ยาบำรุงเซ็กซ์ ส่วนหนึ่งของยาบำรุงหยาง

ยังคงมีการกล่าวถึงกันอยู่เสมอ สำหรับเรื่องของ ยาชะลอความแก่ ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยการกล่าวถึงเขากวางอ่อน ซึ่งมีฤทธิ์ กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนทางเพศ และทำให้ร่างกายแก่ตัวช้าลง กระปรี้กระเปร่า

ในทัศนะแพทย์จีนเรื่องเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับระบบไตยิน ไตหยางที่ควบคุมระบบการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งครอบคลุมถึงระบบฮอร์โมนต่างๆ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมเพศ ต่อมหมวกไต รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ (autonome nervous system) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับตัว ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะภายใน

ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศหรือที่มักเรียกว่ายาบำรุงเซ็กซ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของยาบำรุงไต (ตามทัศนะแพทย์จีน) โดยเฉพาะความเสื่อมถอย ทรุดโทรม มักเกิดความพร่องตามมา

ไตหยาง มีการเก็บสะสมของพลังหยาง ซึ่งเป็นพื้นฐานของกลไกระบบต่างๆ ที่ได้มาแต่กำเนิด (ทางกรรมพันธุ์) ขณะที่ไตยินจะได้รับการเสริมเติมบำรุงจากอาหารการกินและการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยการปรับสมดุลกับไตหยาง และทำให้เกิดพลังหยางในระบบต่างๆของร่างกาย

พลังหยางพร่อง นอกจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์แล้ว การเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนาน การได้รับอาหารที่มีคุณสมบัติเย็นมากหรือนานเกิน การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกิน (สูญเสียสารจิงทำให้สูญเสียพลังไต) ก็นับว่ามีส่วนสำคัญ

ต่อไปนี้จะเสนอภาพกว้างของพลังหยางพร่อง ซึ่งจะมีอาการต่างๆหลายอย่าง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นเพียงอาการหนึ่งของพลังหยางพร่อง

หยางพร่องหมายถึงพลังหยางไม่พอ กลไกการทำงานของร่างกายเสื่อมถอย ทำให้ระบบต่างๆในร่างกาย เกิดอาการหนาวเย็นผิดปกติ ทั้งนี้เป็นผลจากระบบกลไกการให้พลังความร้อน และพลังการคุ้มกันร่างกายเสื่อมถอยอ่อนแอ
อาการแสดงและการตรวจพบ
ภาวะหยางพร่องนั้นจะตรวจพบว่าการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ขาดพลังความร้อน (การเผาผลาญอาหาร การลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่างๆ ลดลง) ทำให้ทุกระบบของร่างกายมีภาวะเย็นเนื่องจากหยางพร่อง (หยางไม่พอ) โดยเฉพาะแขน-ขาเย็น ยิ่งกระทบความเย็นจะหนาวมากผิดปกติ สีหน้าขาวซีด ลิ้นซีด ชีพจรเต้นช้า และไม่มีแรง
 
อาการหยางพร่องมักมีอาการพลังพร่องร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่อยากพูด เหงื่อออกง่าย
อาการหยางพร่องพัฒนาถึงจุดหนึ่งจะมีอาการยินพร่อง ร่วมด้วยเกิดภาวะยิน-หยางพร่อง

อาการหยางพร่องแบ่งได้เป็น 5 ชนิด
1. หยางของหัวใจพร่อง
 มีอาการใจสั่นง่าย หายใจสั้นเหนื่อย โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว หรือออก กำลังจะเหนื่อยมากขึ้น กลัวความหนาวเย็น มือ-เท้าเย็น สีหน้าออกดำคล้ำ (เลือดอุดกั้นเพราะความเย็น ทำให้เลือดเดินช้า) เจ็บแน่นหน้าอก ลิ้นซีดบวมสีม่วงคล้ำ ชีพจรเล็กและไม่มีแรง
2. หยางของม้ามพร่อง เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น ปวดท้อง อาการแน่นท้องทุเลาลงเมื่อกระทบความร้อนหรือใช้มือกด อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ปัสสาวะมาก มีสีใสหรืออาจมีปริมาณน้อย ร่างกายซูบผอม แต่บวมตามแขน-ขา มีน้ำลายใสมากผิดปกติ ในสตรีจะมีตกขาวมากผิดปกติ ลักษณะตกขาวมักใสไม่ข้น แขน-ขาเย็น สีหน้าซีดขาวหรือซีดเหลือง ลิ้นซีดมีฝ้าขาว ชีพจรลึกช้าและไม่มีแรง
3. หยางของไตพร่อง ปวดเมื่อยเอว-หัวเข่า กลัวหนาว มือเท้าเย็น โดยเฉพาะเท้า เวียนศีรษะ หน้าตาไม่มีชีวิตชีวา สีหน้าขาวซีด(หรือออกดำคล้ำ)
ผู้ชายจะมีปัญหาเสื่อมสมรรถ-ภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวฝันเปียก หลั่งเร็ว
ผู้หญิงจะมีภาวะไม่ตั้งครรภ์ มีตกขาวใสและปริมาณมาก ปัสสาวะใสและมาก ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกหลายๆครั้ง ท้องเสียง่าย ท้องอืด อาหารย่อยยาก มีท้องเสียตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5) มีลักษณะตัวบวมน้ำ โดยเฉพาะช่วงล่าง ผมร่วง ฟันโยก ลิ้นอ้วนสีซีด ชีพจรลึกและอ่อนแรง
4. หยางของหัวใจและไตพร่อง มีอาการใจสั่น หน้าบวม แขน-ขาบวม (โดยส่วนล่างของร่างกาย) ปัสสาวะ ไม่คล่อง กลัวหนาว แขน-ขาเย็น ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา ชอบง่วงนอน ริมฝีปาก เล็บสีม่วงจาง ลิ้นสีม่วงจาง หรือเขียวม่วงมีฝ้าขาวลื่น ชีพจรลึกและเล็ก
5. หยางของม้ามและไตพร่องแขน-ขาเย็น ปวดเมื่อยเอวและเข่าร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่อยากจะพูด (ขี้เกียจพูดเพราะพูดแล้วเหนื่อย) สีหน้าขาวซีด เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5) ปวดท้อง(กดหรือให้ความร้อนจะรู้สึกสบาย) หน้าบวมแขน-ขาบวม ท้องแน่นอืด บางทีมีท้องมาน ลิ้นซีด ตัวลิ้นโต ฝ้าขาวลื่น ชีพจรลึกและเบา

การรักษาภาวะหยางพร่องมีหลายวิธี เช่น การฝังเข็ม รมยาสมุนไพร การกินอาหารที่เหมาะสมส่วนการใช้สมุนไพรใช้กลุ่มยาบำรุงหยางเป็นหลัก และยาขับความเย็น(ทำให้อุ่น) เป็นตัวเสริม

สมุนไพรกลุ่มยาบำรุงหยาง ได้แก่ เซียนเหมา ยิ่น-หยางฮว่า โย่วฉงโหยง ปาจี่เทียน ตู้จ้ง ปู่กู่จื่อ ทู่ซือจื่อ สว่อหยาง ซี่ต้วน ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน

ที่กล่าวว่ายาบำรุงเซ็กซ์เป็นส่วนหนึ่งของยาบำรุงหยาง เนื่องจากยาบำรุงหยางมักเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ระบบความร้อนของร่างกาย ยาส่วนใหญ่จึงนำมาสร้างสมดุลของร่างกาย แล้วจึงส่งผลถึงการ รักษาภาวะเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ เช่น การหลั่งเร็ว อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก

ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงสมุนไพร บำรุงหยางที่รู้จักและใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ ตู้จ้งหรือเต่าต๋ง ปู่กู่จื่อ โย่วฉงหยง ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน

ตู้จ้งหรือเต่าต๋งเป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนเปลือก ของลำต้นมาทำเป็นยา โดยลอกเปลือกของลำต้นระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน นำมาขูดเอาผิวที่หยาบออก แล้วตากแดดให้แห้ง หั่นเป็นชิ้นๆ นำมาใช้เป็นยาได้
ตู้จ้งมีคุณสมบัติอุ่น รสหวานวิ่งเส้นตับและไต

สำหรับสรรพคุณของตู้จ้งคือ บำรุงไต บำรุงตับ เสริมเอ็น เสริมกระดูก ป้องกันการแท้งลูก ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำตู้จ้งมาใช้ในการ
1. รักษาภาวะไตและม้ามพร่อง ปวดเมื่อยเข่าและเอว เอ็นและกระดูกไม่แข็งแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปัสสาวะบ่อย
2. รักษาประจำเดือนมาผิดปกติ ในสตรี หรือสตรีที่มีประวัติการแท้งบ่อยๆ หรือสตรีที่มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ จากภาวะมีการตั้งครรภ์

นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าตู้จ้งมีฤทธิ์
1. ลดความดันเลือดสูง
2. กระตุ้นเม็ดเลือดขาวในกระบวนการกลืนเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
3. มีฤทธิ์สวนประสาท ขับปัสสาวะ

ปู่กู่จื่อ
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนผลที่สุกแล้วนำมาตากแห้งทำเป็นยา
ปู่กู่จื่อมีคุณสมบัติอุ่น รสเผ็ดขม วิ่งเส้นลมปราณไตและม้าม

สำหรับสรรพคุณของปู่กู่จื่อคือ บำรุงไต เสริมหยาง และช่วยไม่ให้ปัสสาวะบ่อย บำรุงม้าม
ตำราแพทย์แผนจีนจะนำปู่กู่จื่อ มาใช้รักษาตามอาการต่างๆ เหล่านี้
1. ไตหยางพร่อง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก เอวและเข่าปวด เมื่อยและเย็น ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะรดที่นอน
2. หยางของไตและม้ามพร่อง และอาการท้องเสียตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5)
3. เอามาทำเป็นทิงเจอร์ สามารถรักษาโรคด่างขาว ผมร่วงเป็นหย่อมๆ

โย่วฉงหยงเป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนเนื้อของลำต้นสด เอามาตากแดดให้แห้ง หั่นเป็นแผ่นทำเป็นยา
โย่วฉงหยงมีคุณสมบัติอุ่น รสหวาน เค็ม วิ่งเส้นลมปราณไต ลำไส้ใหญ่

สำหรับสรรพคุณของโย่วฉงหยง คือ บำรุงไต เสริมหยาง บำรุงสารจิง และเลือด หล่อลื่นลำไส้ทำให้ระบายอุจจาระ
ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำโย่วฉงหยงมาใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ เหล่านี้
1. ไตหยางพร่อง สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปวดเมื่อยเอวและเข่าในสตรี ตั้งครรภ์ยาก (มีบุตรยาก)
2. คนสูงอายุที่มีอาการท้องผูกเนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ไตพร่อง ทำให้เกิดอาการท้องผูก ลำไส้ใหญ่ขาดการหล่อเลี้ยง นอกจากนี้ยังใช้กับคนที่อ่อนแอหลังป่วยไข้ สตรีหลังคลอดที่มีอาการท้องผูก
 
นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าโย่วฉงหยง ยังมีฤทธิ์ลดความดันและกระตุ้นการ ผลิตน้ำลาย

ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อนเป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของเขากวางอ่อนมาทำเป็นยา (ที่ยังไม่มีการเกาะตัวของแคลเซียมจนแข็ง) มักจะเลื่อยเอาส่วนเขากวางอ่อนในช่วง ฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง หั่นเป็นแผ่นหรือบดเป็นผง
ลู่โหยงมีคุณสมบัติอุ่น รสหวาน วิ่งเส้นตับ ไต
 
สำหรับสรรพคุณของลู่โหยงคือบำรุงไต บำรุงหยาง บำรุงสารจิงและเลือด เสริมความแข็งแรงของเอ็นและกระดูก ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำลู่โหยงมาใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ ดังนี้
1. ไตหยางพร่อง สารจิงและเลือดน้อย มีอาการคือ อาการแขนขาหนาว อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก มดลูกเย็นทำให้ตั้งครรภ์ยากปัสสาวะบ่อย ปวดเอวและเข่าหรือมีอาการอ่อนแรง เวียนศีรษะ เสียงดังในหู ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา
2. หยางของตับและไตพร่อง มีอาการคือ กระดูกเอ็นไม่แข็งแรง เด็กที่เจริญเติบโตช้า เด็กที่เดินได้ช้า กว่าปกติ ฟันขึ้นช้าหรือกระหม่อมปิดช้า
3. สตรีที่พร่องเย็น บริเวณมดลูก ท้องน้อย มีอาการคือ ตกขาวมาก มีประจำเดือนมากผิดปกติ ปวด ท้องประจำเดือน
4. ใช้รักษาฝีหนองที่อยู่ส่วนลึกเรื้อรัง ไม่ลุกลามมาที่ผิว เพราะเขากวางอ่อนเป็นยาร้อน มีคุณสมบัติให้ ความร้อน จึงกระตุ้นให้ฝีมาที่ผิว ทำให้รักษาง่ายและหายเร็ว

นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าลู่โหยง
1. มีฤทธิ์บำรุงร่างกาย กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เร่งการหายของแผล กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เพิ่มความเข้มข้นเลือด
2. เพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ชีพจรการเต้นของหัวใจ และปริมาณเลือดออกจากหัวใจ
3. กระตุ้นการทำงานของต่อมเพศ

จะเห็นได้ว่ายาบำรุงหยางเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงไตหยางเป็นหลัก แต่มีสรรพคุณบำรุงหยางของตับหรือหยางม้ามบ้าง ตามแต่คุณสมบัติเฉพาะของสมุนไพร นอกจากนั้นบางตัวจะมีฤทธิ์ช่วยระบายอุจจาระได้ด้วย

ในอาการปวดเมื่อยเอวและเข่า รวมทั้งภาวะแขน-ขาเย็น โดยเฉพาะเมื่อกระทบเย็นก็สามารถใช้ยาบำรุง ไตหยางมารักษาได้

ข้อควรระวัง

ยาบำรุงหยางเป็นยาที่ร้อนและแห้ง ทำลายสารยิน และเพิ่มไฟในร่างกาย คนที่ยินพร่องแล้ว เกิดไฟต้องระมัดระวังการใช้ ไม่ควรซื้อกินเอง เพราะจะเป็นอันตรายได้บางรายจำเป็นต้องใช้ยาอื่นเสริม หรือ ปรับให้สอดคล้องกับสภาพ จึงควรปรึกษาผู้รู้ก่อนใช้ยากลุ่มนี้