เรื่องของหมอเก่งกับหมอไม่เก่ง (良医与庸医)

เรื่องของหมอเก่งกับหมอไม่เก่ง (良医与庸医)

คนจีนโบราณได้นิยามเรื่องของหมอเก่งกับหมอไม่เก่ง (รวมถึงหมอเถื่อน หรือหมอที่ไม่มีความรู้จริง) ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าจะใช้นิยามโดยวัดกันที่ความสามารถในการรักษาผู้ป่วย  หมอเก่ง คือหมอที่สามารถรักษาโรคให้หายได้ ก็อาจจะพบความผิดพลาด เช่น โรคที่ผู้ป่วยมาหาอยู่ในระยะที่หนักมาก  กล่าวคือเป็นภาวะที่ซับซ้อนรุนแรงมากแล้ว ถึงจะเป็นหมอเก่งเพียงใดก็ยากแก่การรักษาเยี่ยวยา แต่ผู้ป่วยบางรายไปหาหมอในยามที่โรคไม่รุนแรงมาก หมอให้ยาง่ายๆ ก็หายได้ เราเคยได้ยินบ่อยๆ คลินิกบางแห่งคนไข้ไปหาหมอ ทุกคนต้องฉีดยา ในขณะที่หมอที่เป็นระดับอาจารย์แพทย์มักไม่ค่อยจะฉีดยาโดยไม่จำเป็น ก็มักมีการโจษจันว่า หมอคนนี้เก่ง ไม่เลี้ยงไข้ คนไข้หายเร็ว”

 

นิยามหมอเก่งของแพทย์จีนตั้งแต่สมัยโบราณ บ่งบอกว่า หมอที่เก่ง คือ

  1. ต้องเก่งในการจับชีพจร และวินิจฉัยภาวะของโรคและร่างกาย
  2. ต้องรู้ถึงการบริหารจัดการยาที่เหมาะสมอย่างมีหลักการ

– ภาวะร่างกาย คือ ความสมดุลของสภาพร่างกายว่าเป็นพร่องหรือแกร่ง แข็งแรงอ่อนแอ ร้อนเย็น ยินหยาง

– การบริหารยา เหมือนการจัดวางกำลังรบในสงคราม มียาหลัก(君) ยารอง(臣) ยาช่วย(佐) ยาประสาน(使) และขนาดของการใช้ยา

  1. แพทย์ที่เก่งนอกจากมีความรู้แล้ว ยังต้องมีความใส่ใจอย่างละเอียดต่อผู้ป่วย หลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาให้มากที่สุด

การรักษาโรคแบบแก้อาการ โดยไม่แก้ต้นเหตุพื้นฐาน การใช้ยาไม่มีจุดหมายผสมยาจำนวนมาก หวังผลว่าจะมียา 1 – 2 ขนาน ไปทำให้ร่างกายดีได้ (เหมือนการยิงธนูโดยไม่มีเป้าหมาย อาจจะมีความโชคดีมีสัก 1 – 2 ดอก ถูกเหยื่อที่ล่า) โบราณกล่าวว่า แพทย์ที่ไม่มีความรู้จริง ง่ายต่อการรักษาผิดพลาดทำให้คนไข้ตายได้ (庸医的术不精,容易因误治而杀人)

วิชาชีพหมอเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ การรักษาแบบสุ่ม โดยไม่มีความรู้จริง หรือลึกซึ้งเพียงพอ อาจไม่ทำให้ผู้ป่วยตายในทันที แต่เท่ากับเป็นการสะสมหรือสร้างความเสื่อมแก่สุขภาพ  อันเป็นผลสืบเนื่องจากการรักษาโรคที่ไม่ถึงแก่น โรคเป็นเรื้อรัง ใช้ยาอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งล้วนมีผลเสียต่อสมดุลของร่างกายในระยะยาว

หมอที่เก่งจึงต้องประกอบด้วยคุณธรรมและความรู้ และหลีกเลี่ยงการทำลายผู้ป่วย โรคบางอย่างถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยจะค่อยๆ เสียหายเอง  3 ใน 10 แต่ถ้าเจอหมอไม่เก่ง หมอรู้ไม่จริง อาจทำให้คนไข้เสียหายเร็วขึ้น 7 ใน 10 ในเวลาเท่ากัน

หมอที่ไม่เก่ง หรือไม่รู้จริง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นยังไม่ปรากฏ หรือไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียหายทันที จึงไม่ได้สงสัยในองค์ความรู้ และการรักษาที่ตนมีต่อคนไข้ หลายคนอาจจะสำนึกได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง

ดังนั้นการเป็นหมอที่เก่ง ที่ดี หรือไม่เก่ง ไม่ดี มีส่วนกำหนดชีวิตของผู้ป่วย จะรักษาผู้ป่วย หรือฆ่าผู้ป่วยโดยไม่เจตนา เป็นเรื่องที่ต้องพึงใส่ใจ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *