อาหารสมุนไพรจีน สำหรับ ภาวะง่วงนอนและหลับมากผิดปกติ

เรื่องของความผิดปกติของการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ ฝันบ่อย การหลับมากผิดปกติ แพทย์แผนจีนมองว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอวัยวะภายในของร่างกายทั้งสิ้น การรักษาภาวะดังกล่าวจึงต้องใช้หลักการปรับสมดุลตามสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล

แพทย์แผนจีนอธิบายว่า “พลังเว่ยชี่เคลื่อนออกสู่ภายนอก(เส้นลมปราณหยาง)ก็ทำให้ตื่น  พลังเว่ยชี่เคลื่อนเข้าสู่อวัยวะภายใน ก็ทำให้นอนหลับ” (卫气行于阳则寤,卫气行于阴则寐  )

ช่วงกลางวัน ธรรมชาติของพลังแสงอาทิตย์จะส่งเสริมการขับเคลื่อนพลังเว่ยชี่ (卫气)ของร่างกายออกสู่ภายนอก  ช่วงกลางวันคนส่วนใหญ่จึงมีการตื่นนอนและความกระปรี่กระเปร่า ช่วงเวลากลางคืนพลังเว่ยชี่(卫气)จะเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่ภายใน  ทำให้ร่างกายภายนอกขาดความตื่นตัวเข้าสู่ภาวะง่วงเหงาหาวนอนอยากจะหลับ

กล่าวสำหรับคนที่มีภาวะง่วงนอนและหลับมากผิดปกติ มักพบในคนอ้วนคนอ้วนซึ่งจำแนกตามศาสตร์แพทย์แผนจีนที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ประเภท

1. คนอ้วนประเภทเสมหะความชื้นภายในตกค้างสะสม (痰湿内盛)

เนื่องจากระบบม้ามอ่อนแอ ทำหน้าที่ในการย่อยและลำเลียงอาหารได้ไม่ดี หรือเรียกว่าพลังส่วนกลางพร่อง  ทำให้การลำเลียงสารอาหารที่ย่อยสลายไปสู่ส่วนบนไม่ดีพอ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ พลังเว่ยชี่(卫气)ที่อยู่ภายนอกจะถูกดึงจากภายนอกเพื่อไปช่วยในการย่อยดูดซึมและลำเลียงอาหารทำให้พลังที่ผิวภายนอกลดลงอย่างมาก   ผลที่ตามมาคือเกิดการง่วงนอน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการอื่น ๆ ร่วมเช่น สีหน้าไม่ค่อยมีชีวิตชีวา ศีรษะและหนังตาจะหนักๆ  หน้าอกหน้าท้องมักจะแน่นอึดอัด เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย

 2. คนอ้วนประเภทหยางหัวใจและไตพร่อง (心肾阳虚)

ขาดพลังความร้อน-ทำให้เกิดความอบอุ่นกับร่างกายผู้ป่วยมักมีใบหน้าขาดความมีชีวิตชีวา อ่อนเพลีย ไม่ค่อยอยากจะเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายเพราะเหนื่อยง่าย แขนขามักจะเย็น ชีพจรเล็ก ไม่มีกำลัง ร่างกายอ่อนแอ

เมื่อพลังโดยรวมของร่างกายน้อยลง พลังเว่ยชี่(卫气) เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวและการใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินชีวิตในภาวะปกติก็น้อยลงด้วย  จึงทำให้เกิดอาการง่วงนอนตลอดเวลา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีโรครุนแรงมาก่อน แล้วไม่รับการดูแลฟื้นฟูที่ดีพอ

นอกจาก 2 กลุ่มที่พบบ่อยๆทางอีกแล้ว    ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติเช่น

– คนอ้วนประเภทเสมหะร้อน(痰热内闭)    ขี้ร้อน คอแห้งแต่ไม่กระหายน้ำ ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นหนาเหลือง ชีพจรลื่นเร็ว

– ภาวะเลือดและพลังอุดกั้น (气滞血瘀) เช่น บางคนเคยมีอุบัติเหตุที่กระทบกระแทกบริเวณศีรษะทำให้การไหลเวียนเลือดไปสมองติดขัดไม่คล่อง  ตัวผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีประวัติอุบัติเหตุและตัวลิ้นจะมีจุดเลือดอุดกั้นเป็นจ้ำเลือดปรากฏ  ชีพจรฝืด

แนวทางการปรับสมดุล

  • ผู้ป่วยภาวะม้ามพร่องและมีเสมหะความชื้นตกค้าง ต้องให้ยาอุ่นบำรุงม้าม(温中健脾)และยาขับเสมหะสลายความชื้น(祛痰化湿)
  • ผู้ป่วยประเภทที่มีพลังของไตและหัวใจพร่อง  ต้องให้ยาอุ่นบำรุงหยางของหัวใจและไต(温补心肾)
  • ผู้ป่วยภาวะเสมหะร้อน (痰热内闭)  ต้องขับทั้งความร้อน เสมหะและเปิดทวาร
  • ส่วนผู้ป่วยประเภทที่มีเลือดอุดกั้น(气滞血瘀)  ต้องให้ยาเดินพลังสลายเลือดอุดกั้นเปิดทวาร (行气化瘀开窍)

อย่างไรก็ตาม ต้องแยกแยะออกจากภาวะความผิดปกติทางพยาธิสภาพทางสมองให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการวินิจฉัย

ภาวะนอนหลับมากผิดปกติ เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความเสียสมดุลของอวัยวะภายในร่างกาย จึงจำเป็นต้องหารากฐานของปัญหาและแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง ในทางคลินิกใช้หลักการรักษาอาการและรักษาพื้นฐานควบคู่กัน หรือที่เรียกว่า “รักษาทั้งเปลือกและแก่น” (标本同治)

ตำรับอาหารสมุนไพรจีน 1 สำหรับบำรุงม้ามไตขับเสมหะชื้น (พบบ่อย)

ซี่โครงหมูลูกเดือยเม็ดบัว

เครื่องปรุง  ซี่โครงหมู 500กรัม  เม็ดบัว20กรัม  ลูกเดือย 30กรัม  เปลือกส้มเช้ง  5กรัม  ขิง 1 เงี่ยง เกลือเล็กน้อย

วิธีปรุง  ให้เอาลูกเดือย เม็ดบัว ใส่ในน้ำล้างให้สะอาดและแช่ทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมง เอาซี่โครงหมู หั่นเป็นชิ้นๆ  ต้มน้ำให้เดือด แล้วใส่ซี่โครงหมู เม็ดบัว ลูกเดือย ส้มเช้งและขิงที่หั่นเป็นฝอย ใช้ไฟแรงต้มจนเดือดแล้วเปลี่ยนเป็นไฟอ่อนต้มอีกประมาณ 1ชั่วโมง จากนั้นใส่เกลือเล็กน้อยปรุงรสชาติ

สรรพคุณ

ซี่โครงหมู-บำรุงม้าม ตับ ไต  เลือดและพลัง

เม็ดบัว-การบำรุงม้ามบำรุงไต

ลูกเดือย-บำรุงม้ามและขับความชื้นในร่างกาย

เปลือกส้มเช้ง มีฤทธิ์ในการขับเคลื่อนพลังและทำให้มีความอยากอาหาร

ขิงมีฤทธิ์ช่วยอุ่นกระเพาะอาหาร ช่วยการย่อยอาหาร