ฤดูหนาว เป็นอีกหนึ่งฤดูที่มักส่งผลกระทบถึงปัญหาสุขภาพหลายประการ ทั้งไอ จาม เป็นไข้ เป็นหวัด รวมถึงภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถือเป็นเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกทางหนึ่ง
1. ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น (多点水) การดื่มน้ำอุ่นมากพอจะช่วยทำให้อุ่นภายในร่างกาย และทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำหล่อเลี้ยง ป้องกันความแห้งจากอากาศ ปริมาณน้ำต่อวันควรอยู่ที่ 2 – 3 ลิตร
2. ให้เหงื่อออกเล็กน้อย (出点汗) การเคลื่อนไหวควรให้อยู่ในระดับที่เรียกเหงื่อก็พอ หากออกกำลังกายหักโหมเกินไป จะเสียเหงื่อเสียพลังที่สะสมอยู่ ทำให้ขัดหลักการถนอมพลังหยางและทำให้รูขุมขนเปิด เสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
3. สนใจป้องกันโรค (防点病) ควรป้องกันและรักษาความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ ระวังหลีกเลี่ยงลมแรง และการแปรปรวนของอุณหภูมิที่รวดเร็ว ในช่วงนี้ปัจจัยก่อโรคได้แก่ ลม ความเย็น และความแห้ง ต้องป้องกันเสียชี่เหล่านี้ให้ดี (ทางแผนปัจจุบันจะพูดถึงเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด หัด หัดเยอรมัน ฯลฯ ) ควรเตรียมยาฉุกเฉินประจำตัว โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจไว้ให้พร้อม
4. ปรับอารมณ์และจิตใจ (调点神) ฤดูกาลนี้คนมักจะเฉื่อยชา เพราะพลังธรรมชาติหดตัวเก็บสะสมตัว กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายก็น้อยลง สภาพทางจิตใจก็จะหดหู่ เก็บกด ทำให้หงุดหงิดง่าย มีแรงกดดันภายในมาก คนโบราณเรียกว่าอาการเก็บกดทางอารมณ์ที่แสดงออกในฤดูหนาวว่า “โรคทางจิต อารมณ์ที่ระบาดในฤดูหนาว” (冬季心理流感) ดังนั้น ควรเตรียมจิตใจให้พร้อม ออกไปเดินเล่นพักผ่อน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ตามความเหมาะสม ป้องกันการเก็บกดของอารมณ์
5. เข้านอนเร็วขึ้น (早点睡) การนอนเร็วขึ้นหรือเข้านอนหัวค่ำก็เพื่อป้องกันการเสียพลังงาน เพราะถ้านอนดึกเราจะเสียพลังหยางจากกิจกรรมต่างๆ ในช่วงกลางคืนที่มีพลังหยางน้อยอยู่แล้ว การนอนเร็วสักนิด คือการบำรุงถนอมพลังหยาง (早睡以养阳气) การตื่นสายสักหน่อย เพื่อเป็นการเก็บยินและสารจิงให้มากที่สุด (迟起以固阴精) เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจึงควรรีบตื่นนอน เพื่อรับพลังหยางได้มากที่สุด การนอนมากกว่าปกติอีกหน่อย เพื่อสะสมสารยินและสารจิงให้มากที่สุดเช่นกัน นี่คือหลักการบำรุงไต ซึ่งเป็นการควบคุมสมดุลยินหยางของร่างกายที่เป็นธรรมชาติที่สุด การนอนดึกตื่นสายๆ จะทำลายพลังหยาง เก็บพลังหยางไม่พอ ยังเป็นการทำลายยินและสะสมยินไม่พออีกด้วย
6. ต้องบำรุงร่างกาย (进点补) การบำรุงร่างกายต้องสอดคล้องกับบุคคลแต่ละคน ถือหลัก “หนึ่งคน หนึ่งวิธี” (一人一法…)
คนที่หยางพร่อง (พลังความร้อนในตัวน้อย) เลือกอาหารพวกเนื้อแพะ เนื้อวัว เนื้อไก่ ฯลฯ
คนที่เลือด พลังและยินพร่อง เลือกเนื้อเป็ด เนื้อห่าน
คนที่กินอาหารฤทธิ์ร้อนไปหรือฤทธิ์เย็นไปไม่ได้ ให้เลือกสมุนไพร เก๋ากี้ (枸杞) พุทราจีนสีดำ (黑枣) เห็ดหูหนู (木耳 ) งาดำ (黑芝麻) เนื้อเห้อเถา (核桃肉) ถั่วลิสง (花生) ฯลฯ
7. ต้องดูแล “เท้า” (护点脚) แพทย์แผนจีนกล่าวว่า “ความเย็นเริ่มต้นจากใต้ฝ่าเท้า” (寒从脚底生)
เท้าเป็นอวัยวะส่วนล่างสุด มีไขมันน้อย ความอบอุ่นน้อยกว่าส่วนอื่น เท้ายังเป็นบริเวณที่มีจุดฝังเข็มมากกว่า 60 จุด เป็นทางเดินของเส้นลม (ประมาณ 6 เส้น) มาบรรจบกัน การทำให้เท้าอุ่นจึงเป็นการทำให้ร่างกายอุ่น การดูแลเท้าที่ดีเป็นการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายที่ดี
กลางฝ่าเท้ามีจุดฝังเข็มชื่อ หย่งเฉวียน (涌泉) เป็นจุดเส้นลมปราณไต ถ้ากระตุ้นนวด และแช่น้ำอุ่นบริเวณเท้าทุกวัน เช้า-เย็น ประมาณครั้งละ ครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมง จะทำให้เกิดความอบอุ่นและแข็งแรงแก่ไต เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคหน้าหนาว
ควรใส่ถุงเท้านอน และหลีกเลี่ยงไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นปูนที่เย็น
8. ดื่มน้ำชาแดง (饮点茶) ข้อสำคัญคนที่หยางพร่อง ร่างกายมีความเย็นมาก ควรเลือกชาแดงเกรดดีๆ หน่อย เพราะชาแดงจะมีฤทธิ์อุ่น รสหวาน สามารถเพิ่มหยาง ให้น้ำตาลและโปรตีน ทำให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายดีขึ้น (อย่าลืมต้องเป็นชาแดง ชาอุ่นๆ ไม่ใช่ชาเขียวใส่น้ำแข็ง หรือแช่เย็นอย่างในบ้านเรา)
9. กินโจ๊กเพิ่มพลังความร้อน (喝点粥) ฤดูหนาวอากาศแห้ง หนาว การกินโจ๊กหรือน้ำข้าวต้มร้อนๆ ตอนเช้า ให้พลังความร้อนแล้ว และให้ความชุ่มชื่นแก่คอ (ไม่ฝืด) ป้องกันอาการคอแห้ง เจ็บคอ เนื่องจากขาดน้ำหล่อเลี้ยง
10. ระบายอากาศบ้าง (通点风) อากาศหนาว มักจะปิดประตูหน้าต่าง ป้องกันลมเข้า ทำให้อากาศไม่ไหลเวียน ก๊าซออกซิเจนในห้องลดน้อยลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก
นอกจากนี้ เชื้อโรคยังก่อตัวได้ง่าย ในอากาศที่แห้ง เป็นปัจจัยให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ควรเปิดให้มีการระบายอากาศ โดยเฉพาะช่วงเช้า และช่วงบ่ายถึงค่ำ ในช่วงที่อากาศยังไม่หนาวเย็น ถ้าอากาศเย็นจัดควรเปิดระบายลมเป็นช่วงๆ