สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจ(2)

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจของแผนปัจจุบัน

ถ้าไม่มีอาการหรือการตีบตันของหลอดเลือดน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การตรวจทั่วไปบอกได้ยาก  แต่ถ้ามีอาการ จากการซักถาม และ การตรวจร่างกาย ด้วยตาดู หูฟัง สัมผัสจับชีพจร วัดความดัน สามารถบอกตัวโรคได้ถึง 80%-90%  แต่ก็มีวิธีการหลายอย่างที่จะสามารถช่วยการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น

•    ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)  เพื่อดูการนำไฟฟ้าของหัวใจ และ จังหวะการเต้นของหัวใจ

  • การเดินสายพาน (Exercise Stress Test ) เพื่อดูสมรรถภาพของหัวใจ  

•    การเอกซ์เรย์ทรวงอก(Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของหัวใจ และเส้นเลือด จากเงารังสี

•    การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง(Echocardiogram  เรียกสั้นๆว่า “Echo” เพื่อดูการทำงานของหัวใจแบบเป็นภาพเคลื่อนไหว ดูการวิ่งของกระแสเลือด ดูขนาดห้องหัวใจ และ การทำงานของลิ้นหัวใจ

•    การฉีดสี (Coronary Angiogram ) เพื่อดูลักษณะของหลอดเลือดหัวใจที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง เพื่อบอกหลอดเลือดตีบกี่เส้น ตีบที่ตำแหน่งไหน

•    ตรวจเลือดเพื่อดูสารสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อหัวใจ(Cardiac Enzyme ) เพื่อดูการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ

แนวทางการป้องกันและรักษา

การควบคุมปัจจัยเสี่ยง

  • ควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต งดสูบบุหรี่ เหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว อาหาร เครื่องดื่ม ผ่อนคลายจากความเครียด
  • การสูบบุหรี่มีสารนิโคติน เมื่อถูกเผาผลาญก็จะมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดขึ้น และนิโคตินจะไปกระตุ้นสารคาเทโคลามีนในร่างกายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด เกิดการอักเสบ ทำให้แข็งตัวไม่ยืดหยุ่น เสื่อมเร็วขึ้น
  • ไขมันโคเลสเตอรอลสูงที่อยู่ในเลือด  จะซึมซาบเข้าไปในผนังด้านในของหลอดเลือดได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้
  • ปกติร่างกายเรามีไขมันสองชนิด คือไขมันดี (HDL) และไขมันเลว (LDL)หรือคลอเลสเตอรอล ไขมันดีมีหน้าที่ช่วยลดการเกาะพอกที่ผนังเส้นเลือด ส่วนไขมันเลวคือการเพิ่มโอกาสเกาะหรือพอกมากขึ้น ดังนั้น โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคนี้ควรมีไขมันดีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของไขมันเลวเพื่อป้องกันไม่ให้โอกาสตีบซ้ำหรือตีบมากขึ้น
  • ความเครียด เพราะพบว่าคนที่อยู่ในเมืองที่ทำอะไรรีบเร่ง ใจร้อน ทุกอย่างต้องเนี้ยบ คือ เป็นระเบียบสมบูรณ์แบบ (personality type A) พวกนี้จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจอุดตันได้สูงกว่าพวกเฉื่อยๆ ไปเรื่อยๆ สบายๆ (personality type B) มาก

การรักษา

  • ยาแก้อาการเจ็บปวด หรือ เสียดแน่นหน้าอก เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาป้องกันหลอดเลือดอุดตัน หรือ ยาสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจ (หลอดเลือดตีบตัน 50-60 เปอร์เซ็นต์)
  • การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ใช้ในกรณีที่ยาไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือ มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา(หลอดเลือดหัวใจตีบที่มีนัยสำคัญ มากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์)
  • การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือ ทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือ มีหลอดเลือดตีบหลายเส้น(หลอดเลือดหัวใจตีบที่มีนัยสำคัญ มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์)

ความสำคัญของหัวใจ ในทัศนะแพทย์แผนจีน

  • หัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะตัน มีเยื่อหุ้มหัวใจปกคลุมห่อหุ้มอยู่ภายนอก หัวใจเปรียบเสมือน จ้าวแห่งชีวิต (生命之主宰) เป็นแกนหลักของอวัยวะภายในทั้งหมด(五脏六腑之大主)
  • อวัยวะหัวใจ สัมพันธ์กับจิตใจ ความนึกคิด การรับรู้และการตอบสนอง จึงสามารถมองการทำงานของหัวใจจากแววตา สีหน้า ราษี ความมีชีวิตชีวา การรับรู้ตอบสนองต่อสื่งกระตุ้น อวัยวะรับความรู้สึก หู ตา จมูก ลิ้น
  • หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อ(血肉之心) ความหมายใกล้เคียงกับอวัยวะหัวใจทางกายวิภาค อยู่ในช่องอกระหว่างปอดและตับ แนวระดับกระดูกสันหลังที่ 5
  • หัวใจที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจ (神明之心) ทำหน้าที่ในการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก ความรู้สึกตัว การรับรู้ การคิด อารมณ์ ฯลฯ
  • หัวใจกำกับหลอดเลือดชีพจร(心主血脉)

การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ของหัวใจอาศัย 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ

  1. พลังหยางของหัวใจที่สมบูรณ์เต็มเปี่ยม เป็นตัวกำหนด แรงบีบตัว อัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ
  2. เลือดที่เพียงพอและคุณภาพเลือดที่ดี กำหนดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในเส้นเลือด
  3. ทางเดินเลือดไม่ติดขัด กำหนดการไหลเวียนที่คล่องตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย
  4. หัวใจกำกับหลอดเลือดชีพจร ความอุดมสมบูรณ์แสดงออกบนใบหน้า เปิดทวารที่ลิ้น   “心主血脉,其华在面,开窍于舌”

เนื่องจากศีรษะเป็นที่รวมของพลังหยาง จึงเป็นตำแหน่งที่เส้นลมปราณมีการไหลเวียนเลือดไปมากที่สุด ใบหน้า ลิ้น จึงเป็นพื้นที่ในการสังเกตสมรรถภาพการทำงานของหัวใจได้ชัดเจน 

  • หัวใจเปิดทวารที่ลิ้น (心开窍于舌) และลิ้นเป็นหน่ออ่อนของหัวใจ(舌为心之苗)
  • ถ้าเลือดจากหัวใจไม่พอ สีลิ้นจะซีด
  • ถ้าการไหลเวียนเลือดติดขัด เลือดคั่ง สีลิ้นจะม่วงคล้ำ
  • ถ้าไฟหัวใจร้อนขึ้นบนลิ้นจะแดงมีแผลในปาก ถ้าเสมหะปิดกั้นหัวใจจะทำให้หมดสติ ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด

หัวใจสัมพันธ์กับลำไส้เล็ก  

เส้นลมปราณหัวใจเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณลำไส้เล็ก เส้นลมปราณลำไส้เล็กเป็นด่านด้านนอกที่จะเข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจที่เป็นส่วนที่อยู่ด้านใน การติดขัดของเส้นลมปราณลำไส้เล็กมีผลต่อการไหลเวียนไปยังหัวใจ  ในทางกลับกันความร้อนไฟหัวใจจะถูกขับระบายไปที่ลำไส้เล็ก ทำให้ปัสสาวะปวดแสบ ปริมาณน้อยสีเข้ม(小肠经为表,心经为里)        การที่เลือดเลี้ยงหัวใจไม่พอ เป็นเหตุผลของปัญหาหนึ่งของเส้นลมปราณลำไส้เล็กที่ยากแก่การเยียวยา ในอีกด้านหนึ่งความผิดปกติของการไหลเวียนเส้นเส้นลมปราณลำไส้เล็กบริเวณสะบัก หัวไหล่ด้านซ้ายเป็นสัญญาณบอกว่าอาจมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตามมาในอนาคต

หัวใจสัมพันธ์เยื่อหุ้มหัวใจ

หัวใจเปรียบเสมือนกษัตริย์ มีคำกล่าวทีว่า กษัตริย์ไม่ต้องรับสิ่งก่อโรค (君主不受邪)เยื่อหุ้มหัวใจเป็นเสมือนผู้ปกป้องที่อยู่รอบนอกคอยป้องกันและเผชิญกับสิ่งก่อโรคที่จะมากระทบหัวใจ เปรียบได้กับว่าเมื่อมีปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกษัตริย์หรือต้องการสื่อสารถึงกษัตริย์ ต้องผ่านผู้รับผิดชอบคือขุนนางในสมัยโบราณ การกระตุ้นเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจจะสามารถลดการติดขัดของภาวะติดขัดอุดกั้นของเลือดและพลังที่กระทบไปยังหัวใจได้