โรคอัมพาตใบหน้า ในทัศนะแพทย์แผนจีน

สาเหตุของการเกิดโรค
1. ส่วนใหญ่เกิดจากบริเวณใบหน้ากระทบกับลมและความเย็น (风寒) เป็นการกระทบของลมต่อเส้นลมปราณจิงลั่ว (风中经络) ทำให้พลังไม่สามารถไปเลี้ยงใบหน้าได้ มีอาการอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก มีอาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท แบบเฉียบพลัน
2. เส้นลมปราณหยางหมิงของขาที่วิ่งผ่านบริเวณปาก มีภาวะพร่อง ขาดพลังหล่อเลี้ยง เมื่อโดนลมกระทบ เกิดการหดตัวไม่คล่อง ลมที่กระทบมีทั้งลมเย็น ลมร้อน ลมชื้น ลมเสมหะ รวมถึงภาวะเลือดอุดกั้น ภาวะพลังและเลือดติดขัด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปาก ตา บิดเบี้ยวได้ทั้งสิ้น

การวินิจฉัยแบบเปี้ยนเจิ้ง
 (辨症论治)
1. ลมกระทบจากภายนอก ทำให้เกิดอัมพาตที่ใบหน้า (风邪外袭)
ลมรวมกับปัจจัยก่อโรคอาจเป็นความเย็น ความร้อน ความชื้น เมื่อมากระทบบริเวณใบหน้า คือ เส้นพลังลมปราณของหยางหมิงที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนใหญ่ ทำให้เลือดและพลังไหลเวียนไม่คล่อง กล้ามเนื้อที่ตาและปากอ่อนแรง ทำให้บิดเบี้ยวเพราะไม่มีกำลัง การรับความรู้สึกบนใบหน้าผิดปกติ
กระทบ ลมเย็น-กล้ามเนื้อใบหน้าปวดเกร็ง เพราะความเย็นทำให้หดตัว
กระทบ ลมร้อน-กล้ามเนื้อใบหน้าหย่อน ผิวหนังร้อนแดง
กระทบ ลมชื้น-กล้ามเนื้อใบหน้า หน้าบวม บางครั้งมีอาการปวดร่วมด้วย
2. ลม ตับ เคลื่อนไหวภายใน (肝风内动)
มีอาการอัมพาตใบหน้า ร่วมกับมีพื้นฐานร่างกายเป็นคนที่มีภาวะตับแกร่งหรือยินพร่อง-หยางแกร่ง มักมีอาการเวียนศีรษะ แขนขาชา ภาวะหยางที่มากเกินไปทะลวงผ่านเส้นลมปราณ
หยางหมิงบริเวณใบหน้า ทำให้ใบหน้าแดงก่ำ เวียนศีรษะมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีลิ้นแดงออกม่วง ชีพจรเร็วและตึงมีกำลัง ฝ้าบนลิ้นเหลือง หรือมีฝ้าบนลิ้นน้อย ตัวลิ้นแห้ง
3. ลมเสมหะอุดกั้นเส้นลมปราณ (风痰阻络)
มีอาการอัมพาตบริเวณใบหน้า ร่วมกับพื้นฐานร่างกายที่บ่งบอกว่ามีเสมหะอุดกั้น กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีระบบม้ามอ่อนแอ ทำให้เกิดเสมหะ เสมหะที่สะสมตัวนานเข้า ทำให้พลังอุดกั้น เกิดลม-เสมหะ ปิดกั้นส่วนบนของร่างกาย คือ เส้นลมปราณหยางหมิงที่บริเวณใบหน้า ผู้ป่วยมักจะมีใบหน้าชา มีเสียงเสมหะในคอ ลิ้นแข็งทื่อ ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว ชีพจรตึงลื่น
4. เลือดและพลังพร่อง (气血双亏)
มีอัมพาตของใบหน้า ร่วมกับพื้นฐานร่างกายเป็นคนอ่อนแอ เลือดและพลังพร่อง กล่าวคือ กล้ามเนื้อใบหน้าจะอ่อนแรง กล้ามเนื้อเหลว เสียงพูดไม่มีกำลัง (ไม่ค่อยอยากจะพูด) ชีพจรเล็ก เบา ขาดพลัง ลิ้นซีด นุ่ม ฝ้าบนลิ้นขาวบาง

แนวทางการรักษา
1. ลมภายนอกกระทบ (风邪外袭)
    หลักการรักษา
    ลมเย็น : ใช้หลักการ ขับลม สลายความเย็น (疏风散寒)
    ตำรับยาที่ใช้ เก๋อเกินทัง (葛根汤) ปรับลดตามสภาพ
    ลมร้อน : ใช้หลักการ ขับลม ขับความร้อน (疏风清热)
    ตำรับยาที่ใช้ เก๋อเกินเจี่ยจีหัว (葛根解肌汤) ปรับลดตามสภาพ
    ลมชื้น : ใช้หลัก ขับลม สลายความชื้น (疏风散湿) 
ตำรับยาที่ใช้ เชียงหัวเซิ้งสือทัง (羌治胜湿汤) ปรับลดตามสภาพ 
2. ลมตับเคลื่อนไหวภายใน (肝风内动)
    หลักการรักษา สงบตับ สงบลม
    ตำรับยาที่ใช้ เจิ้นกานสีเฟิงทัง (镇肝熄风汤) และเทียนหมาโกวเถิงหยิ่น (天麻钓藤饮)
3. ลมเสมหะปิดกั้นเส้นลมปราณลั่ว (风痰阻络)
    หลักการรักษา ขับลม สลายเสมหะ ทะลวงเส้นลมปราณ (祛风化痰,舒通经络)
    ตำรับยาที่ใช้ เชวียนเจิ้งส่าน (牵正散) ปรับลดตามสภาพ 
4. เลือดและพลังพร่อง (气血双亏)
    หลักการรักษา บำรุงเลือดและพลัง ทะลวงเส้นลมปราณ (补养气血,通经活络)
    ตำรับยาที่ใช้ อู่หยางหวนอู่ทั่งและเอ่อฉงส่าน (五阳还五汤,二虫散)