เนื้อหมูส่วนไหน มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
หมูเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ชอบเคลื่อนไหว ทั้งวันเอาแต่นอน มีแต่ตอนกินอาหารเท่านั้นที่จะมีการเคลื่อนไหว จะมีคอก มีบริเวณให้อยู่ ทำให้จำกัดการเคลื่อนไหว อาหารที่กินมักจะเป็นของเหลว อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ ตามคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวว่า “ยินสงบ หยางเคลื่อนไหว” (阴静阳躁)
สัตว์ที่เคลื่อนไหวมากจะเป็นหยาง สัตว์ที่เคลื่อนไหวน้อยจะเป็นยิน ดังนั้น นก วัว แพะ ม้า สุนัข จึงจัดเป็นสัตว์ประเภทหยาง หมูจึงจัดเป็นสัตว์ประเภทยิน
เนื้อหมู มีลักษณะฤทธิ์เย็น รสเค็มเข้าเส้นลมปราณไต การกินเนื้อหมูจึงมักไม่เกิดไฟในร่างกายง่ายแต่จะเสริมยิน ทำให้อ้วน มีการสะสมไขมัน (ความชื้นเสมหะ) ในร่างกายมาก เช่นเดียวกับลักษณะของหมู
ส่วนต่างๆ ของหมูมีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกายต่างกัน
๑. ไตหมู ใช้รักษาภาวะไตพร่อง
๒. ลิ้นหมู บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม เสริมพลัง กระตุ้นความอยากอาหาร
๓. หัวหมู บำรุงภาวะเลือดและพลังพร่อง แก้อาการชักเกร็ง ริดสีดวงทวาร
๔. ลำไส้หมู รักษาภาวะส่วนล่างพร่อง (下焦虚竭 ) ปัสสาวะบ่อย ท้องเสียบ่อย
๕. กระเพาะหมู บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม รักษาท้องเสียเรื้อรัง น้ำกามเคลื่อน ตกขาวมากผิดปกติในสตรี เด็กขาดอาการ
๖. ตับหมู บำรุงเลือด บำรุงยิน รักษาตาแห้งเนื่องจากเลือดพร่อง
๗. หนังหมู มีฤทธิ์เย็น บำรุงยิน ทำให้คอไม่แห้ง แก้อาการเจ็บคอ ทำให้ผิวหนังมีน้ำมีนวล
๘. กลีบขาหมู เสริมยิน บำรุงผิวหนัง กระตุ้นการหลั่งน้ำนม (หญิงหลังคลอดที่ไม่มีน้ำนม มักแนะนำให้ใช้ถั่วลิสงต้มกับกลีบขาหมู เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม)
- เนื้อหมู มักมีติดมัน สรรพคุณเป็นยินมาก เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น กินแล้วจะอ้วนง่าย (มีเสมหะชื้นมาก) ระมัดระวังในคนที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
- เนื้อหมูจัดเป็นเนื้อสัตว์ที่มีฤทธิ์ในการบำรุงร่างกาย เสริมพลังบำรุงเลือด บำรุง หยางต่ำสุดเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น