ยาจีน ทำไมจึงมีคำกล่าวว่า “ถ้าเป็นยา มีพิษ 3 ส่วน”

ความเชื่อว่า  ยิ่งบำรุงมาก  ยิ่งมีสุขภาพดี  เป็นแนวคิดสุดโต่งด้านเดียว  ตามทัศนะแพทย์แผนจีน

การดูแลสุขภาพที่แท้จริง  ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน  คือ  การเน้นเรื่องอาหารและการดำเนินชีวิต การนอน การพักผ่อน   อารมณ์ความนึกคิด (การมองโลกและการเข้าใจชีวิต) การมีเพศสัมพันธ์ที่พอเหมาะ การปฏิบัติตัวตามวิถีธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงยินหยาง (กลางวัน  กลางคืน  และฤดูกาล) การใช้ยาสมุนไพร อาหารสมุนไพร ถือเป็นตัวประกอบเสริมสำหรับคนทั่วไปที่สุขภาพดีหรือมีความเจ็บป่วยเล็กน้อย

ส่วนคนที่สุขภาพไม่ดี หรือมีความเสื่อมของร่างกายมาก ซึ่งปัจจุบันมีผลจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะมลพิษสิ่งแวดล้อม อาหาร ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้ร่างกายทรุดโทรม จิตใจแปรปรวน เกิดภาวะที่เสียสมดุลและเป็นรากฐานของการเกิดโรคในเวลาต่อมา หรือบางรายเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ตรวจพบว่าเป็นโรค คนประเภทนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การกิน การนอน ภาวะทางจิตใจที่เหมาะสม และการบำรุงดูแลด้วยอาหารสมุนไพร หรือยาสมุนไพร

แต่เนื่องจากยาสมุนไพร ใช้ฤทธิ์ที่มีความโน้มเอียงไปทางการปรับสมดุลที่รุนแรงมากกว่าอาหาร การใช้ยาสมุนไพรปรับสมดุลที่ผิดจะนำมาซึ่งการเสียสมดุลมากขึ้น หรือถ้าใช้ไปนานๆ โดยไม่เข้าใจสภาพร่างกายและตัวยาสมุนไพรที่ใช้ จะทำให้สุขภาพเสียหายมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง เช่น  ถั่งเช่า (冬虫夏草) เป็นสมุนไพรรสหวาน ฤทธิ์อุ่น มีสรรพคุณค่อนไปทางบำรุงหยาง (ทำให้ร่างกายอุ่นร้อนขึ้น) ผู้ป่วยหรือคนที่ร่างกายออกไปทางภาวะยินพร่อง คนที่ชอบดื่มเหล้า, นอนดึก, สำส่อนทางเพศ มีความร้อนชื้นภายในร่างกาย การรับประทานถั่งเช่า จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร้อนในร่างกายและทำให้เซลล์หดแห้งมากขึ้น

ในทางกลับกัน  รังนก ( )  มีฤทธิ์ค่อนไปทางเย็น เสริมสารน้ำ คนที่กระเพาะอาหารเย็น, ท้องอืด, ท้องเสียง่าย, มีเสมหะความชื้นตกค้างภายใน หรือคนที่กำลังเป็นหวัดใหม่ๆ ไม่ควรรับประทาน

ด้วยเหตุผลที่ยามีฤทธิ์ในการปรับสมดุลที่รุนแรงกว่าอาหาร จึงให้สติเตือนใจกับทุกคนที่จะใช้ยาว่า “ถ้าเป็นยามีพิษ 3 ใน 10 ส่วน”(是药三分毒)พื้นฐานสุขภาพยังอยู่ที่การดูแลสุขภาพ อาหารและการดำเนินชีวิตที่เป็นธรรมชาติเป็นหลักครับ