โรคกรดไหลย้อน (胃食管反流病) มุมมองแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน (ตอน 1)
เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป อาหารจากปากจะถูกเคี้ยวและกลืนเข้าหลอดอาหาร จากนั้นจะถูกบีบไล่ไปยังกระเพาะอาหาร ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะมีหูรูด หรือที่เรียกว่า Sphincter ทำหน้าที่ปิดไม่ให้อาหารหรือกรดไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร เมื่ออาหารอยู่ในกระเพาะจะมีกรดออกมาจำนวนมาก ภายหลังจากที่อาหารได้รับการย่อยแล้วจะถูกการบีบไปยังลำไส้เล็ก ดังนั้นหากมีกรดไหลย้อนไปยังหลอดอาหารก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก
ในบางคนหูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลง ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาณ 1 ใน 5 คน พบได้ในคนทั่วไปทุกกล่มทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในคนอ้วน หรือคนที่สูบบุหรี่
สำหรับโรคแทรกซ้อนจากหลอดอาหารที่อักเสบอาจจะทำให้เกิดแผลและมีเลือดออก หรือหลอดอาหารตีบ ทำให้กลืนอาหารลำบาก อาจจะทำให้คนที่เป็นโรคปอดอยู่แล้วอาการแย่ลง เช่น โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ หรืออาจนำไปสู่การเกิดแผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกรดไหลย้อน
- อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว เช่น แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต สะระแหน่
- อาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น ไขมัน มันฝรั่งทอด อาหารผัดหรืออาหารทอดที่อมน้ำมัน
- อาหารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มและอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ผลไม้เปรี้ยว น้ำผลไม้รสเปรี้ยว (น้ำส้มคั้น) น้ำมะเขือเทศ
- อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น กระเทียม หัวหอม น้ำอัดลม
- เครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลังที่มีสารคาเฟอีน ฯลฯ เพราะจะกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
- ความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
- เบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นานๆ จะมีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- โรคอ้วนและการตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
- โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องจึงเกิดภาวะกรดไหลย้อน รวมทั้งการใช้ยาขยายหลอดลมก็มีส่วนทำให้หูรูดหย่อนด้วย
- การมีไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia, Diaphragmatic hernia : ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ ทำให้หูรูดอ่อนแอมากขึ้น
- รอยแผลที่เป็นปลายกระเพาะอาหารหรือการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนสู่ลำไส้ได้ช้าลง จะทำให้มีกรดไหลย้อนได้