ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ในมุมแพทย์แผนจีน

สำหรับระบบย่อยและดูดซึมอาหาร แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญของการทำหน้าที่ร่วมกันของอวัยวะม้ามและกระเพาะอาหาร โดยกระเพาะอาหารทำหน้าที่รับและย่อยอาหารและส่งไปลำไส้เล็กเพื่อย่อยจนได้สารจำเป็น และแยกแยะอาหารที่ถูกย่อยแล้วในสิ่งที่ดี (ใช้ได้) กับสิ่งที่ข้น (ใช้ไม่ได้) ส่วนดีจะถูกส่งไปที่ม้าม ม้ามทำหน้าที่ลำเลียงสารจำเป็นนี้ไปใช้ทั่วร่างกาย ส่วนลำไส้ใหญ่ทำหน้าขับอุจจาระและควบคุมการดูดซึมกลับของน้ำ

กระเพาะอาหาร

เป็นอวัยวะที่ไม่ชอบความแห้งชอบความชื้น(恶燥喜润) ไม่ชอบร้อนชอบความเย็น(恶热喜凉) ไม่ชอบการสะสมแต่ชอบการระบายลงล่าง(恶积喜降) ตรงข้ามกับการทำหน้าที่ของม้าม

หน้าที่สำคัญของกระเพาะอาหารมี 3 อย่างคือ

  1. รองรับอาหารและน้ำ (主受纳) เสมือนขุนนางที่ทำหน้าที่ดูแลเก็บกักอาหารเสบียงกัง (仓廪之官,主纳水谷) เป็นที่เก็บอาหารที่ผ่านการเคี้ยวในปาก และเดินทางผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหารจึงเป็นเสมือนทะเลของน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไป 胃为“水谷之海”ถ้าลมปราณกระเพาะอาหารจะทำให้เก็บกักอาหารเพื่อทำการย่อยเบื้องต้นได้ดี มีความอยากอาหาร ทานอาหารได้มาก
  2. การย่อยอาหาร กระเพาะอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหารในระดับต้นๆ (腐熟水谷) เพื่อให้มีขนาดเล็กลงแล้วส่งไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก
  3. ควบคุมการไหลลงของพลังสู่ด้านล่างในการขับเคลื่อนอาหารและการขับถ่ายอุจจาระ เพื่อการย่อยที่ลำไส้เล็กและการขับถ่ายที่ลำไส้ใหญ่ เป็นการสร้างสมดุลของพลังแกนกลางของร่างกาย โดยทำงานคู่กับพลังของม้ามที่มีทิศทางขึ้นบนเพื่อส่งลำเลียงสารจำเป็นไปอวัยวะปอด

ม้าม

ม้ามถือเป็นต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต โบราณกล่าวว่า “ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นรากฐานของชีวิตหลังกำเนิด” 故称脾胃为“后天之本” ทำหน้าที่ควบคุมเลือด พลังลมปราณ ม้ามเป็นธาตุดินมีความเชื่อมโยงกับกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อ ริมฝีปากและปาก

ตำราแพทย์จีนโบราณได้บันทึกรูปร่างของม้าม มีลักษณะโค้งแบนเหมือนเคียว คล้ายกายวิภาคของตับอ่อนในแผนปัจจุบัน ม้ามในความหมายแพทย์แผนจีนมีหน้าที่ในการควบคุมเลือด สร้างน้ำย่อยในการย่อยอาหาร การดูดซึม ลำเลียงอาหาร อวัยวะม้ามจึงมีหมายถึงครอบคลุมถึงม้ามและตับอ่อน รวมถึงลำไส้เล็กด้วย

หน้าที่ของม้าม

  1. ควบคุมการเคลื่อนขับเคลื่อน การย่อย ดูดซึมและลำเลียง (脾主运化)

ม้ามตามความหมายแพทย์แผนจีนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการย่อยอาหารที่รับประทานและดูดซึมสารอาหาร (หน้าที่ของลำไส้เล็กในความหมายแผนปัจจุบัน)และส่งสารจำเป็นที่ได้จากการย่อยแล้ว(ภายหลังการแยกแยะของลำไส้เล็ก)ส่งไปยังปอดและหัวใจเพื่อส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ม้ามจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตหลังกำเนิด ถ้าทำงานของม้ามดี ทำให้มีการสร้างเลือดและพลังลมปราณได้ดี สุขภาพแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเดิน อ่อนแอ ไม่มีพลัง เลือดและพลังพร่อง

  การส่งลำเลียงมี  2 ความหมายคือลำเลียงสารจำเป็นละลำเลียงน้ำหรือความชื้น运化水谷和运化水液(水湿)

  • ม้ามควบคุมการดูดซึมและการลำเลียงน้ำและช่วยรักษาสมดุลของน้ำ(运化水湿)ม้ามจะช่วยดูดซึมน้ำในทางเดินอาหาร และนำน้ำส่วนที่เหลือไปที่ไตเพื่อขับออกทางปัสสาวะ ถ้าม้ามอ่อนแอ การดูดซึมน้ำในทางเดินอาหารน้อยลง จะเกิดการคั่งของน้ำ เกิดอาการบวม เกิดความชื้นและเสมหะ
  •  ม้ามเป็นแหล่งของการสร้างเลือดและพลัง “脾胃为气血生化之源”อาหารที่รับประทานไป ต้องผ่านการย่อย การดูดซึมและการลำเลียงไปปอด รวมถึงการแปรสภาพเป็นเลือด ต้องอาศัยการทำหน้าที่ของม้ามทั้งสิ้น ถ้าม้ามอ่อนแอ จะทำให้การสร้างเลือดลดน้อยลง เกิดอาการเลือดพร่อง มีอาการชา วิงเวียน ตาลาย หน้าซีด ปากซีด ลิ้นซีด
  •  ม้ามควบคุมพยุงไม่ให้เลือดออกนอกหลอดเลือด(脾主统血) ควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดของร่างกาย(脾裹血) ถ้าม้ามพร่อง. ทำให้เกิดเลือดออกง่าย เลือดออกใต้ผิวหนัง อุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมากผิดปกติ
  • ม้ามช่วยให้อวัยวะภายในมีตำแหน่งยึดเกาะมั่นคง ช่วยกายพยุงดึงรั้งให้พลังขึ้นบน พลังลมปราณของม้าม มีทิศทางขึ้นบน (脾气主升)จึงสามารถส่งสารอาหารไปปอดและหัวใจและส่งต่อไปทั่วร่างกาย  พลังของม้ามอ่อนแอจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ท้องเดิน รวมถึงอวัยวะภายในหย่อนสู่เบื้องล่าง
  • ม้ามชอบความแห้งไม่ชอบความชื้น (喜燥恶湿)ไม่ชอบความเย็นชอบความอุ่น(恶凉喜温) ไม่ชอบขับระบายแต่ชอบการลำเลียง(恶泄喜运)

ความชื้นจากภายนอกสามารถจะกระทบการทำงานของม้ามได้ง่าย ทำให้มีอาการหนักศีรษะ ท้องอืด แน่น เบื่ออาหาร หรือท้องเดินได้ บางครั้งทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหารมีเสมหะ บวมน้ำ

  • ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อและแขนขา(脾主身之肌肉)

ม้ามมีหน้าที่ในการย่อย ดูดซึมและส่งผ่านสารอาหารไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ แขนขาทำให้เจริญเติบโตเติบโตแข็งแรง ถ้าม้ามทำงานปกติ กล้ามเนื้อจะมีความหนาแน่นและแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ ร่างกายจะขาดอาหารทำให้กล้ามเนื้อแขนขาลีบเล็กไม่มีแรง

  • ม้ามเปิดทวารกับปาก แสดงออกภายนอกที่ริมฝีปาก (脾开窍于口,其华在唇)
  • เกี่ยวข้องกับน้ำลายส่วนที่ใส(在液为涎 涎为口津,唾液中较清稀的称作涎)น้ำลายประกอบด้วยสารไกลโคโปรตีน ที่มีลักษณะลื่นและน้ำย่อยเอมไซม์อะไมเลส
  • ปากเป็นส่วนที่สูงสุดของทางเดินระบบการย่อยอาหาร ความอยากอาหาร การรับรสชาติอาหารที่ดีสะท้อนการทำงานของม้าม ริมฝีปากเป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อริมฝีปากที่มีเลือดและพลังหล่อเลี้ยงดี จะมีสีเลือด มีน้ำมีนวล ชุ่มชื้นสดใส ถ้าม้ามพร่องจะทำให้ริมฝีปาก กล้ามเนื้อบนใบหน้าซีดมีสีออกเหลือง
  • ม้ามสัมพันธ์กับความชื้น ธาตุดิน สีเหลือง รสหวาน
  • ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนกลางของช่องว่างในลำตัว สังกัดธาตุดิน (脾胃五行属土,属于中焦) ม้ามกลัวความชื้น
  •  ความชื้นจากภายในและภายนอกมากระทบ สามารถทำให้ท้องอืด  แน่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนเพลีย ฝ้าบนลิ้นหนา ถ้ามีความร้อนชื้นในม้ามมากเกินไป จะทำให้มีรสหวานในปาก ยาที่มีรสหวานจะมีสรรพคุณในการบำรุงม้าม
  • เกี่ยวข้องกับอารมณ์กันการครุ่นคิดต่าง ๆ (脾在志为思)  การครุ่นคิดมากเกินไปจะทำให้พลังชี่ติดขัด ทำให้เกิดการทำงานของม้ามในการย่อยดูดซึมและลำเลียงลดน้อยลง  เกิดอาการเบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ

  ลำไส้เล็ก

ลำไส้เล็กมีความสัมพันธ์กับการทำหน้าที่กับกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่และม้าม

หน้าที่สำคัญคือ ช่วยย่อยอาหาร และทำหน้าที่เป็นตัวแยกสารจำเป็น(สารที่ดี)ออกจากสารที่ไม่ต้องการ(สารขุ่นข้นที่ไม่นำไปใช้) เป็นที่ซึมผ่านของน้ำ ส่งต่อกากไปลำไส้ใหญ่ ส่วนสารจำเป็นจะส่งไปที่ม้ามเพื่อลำเลียงสู่ปอด หัวใจและส่งไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย การเสียหน้าที่ในการแยกแยะจะทำให้อุจจาระและปัสสาวะผิดปกติ เกิดอาการท้องเสียหรือปัสสาวะน้อย

เนื่องจากลำไส้เล็กมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรงกับหัวใจ ไฟหัวใจร้อนจะทำให้ลำไส้ร้อน มีน้ำน้อยลง ปัสสาวะน้อย แสบขัด ในทางกลับกัน

ลำไส้เล็กมีความร้อนจะส่งผลให้เกิดความร้อนที่หัวใจ ทำให้หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปากเป็นแผล

ลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กับปอด ถ้าร่างกายขาดของเหลว(จินเย่) อุจจาระจะแห้งแข็งทำให้ท้องผูก ถ้าร่างกายมีของเหลว(จินเย่)มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการท้องเสีย

กลไกพลังของกระเพาะอาหารมีทิศทางลง ช่วยทำให้การถ่ายอุจจาระของลำไส้ใหญ่ปกติ

กลไกพลังของปอดมีทิศทางลง ช่วยขับเคลื่อนน้ำของเหลวมายังลำไส้ใหญ่ถ้าพลังปอดมาพอ จะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน