เรียนรู้สมุนไพร จื่อซู (紫苏)จากตัวนาก (水獭)

เรียนรู้สมุนไพร จื่อซู (紫苏) จากตัวนาก (水獭)

สมุนไพรจีน จื่อซู (紫苏) เป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านทั่วไปในเมืองฉางซา มณฑลยูนาน ใช้กันมานานในการปรุงอาหารโดยเฉพาะอาหาร กุ้งหอยปูปลา ควรจะเติมสมุนไพรจื่อซู (紫苏) ลงไปเล็กน้อย จะให้ฆ่าพิษต่างๆ ของอาหารทะเลได้

 

เรื่องราวของ จื่อซู (紫苏)

เล่ากันว่ามีอยู่วันหนึ่งขณะที่หมอฮวาถัว (华佗) กำลังเดินเก็บสมุนไพรอยู่ริมทะเลแถวๆ ซูเซียน (苏仙) ระหว่างพักเที่ยงอยู่ใต้ต้นสน เขาเหลือบไปเห็นตัวนาก ( 水獭 ) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทหนึ่ง เป็นสัตว์บก สามารถว่ายน้ำและหากินในน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว บางครั้งสามารถกินสัตว์ที่ใหญ่กว่าตัวมันได้) กำลังกลืนปลาทะเลขนาดใหญ่ เมื่อกินเสร็จ ท้องของมันก็พองโต กลมเหมือนกับกลอง แล้วลงไปนอนดิ้น ร้องเสียงดังไม่หยุด แสดงอาการปวดแน่นท้อง

                หมอฮวาถัว เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวรู้สึกดีใจ นับเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้จับตัวนากมาทำยา เพราะตับของตัวนากเป็นสมุนไพรมีค่าหาได้ยาก ทันใดนั้นมีเสียงดัง “โซ่ว” มาจากด้านข้างเขา ปรากฏว่ามีตัวนากที่อายุมากกว่าตัวแรกตัวหนึ่งว่ายน้ำพุ่งออกมา  มันวนรอบๆตัวนากที่นอนอยู่บนหาดทรายแล้วก็หนีหายไป

                หมอฮวาถัวรู้สึกประหลาดใจว่า เจ้านากตัวนี้คงได้ยินเสียงร้องครางครวญจึงออกมา แต่ทำไมมันจึงหนีหายไปอย่างรวดเร็ว มันจะกลับมาอีกหรือเปล่า? ด้วยความสงสัย เขาจึงค่อยๆถอยกลับไปในพุ่มไม้  เฝ้าสังเกตดูว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

                ในที่สุดตัวนากแก่ที่หายไปก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับกิ่งก้านใบไม้สดมีม่วงจำนวนหนึ่งคาบอยู่ในปาก มันวิ่งตรงไปยังตัวนากที่นอนดิ้นอยู่บนชายหาด เมื่อตัวนากที่ร้องครวญครางอยู่ได้กินใบไม้สีม่วงไปสักครู่เดียว ยังไม่ทันตั้งตัว เจ้านาก 2 ตัวก็หายไปจากหาดทราย ได้ยินแต่เสียงกระแทกกับพื้นน้ำทะเลของเจ้าตัวนากทั้งสองที่กระโดดลงสู่ทะเลไปแล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หมอฮวาถัวสงสัยว่า ใบไม้สีม่วงสมุนไพรป่าที่ตัวนากกินเข้าไปรักษาอาการจากการกินปลาสดๆขนาดใหญ่ คืออะไรกันแน่ มันมีสรรพคุณรักษาโรคได้จริงหรือ?

ช่างบังเอิญเหลือเกินในเวลานั้นมีลูกเศรษฐีคนหนึ่งเกิดอาการท้องเสีย อาเจียนไม่หยุดเนื่องจากอาหารเป็นพิษจากการรับประทานปู มีคนนำมาหาหมอฮวาถัว หมอฮวาถัวคิดถึงเจ้าใบไม้ป่าสีม่วงที่สามารถแก้พิษปลาได้ มันน่าจะรักษาพิษของปูได้เช่นกัน เขาจึงให้ลูกศิษย์ไปเด็ดเอาใบไม้สีม่วงมาต้มให้ลูกเศรษฐีกิน ปรากฏว่าอาการปวดท้องหายในทันที ชายหนุ่มรู้สึกชื่นชม ยิ่งภายหลังรู้ว่าเป็นหมอฮวาถัว หมอผู้มีชื่อเสียงถึงกับชมเชยไม่ขาดปาก

                ภายหลังหมอฮวาถัว ทดสอบยาตัวนี้ด้วยตนเอง พบว่านอกจากสรรพคุณทำลายพิษอาหารทะเลแล้ว ยังมีสรรพคุณในการขับเหงื่อ ขับความเย็น จากการกระทบลมและความเย็น อุ่นกระเพาะ แก้อาเจียน จึงตั้งชื่อสมุนไพรนี้ว่า จื่อซู  (紫舒) แปลว่า ใบไม้สีม่วงที่ทำให้สบาย  และเนื่องจากสมุนไพรสีม่วงนี้พบมากบริเวณเนินเขาที่ชายทะเล แถบท้องที่ซูเซียน (苏仙)   คนจึงเรียกชื่อว่าจื่อซู (紫苏) (สีม่วงที่ซูเซียน) จนเป็นชื่อที่เรียกขานกันทุกวันนี้

 
 
 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *