อาการไอ ในมุมมองแพทย์แผนจีน

อาการไอ ในมุมมองแพทย์แผนจีน

อาการไอในมุมมองแพทย์แผนจีน

       ปอดเหมือนหลังคาหรือสิ่งปกคลุมอวัยวะจั้งอื่นๆ(肺为华盖)  เปรียบเสมือนเครื่องกำบังสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงภายนอก เช่น ลม แดด ฝน หิมะของรถม้า(车盖)พระที่นั่งของกษัตริย์โบราณ  การเปลี่ยนแปลงภายนอกหรือปัจจัยก่อโรคภายนอกต้องมากระทบสิ่งกำบัง(อวัยวะปอด)ก่อนที่จะบุกรุกไปที่อวัยวะอื่นๆ  ปอดเป็นอวัยวะที่บริสุทธิ์และอ่อนแอ (清虚之体) การเปลี่ยนแปลงของอากาศมีผลกระทบโดยตรงกับการรับความรู้สึกของผิวหนังและอากาศที่เข้าสู่ถุงลม จึงเป็นด่านแรกของการถูกรุกรานจากภายนอกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอากาศภายนอก

      อากาศในปอดไม่บริสุทธิ์ ทำให้กลไกของปอดในการกำกับการแพร่กระจายของชี่  และการกำกับพลังลงล่าง(肺气不清,失于宣肃) หรือหายใจเข้าดูดซับเอาสิ่งดี หายใจออกเอาขับสิ่งที่เสีย(吸清呼浊) เสียหน้าที่ เกิดพลังย้อนขึ้นด้านบนและเกิดเสียงไอ บางครั้งร่วมกับการขากเสมหะ

กลไกการเกิดโรค

เนื่องจากเหตุแห่งโรคและการปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่างกันทำให้มีลักษณะการไอแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแบ่งเป็น

  1. สาเหตุมาจากปัจจัยก่อโรคภายนอกเป็นด้านหลัก เช่น ลมเย็น ลมร้อน ความแห้ง การแสดงออกของโรคเป็นแบบเฉียบพลัน รวดเร็ว ระยะเวลาดำเนินของโรคสั้น มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ กลัวความเย็น และไอมีเสมหะ
  2. สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน คือภาวะเสียสมดุลของการทำงานของอวัยวะภายใน การแสดงออกของโรคเป็นแบบช้าๆ เรื้อรัง ระยะเวลาดำเนินของโรคใช้เวลานาน

การแยกแยะวินิจฉัยกลุ่มอาการไอแบบแพทย์แผนจีน

ลมเย็นโจมตีปอด(风寒犯肺)

อาการสำคัญ  เริ่มต้นไอคันคอ ไอเสียงดัง หายใจเร็ว ขากเสมหะใส เป็นฟอง มีอาการแน่นจมูก น้ำมูกใส ฝ้าบนลิ้นขาวบาง ชีพจรลอย ถ้าเป็นนานๆจะเปลี่ยนเป็นความร้อน น้ำมูกเสมหะจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง

หลักการรักษา:  ขับกระจายลมและความเย็น  แพร่กระจายชี่ของปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ : ซานเอ่าทังร่วมกับจื่อโซวซ่าน三拗场合止嗽散(Sān ǎo tāng ร่วมกับ zhǐ sou sàn)

ลมร้อนโจมตีปอด(风热犯肺)

อาการสำคัญ  ไอมีเสมหะสีเหลืองเหนียว หายใจแรง ร่วมกับอาการเจ็บคอ คอแห้ง น้ำมูกเหลือง ฝ้าบนลิ้นเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว

หลักการรักษา:  ขับลมระบายความร้อน  แพร่กระจายชี่ของปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้: ซางจวี๋หยิ่น桑菊饮(sāng jú yǐn)

ความแห้งทำลายปอด(燥邪伤肺)

อาการสำคัญ  ไอแห้งๆไม่มีเสมหะหรือมีเสมหะน้อย จมูกและคอแห้ง ตัวลิ้นแดงแห้ง ไม่มีน้ำลาย ชีพจรเร็ว

หลักการรักษา:  ขับลมทำให้ปอดบริสุทธิ์  ให้ความชุมชื้นกับปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้: ซางซิ่งทัง 桑杏汤(sāng xìng tang)

เสมหะความชื้นสะสมในปอด(痰湿蕴肺)

อาการสำคัญ  ไอมีเสียงดังมีเสลด จุกแน่นในอก เสมหะมากสีขาวเหนียว ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลื่น

หลักการรักษา:  สลายความชื้นเสมหะ ปรับพลังหยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ :เอ่อเฉินทัง ร่วมกับซานจื่อหย่างชินทัง二陈汤合三子养亲汤 

(èr chén tāng huì sān zi yǎng qīn tāngX

เสมหะร้อนปิดกั้นปอด(痰热郁肺)

อาการสำคัญ  ขากเป็นเสมหะเหลืองเหนียว แน่นหน้าอก หายใจเร็ว ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียวชีพจรลื่นเร็ว

หลักการรักษา: ขับร้อนดึงพลังปอดลงด้านล่าง ขับเสมหะหยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ :ชิงจินฮว่าถานทัง清金化痰汤(qīng jīn huà tán tāng)

ไฟตับรุกรานปอด(肝火犯肺)

อาการสำคัญ  ไอเกิดจากพลังย้อนขึ้น มีอาการหอบ ทำให้ปวดชายโครง ฝ้าบนลิ้นเหลืองและแห้ง ชีพจรตึงเร็ว

หลักการรักษา:ระบายร้อนตับขับไฟปอด สลายเสมหะหยุดอาการไอ(清肝泻肺,化痰止咳)

ตำรับยาที่ใช้ :ต้ายหาซ่านร่วมกับหวงฉินเซี่ยไป๋ซ่าน黛蛤散合黄芩泻白散(Dài há sàn hé huángqín xiè bái sàn)

ยินของปอดพร่อง(肺阴亏耗)

อาการสำคัญ  ไอแห้งไม่มีเสมหะบางครั้งมีเลือดปน ตัวลิ้นแดงมีฝ้าบนลิ้นน้อย ชีพจรเล็กเร็ว

หลักการรักษา:เสริมบำรุงยินของปอด สลายเสมหะหยุดอาการไอ(滋阴润肺,化痰止咳)

ตำรับยาที่ใช้ :ซาเซินม่ายตงทัง沙参麦冬汤(shā shēn mài dōng tāng)

 

ทำไมการเปลี่ยนแปลงของอากาศจึงกระทบต่ออวัยวะปอด?

ผิวหนังเป็นส่วนที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรับรู้การเปลี่ยนแปลงอากาศ ความร้อน ความเย็น ความชื้น ความแห้ง อากาศที่หายใจเข้าไปเข้าสู่ปอดโดยตรงไปถึงถุงลม

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรงของอากาศภายนอกมีผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะถ้าร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอ เนื่องจากสิ่งกระตุ้นรุนแรงหรือระบบการทำงานของร่างกายอ่อนแอ

ทำไมดื่มน้ำเย็นแล้วทำให้เกิดอาการไอ?

          เวลาดื่มน้ำเย็น ความเย็นจะเดินทางจากปากผ่านลำคอสู่กระเพาะอาหารซึ่งเป็นบริเวณส่วนกลางของช่องว่างลำตัว(จงเจียว 中焦)

         เส้นลมปราณปอดเริ่มต้นจากจงเจียว ไหลเวียนขึ้นด้านบนผ่านหูรูดกระเพาะอาหาร ผ่านกระจายเข้าปอด และเคลื่อนไปยังบริเวณลำคอแล้วออกด้านข้างสู่ส่วนแขนด้านหน้า(ด้านยิน)ออกสู่นิ้วหัวแม่มือ

        ความเย็นจากอาหารหรือน้ำเย็นจึงสามารถกระตุ้นอวัยวะปอด หรือเท่ากับปอดได้รับการกระตุ้นจากความเย็นนั่นเอง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *