คนเราในวัยหนุ่มสาว พลังชีวิตหรือพลังหยางของร่างกายกำลังเต็มเปี่ยมเหมือนกับดวงอาทิตย์ในช่วงเช้าจนถึงเที่ยง พอวัยกลางคนพลังหยางของร่างกายค่อยๆ ถดถอย จนถึงวัยชราก็เหมือนกับหลัง 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ดูทุกอย่างกำลังกับเข้าสู่ความสงบ ความหยุดนิ่ง นั่นคือ กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ
การแสวงหาสมดุลแห่งชีวิต และการมีสุขภาพที่แข็งแรงอายุยืนยาวเพื่อให้ความฝันเข้าใกล้อายุไขที่ยาวนานมากที่สุดโดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บให้ทนทุกข์ทรมาน เป็นความประสงค์สูงสุดหนึ่งของมนุษย์
คนจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อถึงวัยนี้ยังมีความพยายามเหมือนคนหนุ่มสาว ไม่ย่อท้อต่อชีวิตเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและน่าให้กำลังใจ แต่ควรคำนึงถึงสภาพร่างกายและสัจธรรมแห่งชีวิตควบคู่ไปด้วย จะทำให้เรามีความสุขในการต่อสู้กับปัญหาได้ดีขึ้น
การปฏิบัติตนของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน ด้วยหลัก “7 ลดน้อย (การลดน้อย 7 ประการ)” จะทำให้สุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาวได้
1. กินน้อย (少吃) ไม่ควรกินอิ่มมากเกินไป จะทำให้ระบบย่อย (ในผู้สูงอายุ) ซึ่งไม่ดีอยู่แล้วทำงานหนักยิ่งขึ้น ทำให้อาหารตกค้าง ไม่ย่อย ไม่สบายตัว ท้องอืด นอนไม่หลับ รวมทั้งทำให้มีโอกาสเกิดโรคอ้วน, เบาหวาน, โรคของถุงน้ำดี ฯลฯ จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมเร็ว
2. โกรธน้อย (少怒) การโกรธและการเก็บกดอารมณ์โกรธที่รุนแรง จะทำพลังย้อนขึ้นบนหรือติดขัด หลอดเลือดหดตัว เป็นอันตรายต่อการขาดเลือดของสมองและหัวใจ ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
3. นั่งน้อย (少坐) การนั่งนานเกินไปทำลายกล้ามเนื้อ (久坐伤肉) ทำให้กล้ามเนื้อช่วงล่างอ่อนแรง เท้าบวม เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ปวดเมื่อยขา เลือดพลังไหลเวียนติดขัด การเดินเคลื่อนไหวลำบาก การเสื่อมของร่างกายจะเสื่อมที่ช่วงล่างคือเอวและขาก่อน พอเคลื่อนไหวไม่ได้จะตามมาด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย
4. พูดน้อย (少言) ไม่ควรพูดเสียงดังหรือพูดพร่ำเพรื่อมากเกินไปเพราะการพูดมาก พูดเสียงดัง จะสูญเสียพลังของร่างกาย ทั้งเป็นการสร้างมลพิษแก่คนรอบข้าง ทำให้จิตใจผู้พูดเองแปรปรวน ขาดความสงบ
5. ลดความอยาก (少欲) ลดความต้องการทางวัตถุ ทางจิตใจ ควรเริ่มจากความเป็นจริง ไม่ใช่คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะจะทำให้ผิดหวังง่าย กระทบกระเทือนซ้ำเติมสภาวะทางจิตใจและร่างกาย
6. ลดความต้องการทางเพศ (少色) วัยสูงอายุ คนส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ว้าเว้ เงียบเหงา ถดถอยไม่เหมือนวัยทำงาน การรักษาพลังชีวิตที่สำคัญมากประการหนึ่งคือความจำเป็นต้องควบคุมความต้องการทางเพศ โดยเฉพาะการเก็บรักษาสารจิง เพราะการสูญเสียสารจิงในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว
7. นอนน้อย (少卧) การนอนไม่หลับในคนสูงอายุเป็นปัญหามาก เช่น ชอบตื่นตอนดึกแล้วกลางวันก็จะง่วงนอน บางครั้งนอนกลางวันมากกว่ากลางคืน ยิ่งทำให้กลางคืนนอนไม่หลับอีก การนอนกลางวันมากเกินไปทำให้ร่างกายไม่สามารถรับพลังหยางจากดวงอาทิตย์ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และยังทำให้ระบบย่อยอาหารไม่ค่อยทำงาน ไม่เจริญอาหาร ร่างกายก็จะอ่อนแอเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องหลีกเลี่ยงการนอนกลางวันมากเกินไป ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ถ้า กลางคืนสามารถนอนหลับได้ตั้งแต่ 5 ทุ่มถึงตี 5 ได้จะถือว่ายอดเยี่ยมมาก
วิธีควบคุมลดน้อยกิจกรรม 7 ประการ หรือ“7 ลดน้อย”ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน (“ 七少 ”养生心法 ) จะช่วยให้สุขภาพของท่านเสื่อมช้าลง เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานับพันปี