่านการป้องกันด่านแรกบุกรุกเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบเป็นการกระตุ้นการเคลื่อนย้ายของเม็ดเลือดขาวออกจากเส้นเลือดไปยังบริเวณนั้น เพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมและจับกินเชื้อโรค (Phagocytosis) พร้อมกับส่งสัญญานไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ
- กลไกการกระตุ้นการทำงานของเซลล์จับกินเชื้อโรคPhagocyteและการกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อของ NK cell (Natural Killer cell)
- กรณีที่เป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ร่างกายจะสร้างอินเตอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในการขัดขวางการแบ่งตัวของไวรัส ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้
2.ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive or Acquired Immunity) เกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อโรคและเกิดอาการแล้ว 5-7 วัน เป็นเสมือนทัพหลวง
เป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมด่านที่ 3 ที่ต้องอาศัยกลไกที่ยุ่งยาก กรณีที่การป้องกันทั้งสองด่านไม่สามารถป้องกันเชื้อโรค ด้วยเม็ดเลือดขาวประเภทจับกินเชื้อโรคหรืทำลายเซลล์ที่มีเชื้อโรคฝังตัวอยู่
ร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรคอย่างจำเพาะเจาะจงผ่านเม็ดเลือดขาวกลุ่ม lymphocyte โดยมีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญคือ B lymphocyte ซึ่งจะสร้าง Antibody ในรูปแบบสารน้ำ(โปรตีน) ที่ไปจับกับเชื้อโรคและ T lymphocyte ซึ่งจะสร้าง T cells ในการทำลายเชื้อโรคด้วยกลไกต่างๆ และยังสามารถจดจำเชื้อโรคได้ เมื่อได้รับเชื้อโรคตัวเดิมอีกการตอบสนองข้างหลังจะจำเพาะเจาะจงรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive or Acquired Immunity) เกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อโรคและเกิดอาการแล้ว 5-7 วัน เป็นเสมือนทัพหลวงตามมาช่วยภายหลัง ใช้เวลานาน
ปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกัน
เม็ดเลือดขาวเป็นเสมือนทหารของร่างกาย มีแหล่งผลิตมาจากไขกระดูก เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด เป็นเซลล์ที่พบได้ทั่วไปในร่างกาย รวมไปถึงในเลือดและในระบบน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองเสมือนเป็นหน่วยทหาร อวัยวะเช่น ม้าม ทอนซิล ต่อมไธมัส ที่มีจำนวนเม็ดเลือขาวมากเสมือนฐานที่มั่นทางทหาร เส้นทางลำเลี้ยงทหารคือระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจึงเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและสารอาหาร ระบบย่อยดูดซึมอาหาร ในการสร้างเม็ดเลือด เม็ดเลือดขาว การทำงานของระบบฮอร์โมนที่กระตุ้นไขกระดูก การไหลเวียนเลือด หลอดเลือด(เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ) และการไหลเวียนน้ำเหลืองในท่อน้ำเหลือง รวมถึงการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
เสริมภูมิคุ้มกันที่มั่นคงต้องเริ่มต้นพื้นฐาน สร้างภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดชนิดไม่จำเพาะ(innate immunity)
- ภูมิคุ้มกันที่มาแต่กำเนิด (innate immunity) ซึ่งเป็นด่านแรก ทัพหน้าที่สำคัญมาก จะช่วยลดจำนวนเชื้อที่เข้าสูร่างกายโดย การทำหน้าที่ของเยื่อบุทางเดินหายใจ เซลล์พัดโบก cilia ตั้งแต่เชื้อโรคสัมผัสอยู่นอกร่างกาย รวมถึง กลุ่มเซลล์ Phagocyte (ทำลายสิ่งแปลกปลอม) และ NK cell (ทำลายเซลล์ร่างกายที่ติดเชื้อ) กลไกนี้ทำงานตั้งแต่เริ่มต้น 6-12 ชั่วโมงที่เริ่มเข้าสู่ร่างกาย( ตั้งแต่ช่วงระยะการฟักตัวของเชื้อ) ทัพหน้ายังเป็นตัวส่งสัญญาณไปยังการสร้างทัพหลวง ภูมิคุ้มกันที่ตามมาภายหลัง พวก B cell แอนตี้บอดี้และ T cell ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจง ในการสู้กับไวรัส ภายหลังการได้รับเชื้อโรคและเกิดอาการแล้ว 5-7 วัน
- ภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเพาะที่ดี จะทำให้ อาการของโรคลดความรุนแรง จากกลไกทำลายลดปริมาณเชื้อโรคและทำให้ Acquired immunity การสร้างทัพหลวงสร้างได้ดีและมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
- ภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเพาะที่ดี สามารถทำลายสิ่งแปลกปลอมทุกรูปแบบ ไม่มีความจำเพาะเหมือนวัคซีน ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ก็ยังทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม ต่างจากวัคซีนที่มีความจำเพาะ วัคซีนที่ผลิตต้องตามหลังและปรับเปลี่ยนตลอด เมื่อเชื้อกลายพันธุ์
ภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง มีความสำคัญพื้นฐาน ต้องสร้างด้วยตัวเราเอง
- ถ้าทัพหน้ามีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ผิวหนัง เยื่อบุที่เข้มแข็ง เม็ดเลือดขาว ในช่วง 6-12 ชั่วโมงแรก สามารทำลายเชื้อโรคได้มาก ลดความรุนแรงของโรค
- ส่งสัญญานให้ทัพหลวงทำงานได้ดีด้วย ต่อสู้ชนะเชื้อโรคได้ดีขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง เพราะร่างกายมีความสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองโดยธรรมชาติเมื่อมีการติดเชื้อ และทำไมบางคนฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกันขึ้นดี
- ทัพหน้าเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างด้วยตัวเราเอง ควรสร้างอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องหวังพึ่ง รอคอยวัคซีนอย่างเดียว เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เรื่องการกินอาหาร การดื่มน้ำ การนอน การออกกำลังกาย การฝึกจิต ควบคุมอารมณ์ ที่ต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ สามารเริ่มต้นทันทีจากตัวเรา
- นอกจากเชื้อโรคแล้ว ทัพหน้ายังทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมทุกชนิด รวมทั้งของเสีย เซลล์มะเร็ง
- ทัพหน้าไม่เกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ ทำหน้าที่ม่เฉพาะเจาะจง แต่วัคซีน ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพลดลงหรือไม่มีประสิทธืภาพในการสร้างภูมิ
ดังที่แพทย์จีนกล่าวว่าถ้าเจิ้งชี่ยังดำรงอยู่ เสียชี่(สิ่งก่อโรค)ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
“正气存内,邪不可干”