แพทย์แผนจีน กับ การออกกำลังกาย

เป็นที่ยอมรับกันว่า การออกกำลังกาย มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยตรรกะแล้ว คนที่ไม่มี การออกกำลังกาย เลยก็ควรจะอายุสั้น แต่บ่อยครั้งกลับพบว่านักกีฬาที่เคยสร้างชื่อเสียงสมัยหนุ่มสาวหลายคนมีอายุสั้นอย่างเหลือเชื่อ เช่น ฟลอเรนซ์ จอยเนอร์ นักวิ่งสาวลมกรดเสียชีวิตในปี 2541 ขณะมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น

บางคนสงสัยตั้งคำถามว่าระหว่างคนที่ทำงานใช้แรงงานกายทั้งวัน (เช่น ผู้ใช้แรงงาน กรรมกร ชาวนา) กับคนที่นั่งสมาธิมากๆ ไม่ค่อยใช้แรงงานกาย (เช่น นักบวช พระ) ใครจะมีอายุยืนยาวกว่า

เต่า เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบเคลื่อนไหว แม้ว่าเคลื่อนไหว ก็เชื่องช้าอืดอาด กลับมีอายุยืนยาว

นกกระเรียน เป็นนกที่อยู่โดดเดี่ยว ขณะบินก็เคลื่อนไหวนุ่มนวลเชื่องช้า ก็มีอายุยืนยาว

แมลงพวก mayfly ที่เคลื่อนไหวเร็วกลับมีอายุสั้น

ปัญหาเรื่องการออกกำลังกาย ความหมายปัจจุบัน กับโบราณแบบจีนก็มีทัศนะแตกต่างกันหลายด้าน

การออกกำลังกาย ในทัศนะแพทย์แผนจีน
ประสานการเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง – ความสมดุล ของยินหยาง
แพทย์แผนจีนมองว่าการเคลื่อนไหวเกิดหยาง  การเคลื่อนไหวก็มีข้อดีของการเคลื่อนไหว
การหยุดนิ่งเกิดยิน  การหยุดนิ่งก็มีข้อดีของการหยุดนิ่ง
แพทย์จีนที่ให้ความสำคัญกับ  ” การเคลื่อนไหว ” คือ ท่านปรมาจารย์ ฮั้วถอ (  หมอฮูโต๋) ท่านกล่าวว่า  ” การเคลื่อนไหวทำให้พลังเคลื่อน หลอดเลือดไม่ติด ขัด ทำให้ไม่เกิดโรค เหมือนดังแกนประตูที่ไม่ผุกร่อน “

ซุนซือเหมี่ยว  กล่าวว่า “การดูแลสุขภาพ ต้องออกกำลังกายแต่น้อย สม่ำเสมอ    อย่าหักโหมเหนื่อยเกินไป เอาแค่ระดับที่พอทนทานได้เป็นพอ ที่กล่าวว่า น้ำที่ไหลจะไม่เน่า แกนประตูหนอนไม่กิน  ซึ่งเป็นผลจากการ เคลื่อนไหว ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอนั้นเอง “

ทัศนะตรงนี้สอดคล้องกับแผนปัจจุบัน คือการออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างเลือดพลังให้กับร่างกาย อวัยวะภายใน กล้ามเนื้อแขนขา เอ็น กระดูก ข้อต่อ การไหลเวียนและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
การออกกำลังกายที่มากเกินไป จะทำให้สูญเสีย พลังหยาง ทำให้สูญเสียความสมดุล ของอวัยวะภายใน และร่างกาย ทำให้แก่เร็ว อายุสั้น จำเป็นต้องพิจารณาการดูแลสุขภาพด้วยการหยุดนิ่งเพราะ สามารถลดการสูญเสียพลังหยาง สารจิง และสารยิน

การดำรงไว้ซึ่งการสมดุลของยินหยางเป็นหัวใจของการมีสุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว
การเคลื่อนไหวเกิดหยาง การหยุดนิ่งเกิดยิน เนื่องจากคนเรามีพื้นฐาน ของร่างกายต่างกัน คนมีพลัง หยางมาก ชอบจะเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ถ้าจับเขาให้อยู่ นิ่งไม่ไปไหน แน่นอนจะเกิดความอึดอัดอยู่ไม่ติด คนที่มีพลังยินมาก ชอบหยุดนิ่ง ไม่ชอบเคลื่อนไหว ถ้าบังคับให้เขาเคลื่อนไหวมากไป ก็จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในทัศนะแพทย์จีน การหยุดนิ่งจึงไม่ใช่การหยุดนิ่ง อย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องประสานกับการเคลื่อนไหวที่พอเหมาะตามลักษณะปัจเจกของแต่ละบุคคล
♦ การเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง มีผลกระทบและสืบเนื่องต่อกัน แยกจากกันไม่ได้

♦ การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่นิ่งก็มีการเคลื่อนไหว ในขณะที่เคลื่อนไหวก็มีการหยุดนิ่ง ขณะที่ข้างนอกเคลื่อนไหว ข้างในก็หยุดนิ่ง ด้านนอกหยุดนิ่ง ข้างในก็เคลื่อนไหว

♦ เคลื่อนไหวถึงที่สุดก็จะหยุดนิ่ง หยุดนิ่งถึงที่สุด ก็จะเคลื่อนไหว เป็นการแปรเปลี่ยนของยินหยาง

ในทางปฏิบัติ การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย และการหยุดนิ่ง มีหลักการดังนี้
1. การออกกำลังกาย มากเกินไป และการหยุดนิ่งมากเกินไป ล้วนไม่ดี ทำลายสุขภาพทั้งคู่

2. การออกกำลังกาย ให้เหงื่อออกพอเหมาะ ไม่ควรให้ออกมากเกินไป เพราะเหงื่อออกมากจะทำลายหยางชี่
เกณฑ์ง่ายๆ ในการพิจารณาคือ ภายหลังการออกกำลังแล้วไม่กี่นาที การหายใจกลับสู่ปกติ การเต้นของหัวใจกลับสู่ปกติ ร่างกายรู้สึกสบาย ปลอดโปร่ง ถือว่าดี
ถ้าหลังการออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเป็นสิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ยังรู้สึกการหายใจและการเต้นของหัวใจยังไม่กลับสู่ปกติ และรู้สึกว่าไม่ค่อยสบาย ถือว่าออกกำลังกายมากเกินไป
  ถ้าหลังการออกกำลังกายแล้ว การหายใจไม่ได้เร็วขึ้น หรือการเต้นของหัวใจไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงน้อย ไม่มีอาการเหนื่อย แสดงว่าออกกำลังกายน้อยไป

3. ผู้สูงอายุต้องเน้นการหยุดนิ่งมากกว่าการเคลื่อนไหว หมายความว่าการหยุดนิ่งเป็นหลัก การเคลื่อนไหวเป็นรอง เวลาเคลื่อนไหวต้องค่อยๆ นุ่มนวล และจบลงอย่างช้าๆ เนื่องจากผู้สูงอายุ สารจิงและพลังหยางค่อนข้างน้อย ต้องไม่ให้มีการกระทบรวดเร็วและรุนแรง การเคลื่อนไหวควบคู่กับการหยุดนิ่งและให้เน้นความนิ่งและเคลื่อนช้าๆ เป็นหลัก

4. คนที่ร่างกายแข็งแรงหรือมีภาวะแกร่งมากต้องเน้นการเคลื่อนไหวเป็นหลัก เช่น คนที่มีความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หัวใจหลอดเลือด แต่ขณะเดียวกันต้องควบคุมภาวะทางจิตใจให้นิ่งสงบควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งหลังการออกกำลังกายแล้วควรผ่อนคลายร่างกายอย่างช้าๆ ทั่วร่างกายและจิตใจ

5. คนที่ร่างกายปกติหรือไม่พร่องไม่แกร่ง ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน เน้นการหยุดนิ่ง เป็นหลัก ประสานกับการเคลื่อนไหว ที่พอเหมาะเป็นด้านรอง

6. การหยุดนิ่งไม่ได้มีความหมายว่าหยุดนิ่งโดยสิ้นเชิง การเคลื่อนไหวก็ไม่จำเป็นต้องให้ได้ขนาดการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ขณะเคลื่อนไหวต้องประสานความหยุดนิ่งที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ขณะเดียวกันก็ควบคุมจิตใจให้สงบประสานกันไปด้วย

7. การบริหารพลังลมปราณในแบบมวยจีนไท้เก้ก หรือแบบอื่นๆ เน้นการกำหนดจิตที่นิ่งมีสติ จะปรากฏการเคลื่อนไหวของพลังลมปราณขึ้นเองตามเส้นลมปราณต่างๆ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า การหยุดนิ่งสามารถเกิดการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหว ที่ได้ขนาดถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะหลั่งสารความสุขออกมา ทำให้จิตสงบนิ่ง มีความสุข

การแพทย์แผนจีนเน้น การออกกำลังกาย ที่พอเหมาะตามสภาพร่างกายของแต่ละคน บางคนให้ยึดการหยุดนิ่งเป็นหลัก คือเคลื่อนไหวแบบช้าๆ ไม่รวดเร็ว ไม่เน้นการทำงานของร่างกายให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันต้องบริหารจิตให้นิ่งควบคู่กันไปด้วย แม้แต่ในยามที่สงบนิ่ง ในการทำสมาธิ เมื่อถึงจุดหนึ่งเลือดลมในร่างกายก็สามารถไหลเวียน คือมีการเคลื่อนไหวในขณะที่หยุดนิ่ง เพราะแพทย์แผนจีนมองว่าการหยุดนิ่งกับการเคลื่อนไหวมีรากฐานเดียวกัน เสริมกัน และแปรเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

การสร้างสมดุลของยิน-หยาง การสร้างสมดุล ของการเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง การประสานการ บริหารทางกายกับบริหารทางจิต เป็นการเสริมสุขภาพที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน แยกจากกันไม่ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

กายต้องเคลื่อนไหวใจต้องสงบนิ่ง

– ออกกำลังกายอย่างไรดี?