7 อาการไอ ในมุมมองแพทย์แผนจีน

ปอดเหมือนหลังคาหรือสิ่งปกคลุมอวัยวะจั้งอื่นๆ (肺为华盖)  เปรียบเสมือนเครื่องกำบังสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงภายนอก เช่น ลม แดด ฝน หิมะของรถม้า(车盖)พระที่นั่งของกษัตริย์โบราณ  การเปลี่ยนแปลงภายนอกหรือปัจจัยก่อโรคภายนอกต้องมากระทบสิ่งกำบัง(อวัยวะปอด)ก่อนที่จะบุกรุกไปที่อวัยวะอื่นๆ  ปอดเป็นอวัยวะที่บริสุทธิ์และอ่อนแอ (清虚之体) การเปลี่ยนแปลงของอากาศมีผลกระทบโดยตรงกับการรับความรู้สึกของผิวหนังและอากาศที่เข้าสู่ถุงลม จึงเป็นด่านแรกของการถูกรุกรานจากภายนอกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอากาศภายนอก

อากาศในปอดไม่บริสุทธิ์ ทำให้กลไกของปอดในการกำกับการแพร่กระจายของชี่  และการกำกับพลังลงล่าง(肺气不清,失于宣肃) หรือหายใจเข้าดูดซับเอาสิ่งดี หายใจออกเอาขับสิ่งที่เสีย(吸清呼浊) เสียหน้าที่ เกิดพลังย้อนขึ้นด้านบนและเกิดเสียงไอ บางครั้งร่วมกับการขากเสมหะ

กลไกการเกิดโรค

เนื่องจากเหตุแห่งโรคและการปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่างกันทำให้มีลักษณะการไอแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแบ่งเป็น

  1. สาเหตุมาจากปัจจัยก่อโรคภายนอกเป็นด้านหลัก เช่น ลมเย็น ลมร้อน ความแห้ง การแสดงออกของโรคเป็นแบบเฉียบพลัน รวดเร็ว ระยะเวลาดำเนินของโรคสั้น มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ กลัวความเย็น และไอมีเสมหะ
  2. สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน คือภาวะเสียสมดุลของการทำงานของอวัยวะภายใน การแสดงออกของโรคเป็นแบบช้าๆ เรื้อรัง ระยะเวลาดำเนินของโรคใช้เวลานาน

7 กลุ่มอาการไอ วินิจฉัยแบบแพทย์แผนจีน

1.ลมเย็นโจมตีปอด(风寒犯肺)

อาการสำคัญ  เริ่มต้นไอคันคอ ไอเสียงดัง หายใจเร็ว ขากเสมหะใส เป็นฟอง มีอาการแน่นจมูก น้ำมูกใส ฝ้าบนลิ้นขาวบาง ชีพจรลอย ถ้าเป็นนานๆจะเปลี่ยนเป็นความร้อน น้ำมูกเสมหะจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง

หลักการรักษา:  ขับกระจายลมและความเย็น  แพร่กระจายชี่ของปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ : ซานเอ่าทังร่วมกับจื่อโซวซ่าน三拗场合止嗽散(Sān ǎo tāng ร่วมกับ zhǐ sou sàn)

2.ลมร้อนโจมตีปอด(风热犯肺)

อาการสำคัญ  ไอมีเสมหะสีเหลืองเหนียว หายใจแรง ร่วมกับอาการเจ็บคอ คอแห้ง น้ำมูกเหลือง ฝ้าบนลิ้นเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว

หลักการรักษา:  ขับลมระบายความร้อน  แพร่กระจายชี่ของปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้: ซางจวี๋หยิ่น桑菊饮(sāng jú yǐn)

3.ความแห้งทำลายปอด(燥邪伤肺)

อาการสำคัญ  ไอแห้งๆไม่มีเสมหะหรือมีเสมหะน้อย จมูกและคอแห้ง ตัวลิ้นแดงแห้ง ไม่มีน้ำลาย ชีพจรเร็ว

หลักการรักษา:  ขับลมทำให้ปอดบริสุทธิ์  ให้ความชุมชื้นกับปอด หยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้: ซางซิ่งทัง 桑杏汤(sāng xìng tang)

4.เสมหะความชื้นสะสมในปอด(痰湿蕴肺)

อาการสำคัญ  ไอมีเสียงดังมีเสลด จุกแน่นในอก เสมหะมากสีขาวเหนียว ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลื่น

หลักการรักษา:  สลายความชื้นเสมหะ ปรับพลังหยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ :เอ่อเฉินทัง ร่วมกับซานจื่อหย่างชินทัง二陈汤合三子养亲汤 

(èr chén tāng huì sān zi yǎng qīn tāngX

5.เสมหะร้อนปิดกั้นปอด(热郁肺)

อาการสำคัญ  ขากเป็นเสมหะเหลืองเหนียว แน่นหน้าอก หายใจเร็ว ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียวชีพจรลื่นเร็ว

หลักการรักษา: ขับร้อนดึงพลังปอดลงด้านล่าง ขับเสมหะหยุดอาการไอ

ตำรับยาที่ใช้ :ชิงจินฮว่าถานทัง清金化痰汤(qīng jīn huà tán tāng)

6.ไฟตับรุกรานปอด(肝火犯肺)

อาการสำคัญ  ไอเกิดจากพลังย้อนขึ้น มีอาการหอบ ทำให้ปวดชายโครง ฝ้าบนลิ้นเหลืองและแห้ง ชีพจรตึงเร็ว

หลักการรักษา:ระบายร้อนตับขับไฟปอด สลายเสมหะหยุดอาการไอ(清肝泻肺,化痰止咳)

ตำรับยาที่ใช้ :ต้ายหาซ่านร่วมกับหวงฉินเซี่ยไป๋ซ่าน黛蛤散合黄芩泻白散(Dài há sàn hé huángqín xiè bái sàn)

7.ยินของปอดพร่อง(肺阴亏耗)

อาการสำคัญ  ไอแห้งไม่มีเสมหะบางครั้งมีเลือดปน ตัวลิ้นแดงมีฝ้าบนลิ้นน้อย ชีพจรเล็กเร็ว

หลักการรักษา:เสริมบำรุงยินของปอด สลายเสมหะหยุดอาการไอ(滋阴润肺,化痰止咳)

ตำรับยาที่ใช้ :ซาเซินม่ายตงทัง沙参麦冬汤(shā shēn mài dōng tāng)

ทำไมการเปลี่ยนแปลงของอากาศจึงกระทบต่ออวัยวะปอด?

ผิวหนังเป็นส่วนที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรับรู้การเปลี่ยนแปลงอากาศ ความร้อน ความเย็น ความชื้น ความแห้ง อากาศที่หายใจเข้าไปเข้าสู่ปอดโดยตรงไปถึงถุงลม

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรงของอากาศภายนอกมีผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะถ้าร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอ เนื่องจากสิ่งกระตุ้นรุนแรงหรือระบบการทำงานของร่างกายอ่อนแอ

ทำไมดื่มน้ำเย็นแล้วทำให้เกิดอาการไอ?

เวลาดื่มน้ำเย็น ความเย็นจะเดินทางจากปากผ่านลำคอสู่กระเพาะอาหารซึ่งเป็นบริเวณส่วนกลางของช่องว่างลำตัว(จงเจียว 中焦)

เส้นลมปราณปอดเริ่มต้นจากจงเจียว ไหลเวียนขึ้นด้านบนผ่านหูรูดกระเพาะอาหาร ผ่านกระจายเข้าปอด และเคลื่อนไปยังบริเวณลำคอแล้วออกด้านข้างสู่ส่วนแขนด้านหน้า(ด้านยิน)ออกสู่นิ้วหัวแม่มือ

ความเย็นจากอาหารหรือน้ำเย็นจึงสามารถกระตุ้นอวัยวะปอด หรือเท่ากับปอดได้รับการกระตุ้นจากความเย็นนั่นเอง