โรคอัมพาตใบหน้า

หากมองปัญหาของโรคอัมพาตใบหน้า เราสามารถเปรียบเทียบระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนได้ ดังนี้

1. สาเหตุการเกิดโรคอัมพาตใบหน้า ที่ส่งผลให้เส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบหรือบวม

แพทย์แผนปัจจุบัน ให้ความสนใจไปที่การติดเชื้อไวรัส และกล่าวถึงปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดจากภาวะการกระทบความเย็นและตากลม ความเครียดทางอารมณ์ คนที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือบาดเจ็บบนใบหน้า
ในขณะที่ การเปี้ยนเจิ้งของแพทย์จีน เน้นไปที่ปัจจัยภายใน พื้นฐานร่างกาย บางคนเลือดพลังพร่อง บางคนยินพร่อง หยางแกร่ง (คล้ายกับความดันโลหิตสูง) บางคนเสมหะภายในมาก ระบบการย่อยไม่ดี หรือมีเสมหะสะสมภายในนานๆ (คล้ายกับภาวะไขมันในเลือดสูง) หรือคนที่บาดเจ็บบริเวณใบหน้า (ซึ่งทำให้เส้นลมปราณหยางหมิงถูกกระทบกระเทือนเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน)
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกที่มากระทบ แพทย์จีนโบราณ ไม่มีคำว่า ไวรัส รู้จักแค่การเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มากระทบต่อร่างกายบริเวณใบหน้า จำแนกตามอาการอัมพาตว่ามีลักษณะหน้า ปวด หย่อน ร้อน ว่าเป็นปัจจัยชนิดไหนมากระทบ แล้วทำการใช้ยาขับปัจจัยก่อโรคเหล่านั้นออกไป


2. การรักษา
แผนปัจจุบัน มุ่งไปที่รักษาเพื่อลดอาการบวมและการอักเสบของเส้นประสาทคู่ที่ 7 โดยตรง ระยะเริ่มแรกให้ยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูง และลดขนาดลง ยาต้านไวรัสพิจารณาเป็นรายๆ ไป และปล่อยให้ร่างกายหายเอง
แผนจีน แบ่งแยกลักษณะอัมพาตตามสภาพพื้นฐานสมดุลของร่างกาย และปัจจัยที่ก่อโรค รักษาพื้นฐานร่างกายควบคู่กับการขับปัจจัยก่อโรค เน้นสร้างสมดุลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง
การฝังเข็ม ด้านหนึ่งเน้นเลือกจุดบนเส้นลมปราณหยางหมิงที่หล่อเลี้ยงบริเวณใบหน้า อีกด้านหนึ่งเน้นการขับลมจากภายนอกและปรับลมภายใน เช่น จุดเหอกู่ (合谷) จุดเฟิงฉือ (风池) หรือดึงพลังหยางลงล่าง เช่น จุดไท่ชง (太冲)


3. เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการปวดบริเวณหลังหู ซึ่งเป็นทางเดินของเส้นลมปราณถุงน้ำดี ที่เกี่ยวข้องกับลมในร่างกายและความผิดปกติของเส้นลมปราณ แสดงว่าผู้ป่วยที่มีการติดขัดของพลังลมปราณมาก่อน มีโอกาสเกิดอัมพาตบนใบหน้าได้ง่าย ถ้ากระทบลมและความเย็น
คนที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างมาก มีพยากรณ์โรคไม่ดี ตรงกับแพทย์จีนที่กล่าวถึงผู้ป่วยประเภทนี้ เป็นประเภทพื้นฐานเลือดและพลังพร่องซึ่งถ้าได้รับการรักษาสมดุลร่างกายควบคู่ไปด้วย จะทำให้พยากรณ์โรคดีขึ้น

คนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาต เป็นกลุ่มที่มีพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังหยาง หรือเลือดและพลังไหลเวียนมาได้น้อย จำเป็นต้องปรับสมดุลควบคู่กันไปด้วย

เช่นเดียวกับคนที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งเทียบได้กับที่มีภาวะหยางของตับแกร่งและผู้ป่วยที่มีเสมหะ ความชื้นมาก ก็ต้องปรับระบบย่อย ระบบม้าม รวมทั้งจัดการกับเสมหะ (มีความหมายครอบคลุมถึงภาวะไขมันในเลือดด้วย)


4. ถ้ามองในทัศนะแพทย์จีน การปรับสมดุลของเส้นลมปราณบริเวณใบหน้า ให้เลือดและพลังไหลเวียนดี จะช่วยทำให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้ออัมพาตหายได้เร็วขึ้นได้อย่างแน่นอน การปรับสมดุลด้วยยา ทั้งบำรุง ปรับและขจัดปัจจัยก่อโรค จะยิ่งมีผลทำให้การหายเร็วขึ้น และพยากรณ์ของโรคจะดีขึ้นกว่าการรักษาที่เส้นประสาทคู่ที่ 7 อย่างเดียวล้วนๆ


5. การรักษาแบบจีนใช้หลักเปี้ยนเจิ้ง คนที่เป็นโรคเหมือนกัน รักษาต่างกัน เพราะพื้นฐานร่างกายต่างกัน แต่การรักษาแบบแผนปัจจุบันค่อนข้างเป็นมาตรฐาน คือใช้เพร็ดนิโซโลน ทุกรายเป็นหลัก เพราะเป็นโรคเดียวกัน ต้องมาตรฐานการรักษาเดียวกัน


6. คนที่มีปัญหาพื้นฐานร่างกายผิดปกติ เสียสมดุลและมีปัญหาของเส้นลมปราณบริเวณใบหน้าติดขัดจากสาเหตุใดมาก่อนเป็นทุนเดิม ย่อมมีโอกาสเกิดอัมพาตบนใบหน้าของด้านที่เส้นลมปราณติดขัดหรือมีปัญหาได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีจุดอ่อน
การปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลังหู ปวดต้นคอ ปวดใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ปวดไมเกรนเป็นประจำ บ่งบอกว่าการไหลเวียนของพลังลมปราณติดขัด ต้องระมัดระวังอย่าให้ไปกระทบลมและความเย็นนานๆ โดยเฉพาะเวลานอนต้องระวังพัดลมและแอร์ที่เป่าจ่อบริเวณใบหน้า
ปัจจุบัน โรคจำนวนมาก แม้เราจะหาสาเหตุที่เป็นผลทำให้เกิดโรคได้ เช่น ไวรัสบางตัว หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่การรักษาที่มุ่งเน้นไปแก้ปัญหาเฉพาะส่วน (เช่น ฆ่าไวรัส หรือกดภูมิคุ้มกันก็ดี) ในโรคที่ต้องรักษากันยาวนาน แพทย์ก็เข้าใจดี และพยายามลดปริมาณลง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเอง

การปรับสมดุลแบบแพทย์จีน ถือเป็นวิธีการช่วยให้ร่างกายปรับตัวและมีศักยภาพในการรักษาตัวเอง อีกวิธีหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการปรับสมดุลทั้งระบบอวัยวะภายในและระบบเส้นลมปราณ (ซึ่งเชื่อมโยงไปอวัยวะภายในด้วย)
การสร้างปัจจัยที่เหมาะสมหรือการปรับสมดุลภาวะแวดล้อมของร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างยาในร่างกายมารักษาตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งจากภายนอก หรือใช้จากภายนอกให้น้อยสุด ทำให้การรักษาหายเร็วขึ้น และลดภาวะทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
อัมพาตใบหน้า ในทัศนะเปรียบเทียบ 2 แผน คงให้แง่คิดแก่ผู้สนใจช่วยกันศึกษาเพิ่มเติม ให้รอบด้านยิ่งๆ ขึ้นไป