อาหารสมุนไพรจีน กับภาวะ ไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันเลือดสูง คือ ภาวะที่ตรวจเลือดพบว่ามีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งไขมันในร่างกายแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ  2 ประเภท

1. ไขมันชนิดอันตราย ได้แก่

  • คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ชนิดที่เป็นไขมันเลว คือ  แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL)   ถ้ามีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง ก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพอกหนาขึ้น จนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก (ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้งหรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป  มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ  การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มี โคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)

2. คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

ไขมันชนิดดี คือ เอชดีแอล ((High density lipoprotein-HDL)   ยิ่งมีระดับสูงเท่าจะยิ่งเป็นผลดี  เพราะไขมันชนิดนี้จะทำหน้าที่ตรงข้ามกับไขมันชนิดอันตราย คือ จะไปลดและป้องกันการพอกตัวของไขมันในหลอดเลือด และจะนำพาคลอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยลง  ( ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร)

คนที่มีไขมันในเลือดสูง มีความหนืดของเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหลอดเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ จึงไม่สะดวก  นานไปหลอดเลือดก็จะตีบลงและอุดตัน  โดยเฉพาะถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน และถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่สมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ จึงต้องควบคุมระดับไขมันในเลือดให้พอเหมาะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมา ภาวะไขมันเลือดสูงจึงจัดเป็น “ฆาตกรเงียบ” (Silent killer) มีวิธีการหลายอย่างในการลดภาวะไขมันเลือดสูง นอกเหนือจากการใช้ยา เช่น การควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน เพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก  การออกกำลังกาย ฯลฯ

ในทัศนะแพทย์แผนจีน  ภาวะไขมันเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความอ้วน คนที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมากๆ โดยเฉพาะมื้อดึก  ชอบอาหารมัน ของหวาน และใช้พลังงานน้อย นั่งทำงานกับที่ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย อีกทั้งการทำงานอวัยวะภายในเสียสมดุล ที่สำคัญได้แก่ อวัยวะม้าม ไต  ตับ หัวใจ ผลที่ตามมาคือความชื้น เสมหะ เลือดติดขัด เกิดความร้อนสะสม และตามมาด้วยการเกิดลมภายใน (เกิดอาการหมดสติจากภาวะหลอดเลือดหัวใจสมองตีบตัน)

 ตำรับอาหารสมุนไพรสำหรับภาวะไขมันเลือดสูง

  1. มื้อเช้ารับประทานข้าวโอ๊ต วันละชาม(早吃1碗燕麦粥)ต้มข้าวโอ๊ต จนเดือดแล้วต้มต่อด้วยไฟอ่อน 10 นาที อาจใส่เนื้อหมูสับทำเป็นข้าวโอ๊ตต้มหมูสับ ผู้สูงอายุอาจใส่นมพร่องไขมันรับประทาน
  2. มื้อค่ำ รับประทานกระเทียม 3 กลีบ  (晚餐吃3瓣大蒜)
  3. รับประทานหอมใหญ่ วันละ ครึ่งลูก (天天吃1/2個洋葱)
  4. รับประทานสาลีหรือแอปเปิล วันละลูก(天天吃酪梨或苹果1個)
  5. ซุปเห็ด-ฟักเขียว(蘑菇冬瓜汤)

วิธีปรุง

ใช้เห็ดหรือเห็ดหอม ปริมาณพอควร เอาส่วนโคนเห็ดออก ล้างให้สะอาด

ฟักเขียวขนาดกลาง 1 ลูก ปลอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้น

ใช้น้ำประมาณ 500  ซีซี ต้มฟักเขียวจนเดือด ใส่หอมใหญ่ฝอยและขิงฝอย  จากนั้นจึงใส่เห็ด ต้มจนเดือด ปรุงรสตามต้องการ

สรรพคุณ – ลดการนำเข้าไขมันในร่างกาย

•          เห็ด มี โปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน ที่สำคัญคือกากไย ลดการดูดซึมของคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย

•          ฟักเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมาก ไม่เพิ่มพลังแคลอรีแก่ร่างกาย ลดความร้อนในกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง

นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่แนะนำ ส่วนมากมักมีส่วนของกากใย เช่น แครอท(胡萝卜)  ฟักทอง(南瓜)   ข้าวโพด (玉米)  เต้าหู้ (豆腐) เห็ดหูหนูดำ (黑木耳) หัวไช่เท้า(白萝卜)  รวมถึงชาเขียว