หนึ่งในคำถามที่เจอบ่อยๆคือ เหงื่อออกในเวลากลางคืน ทั้งๆที่นอนในห้องปรับอากาศ เหงื่อมักจะออกตามแนวกระดูกสันหลัง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร และจะแก้ไขอย่างไร
ตัวอย่างคนไข้
ดิฉันอายุ 48 ปี ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง ตั้งแต่ปี 2535 กินฮอร์โมนวันละ 1 เม็ด ปีแรกๆๆๆไม่ค่อยกิน แต่ต่อมากินเกือบทุกวัน
2 ปีที่ผ่านมา กินแคลเซียมเสริมมแบบใส่น้ำฟู่ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 – 3 เม็ด 2 เดือนที่แล้วเปลี่ยนมากินโยเกิร์ตแบบครีม มื้อละ 1 กระป๋อง วันละ 3 กระป๋อง และก่อนนอนบางคืนเพิ่มแคลเซียมเสริม 1 เม็ด พร้อมยาเคลือบกระเพาะ 2 เม็ด เพราะกินแล้วจะระคายกระเพาะ แต่ถ้ากินแคลเซียมเสริมวันละ3 เม็ด เล็บกลับไม่มีปัญหาค่ะ แต่ถ้าไม่กินแคลเซียมเสริมหรือโยเกิร์ต เล็บจะเปราะแตกมาก ภายใน 2 วัน สีเล็บปกติ
ดิฉันอยากจะเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
1. เหงื่อออกในเวลากลางคืนทั้งๆที่นอนในห้องปรับอากาศ เหงื่อมักจะออกตามแนวกระดูกสันหลัง ที่ใดที่หนึ่ง เฃ่นบริเวณเอวขึ้นไปประมาณเกือบคืบ หรือบริเวณแนวไหล่ลงมาเกือบคืบ เพราะอะไรคะ และจะแก้ไขได้อย่างไร
2. เล็บเปราะแยก 2 ชั้น เป็นประจำ เป็นทุกเล็บ เนื่องจากอะไรคะ และจะแก้ไขได้อย่างไร
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
คำตอบ
1. อาการเหงื่อออกกลางคืนมักเกี่ยวข้องกับไตยินพร่อง พลังหยางกลับสู่ภายในร่างกายขณะนอนหลับ ทำให้พลังปกป้องผิวลดลง เหงื่อจึงออกแม้ในขณะที่อากาศเย็น เรื่องของยินพร่อง มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของไตตามทัศนะแพทย์จีน ถ้ามีอาการอื่นร่วม เช่น คอแห้ง ปวดเมื่อเอว ท้องผูก ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ตรวจชีพจรจะพบว่าเบา เร็ว หรือที่ตำแหน่งของไตผิดปกติ มีลิ้นแดง เป็นต้น ก็น่าสนับสนุนว่ามาจากไตยินพร่อง
การรักษาต้องเพิ่มยาบำรุงไตยิน กินอาหารที่มีคุณสมบัติทางยินมากขึ้น ลดดอาหารพวกที่เป็นหยาง
2. เล็บในทางการแพทย์แผนจีน ควบคุมโดยอวัยวะภายในตับและถุงน้ำดี (ตับทำหน้าที่เก็บรักษาเลือด) และทำให้การเคลื่อนไหวของพลังและเลือดเป็นไปด้วยความราบรื่น ความผิดปกติของเล็บสามารถดูได้หลายแบบ เช่น สีเลือด ความมันแวว ความแห้ง ความชุ่มชื้น ลักษณะของส่วนเว้าครึ่งวงกลมที่โคนเล็บ การไหลเวียนกลับของเลือดเร็วหรือช้าเมื่อกดเล็บแล้วปล่อย
ในกรณีนี้ผู้ป่วยผ่าตัดมดลูกรังไข่มาประมาณ 7 ปี อันนี้ต้องวิเคราะห์สาเหตุน่าจะมีปัญหาเรื่องการอุดกั้นของเลือด (อาจแสดงออกที่เป็นก้อนเนื้อ พังผืดของมดลูก ฯลฯ ) หลังผ่าตัดมดลูกจะมีผลกระทบต่อตับและไต (ระบบฮอร์โมนด้วย) จากประวัติถ้าเชื่อมโยงความผิดปกติของตับและไตเข้าด้วยกัน อาจอธิบายได้ว่า พื้นฐานจากตับควบคุมการไหลเวียนเลือดไม่ดี ทำให้เกิดการอุดกั้นของเลือดบริเวณมดลูกมาก่อน หลังผ่าตัดจะมีการสูญเสียเลือดและสารในร่างกายมากขึ้น เลือดเป็นพื้นฐานการสร้างสารจำเป็นอื่นๆ รังไข่ควบคุมฮอร์โมนทางเพศก็เกี่ยวข้องกับไต เมื่อมดลูกและรังไข่ถูกตัดออก สารจำเป็นที่สร้างโดยไตและที่แปรเปลี่ยนมาจากเลือดจะลดลง ทำให้สารยินในร่างกายลดลง เกิดภาวะไตยินพร่องร่วมกับเลือดพร่อง ในกรณีที่ต้องรักษาบำรุงเลือด บำรุงยินเป็นหลัก
อาการแบบนี้มองในทางแพทย์สมัยใหม่อาจบอกว่าเป็นเพราะความผิดปกติของฮอร์โมนภายหลัง การถูกตัดรังไข่ 2 ข้าง อาการที่เล็บเป็นเพราะขาดสารบางอย่าง ผู้ป่วยกินแคลเซียมแล้วอาการดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยแคลเซียมยังไม่อาจแก้ปัญหาเหงื่อออกกลางคืนได้ และการกินยาฮอร์โมน บางครั้งยังมีความกังวลเรื่องการกระตุ้นในเกิดมะเร็ง และอาการหลายอย่างก็ยังไม่ดีขึ้น การแก้ปัญหายังเป็นการแก้เฉพาะจุด ยังเชื่อว่าผู้ป่วยจะยังมีอาการและสิ่งบ่งบอกความเสียสมดุลของอวัยวะภายในอย่างต่อเนื่องมาก่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับข้อมูลโดยการตรวจเพิ่มเติม