หลายคนคงจะคุ้นเคยกับน้ำต้มสมุนไพรจีนพื้นบ้านของชาวจีน เมื่อเวลามีไข้ เจ็บคอ คอแห้ง มีแผลร้อนในในปาก ในช่วงของอากาศเปลี่ยนหรือทานอาหารฤทธิ์ร้อน อาหารทอด อาหารเผ็ด มักจะได้รับคำแนะน้ำให้ไปดื่มสมุนไพรแก้ร้อนใน ที่รู้จักและคุ้นเคยในภาษาไทยทับศัพท์จีนแต้จิ๋วว่า “น้ำจับเลี้ยง” (จับเหลี่ยงจุ้ย杂凉水) หรือ “ชาจับเลี้ยง”(杂凉茶)
ความหมายของ “จับเลี้ยง”
จับเลี้ยง (จีนตัวย่อ: 杂凉; จีนตัวเต็ม: 雜涼) เป็นคำอ่านของภาษาจีนแต้จิ๋ว
杂 : จีนกลางอ่านว่า จ๋า zá แปลว่า เบ็ดเตล็ด หลายอย่าง ปนเป คละรวมกัน
凉 : จีนกลางอ่านว่า เหลียงท liáng แปลว่า เย็น
น้ำจับเลี้ยง หมายถึง ของเย็นหลายอย่าง คือ เครื่องดื่มหรือน้ำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็นหลายชนิดมารวมกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น 10 อย่าง(คำกับจับ(杂) ภาษาแต้จิ๋วพ้องเสียงกับคำว่าจั้บ(十) ซึ่งแปลว่า 10 ทำให้เข้าใจผิดว่า น้ำจับเลี้ยง ใช้สมุนไพร 10 อย่าง
ความเป็นมาเครื่องดื่มสมุนไพรจีน凉茶(เหลียงฉา)
凉茶(เหลียงฉา) ไม่ได้หมายถึง ชาเย็น (ชามักมีฤทธิ์เย็นมาก) แต่เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ค่อนเย็น (凉) แต่ไม่เย็นมาก(寒) ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ขจัดความร้อนจากอากาศในฤดูร้อน และขจัดความแห้งทำให้เจ็บคอในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว ใช้ในหมู่ประชาชนค่อนข้างกว้างขวาง โดยไม่ต้องให้แพทย์จีนเขียนตำรับสมุนไพรให้เป็นการเฉพาะราย ชาวบ้านทั่วไปสามารถใช้วิจารณญานพิจารณาบริโภคตามความเหมาะสม เสมือนเครื่องดื่มสมุนไพรหรือยาสมุนไพรสามัญประจำบ้าน
ประเภทของเครื่องดื่มสมุนไพร 凉茶(เหลียงฉา)
- ประเภทขับพิษขับร้อน ใช้ในกรณีที่มีไฟหรือความร้อนภายในค่อนข้างมาก สมุนไพรที่ใช้ เช่น ดอกสายน้ำผึ้ง(银花) เก็กฮวย(菊花) ลูกพุด(山栀子) เหมาะกับช่วงฤดูร้อนและฟดูใบไม้ร่วง
- ประเภทไข้หวัด แยกเป็นกระทบลมร้อน กระทบลมเย็น ลมชื้น ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคซาร์ โควิด-19 สมุนไพรที่ใช้ต้องปรับให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงของร่างกายและฤดูกาล
- ประเภทขับร้อนทำให้ชุ่มชื้นลดความแห้ง มีอาการคอแห้ง ลิ้นแห้ง ไอแห้ง เหมาะกับฤดูใบไม้ร่วง สมุนไพรที่ใช้ เช่น สาลี่ (梨子) ซาเซิน (沙参) ยวี่จู๋(玉竹) ม่ายตง(冬麦
- ประเภทขับร้อนขับชื้น เหมาะกับฤดูร้อน เข้าฤดูฝน คนที่มีภาวะร้อนชื้น มีกลิ่นปากเหม็น ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียว หน้าแดง สมุนไพรที่ใช้ เช่น ดอกสายน้ำผึ้ง(银花) เก็กฮวย(菊花) อินเฉิน(茵陈) ถู่ฝู่หลิง(土伏苓)
จาก凉茶(เหลียงฉา)สู่ จับเลี้ยง(杂凉)
แถบมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า มีการใช้เครื่องดื่มสมุนไพรเรียกว่า凉茶(เหลียงฉา) กันอย่างแพร่หลายเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรขับระบายพิษร้อน เสริมน้ำแก้คอแห้ง ขับไฟขจัดชื้น(清热解毒、生津止渴、祛火除湿) ถือเป็นต้นแบบหรือตัวแทนภูมิปัญญาและใช้ในการดูแลร่างกายตามสภาพของพื้นที่ภูมิภาคและสภาพอากาศ ได้รับการรับรองจากรัฐสภาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2549
ชาวจีนที่อพยบมาอยู่เมืองไทยได้นำภูมิปัญญาทำเครื่องดื่มน้ำจับเลี้ยงมาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยรวบรวมเอาสมุนไพรหลายชนิดเข้าเป็นส่วนผสม ทั้งสมุนไพรไทยและจีน ดื่มได้ทั้งแบบร้อนและเย็น สรรพคุณป้องกันและบรรเทาอาการร้อนใน โดยเฉพาะอาการร้อนในที่เกิดจากสภาวะที่ร่างกายขาดความสมดุล เช่น นอนดึก พักผ่อนไม่พอ หรือรับประทานของที่มีฤทธิ์ร้อน ของทอด หรือกินน้ำน้อย มีแผลในปาก ปากลิ้นเปื่อย ขมคอ เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง ไอ ตาร้อนผ่าว
“จับเลี้ยง” นับได้ว่าเป็นตำรับยาจีนประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ตำรับยาเพื่อการบำรุงสุขภาพ แต่เพื่อดูแลป้องกันโรคมากกว่า แม้ว่ายืดหยุ่นกว่าตำรับยาอื่นๆ คือการใช้สมุนไพรขับพิษขับร้อนที่ไม่รุนแรงมาก แต่ก็ไม่ควรรับประทายต่อเนื่องทุกๆวันเป็นเวลานาน
ส่วนประกอบของสมุนไพรตำรับเครื่องดื่มจับเลี้ยงที่นิยมใช้
จับเลี้ยง คือ สมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติเย็น อาทิ เฉาก๊วย ดอกงิ้ว ใบบัว บัวบก รากบัว หญ้าคา เมล็ดเพกา เก๊กฮวย โหล่วเกง เทียงฮวยฮุ่ง แซตี่ แห่โกวเช่า หล่อฮังก๊วย ฯลฯ มีสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยหลายตัวและเป็นสมุนไพรอีกหลายตัวที่เป็นสมุนไพรจีน สูตรอาจจะมีการดัดแปลงแตกต่างกันไป จำนวนและปริมาณก็ปรับเปลี่ยนตามสภาพ
- ดอกงิ้ว (木棉花) ขับพิษขับร้อน ลดอาการอักเสบ บวม แผลในกระเพาอาหาร ขับชื้นขับปัสสาวะ แก้ไอ
- ใบบัว (荷叶) ขับความร้อนของหัวใจ ตับ ม้าม ปอด ลดอาการหงุดหงิด ลดความดันขับปัสสาวะ
- รากบัว (莲藕) ขับร้อนดับกระหาย ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อยหยุดถ่ายลดความร้อนในกระเพาะอาหาร ป้องกันเลือดออก
- รากหญ้าคา (白茅根) ) แก้ร้อนใน แก้ไอ แก้ไข้ เจ็บคอ คอบวม ไล่ความชื้นในร่างกาย ขับน้ำ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว
- เมล็ดเพกา(木蝴蝶) แก้อักเสบเจ็บคอ ไอเสียงแหบ ปากเป็นแผล
- เก๊กฮวย(菊花) แก้ร้อนใน ดับร้อนถอนพิษไข้ แก้หวัด แก้ไข้ ลดความดัน ทำให้ตาสว่าง
- โหล่วเกง (หลูเกิน芦根) ขับพิษขับร้อน ลดความร้อนของปอดและกระเพาะอาหาร เสริมสารน้ำ แก้กระหาย ขับเสมหะหนองในปอด
- เทียงฮวยฮุ่ง (เทียนฮวาเฟิ่น 天花粉) ขับพิษขับร้อน ลดความร้อนของปอดและกระเพาะอาหาร ช่วยสลายเสมหะให้ความชุ่มชื้นกับปอด
- แซตี่ (เซิงตี้ – โกฐขี้แมว生地) ระบายร้อนภายในร่างกาย ทำให้เลือดไม่ร้อน เสริมยินสร้างสารน้ำบำรุงสารจิงและเลือด
- แห่โกวเช่า(เซี่ยคูเฉ่า夏枯草) แก้ไอ เจ็บคอ เสียงแห้ง เป็นแผลในช่องปาก ลดไฟตับ ลดความดันโลหิต
- หล่อฮังก๊วย (หลอฮั่นกั่ว罗汉果) รักษาอาการเจ็บคอ คอแห้ง ไอจากการอักเสบ ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้นระบายอุจจาระ รสหวานแต่ไม่ทำให้เกิดความร้อน
- ใบไผ่ 淡竹叶 ขับความร้อนหัวใจ ช่วยผ่อนคลายความหงุดหงิด แก้กระหายขับปัสสาวะ ขับนิ่ว
- ซางเย่(ใบหม่อน) 桑叶
รักษาอาการคอแห้งจากพิษร้อนจากลมร้อน เหมาะสำหรับรักษาอาการตาแดง เหงือกอักเสบบวม คออักเสบ ระบายความร้อนของปอดและเสริมสารน้ำช่วยให้ทางเดินหายใจเกิดความชุ่มชื้น
- ใบบัวบก(积雪草) ขับร้อนขับชื้น ขับพิษลดบวม แผลอักเสบ ภาวะดีซ่าน(ร้อนชื้น) แก้ช้ำใน แก้พิษสารหนู ขับร้อนจากอากาศในฤดูร้อน
วิธีการต้มน้ำจับเลี้ยง
ต้มสองน้ำ การต้มน้ำแรก ให้เอาจับเลี้ยงใส่หม้อ เติมน้ำราว 3-4 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ลดไฟอ่อน ต้มต่ออีก 10-15 นาที จากนั้น ตักเอากากออก ยกหม้อน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกลง พักไว้ เอากากจากการต้มน้ำแรก มาใส่น้ำ 2-3 ลิตร ต้มต่อเป็นน้ำที่สอง พอได้น้ำที่สองแล้ว ตักกากทิ้งให้หมด เอาน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกมาเทผสมรวมกัน ใช้ไฟอ่อนต้มให้เดือดอีกครั้ง
จับเลี้ยงที่ได้ก็ยังอาจมีรสขมฝาดเฝื่อน ไม่น่าดื่มนักสำหรับบางคน โดยเฉพาะเด็ก จึงนิยมเพิ่มรสหวานในน้ำจับเลี้ยง ด้วยการใส่น้ำตาลกรวด (冰糖) ซึ่งมีฤทธิ์เย็น หรือใส่น้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อยป่น乌糖)ซึ่งมีฤทธิ์อุ่น หรืออาจจะใส่น้ำตาลทั้งสองชนิดผสมกันก็ได้
ข้อควรระวังในการดื่มจับเลี้ยง
- จับเลี้ยง ไม่ต้มยาค้างคืน ไม่ค้างยาไว้ในหม้อ แล้ววันรุ่งขึ้นนำมาต้มใหม่
- จับเลี้ยงเป็นยาสมุนไพรค่อนไปทางเย็น ต้องดื่มแต่พอประมาณเพื่อการขับพิษร้อน ป้องกันรักษภาวะร้อนในของร่างกายที่ไม่รุนแรง สตรีตั้งครรภ์ หรือระหว่างให้นมบุตร และผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เด็กเล็ก ควรดื่มแต่พอประมาณ เพราะจะทำให้ร่างกายเย็น มีผลกระทบโดยตรงตรงต่อระบบย่อยและดูดซึมอาหาร เกิดอาการท้องแน่น อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ดื่มต่อเนื่องระยะยาวทำให้ภูมิคุ้มต่ำ ปวดหลังปวดเอว ปวดตามข้อกระดูก มือเย็นเท้าเย็น
- จับเลี้ยง ไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย ควรดื่มเมื่อมีภาวะร้อนใน หรือดื่มป้องกันเมื่อกระทบกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มีความร้อนเพื่อปรับสมดุลร่างกาย ควรรับประทานในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยทั่วไป เมื่ออาการร้อนภายในทุเลาก็ควรต้องหยุดทาน การกินป้องในช่วงอากาศร้อน ไม่ควรดื่มจับเลี้ยงทุกวัน ดื่มเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็มากพอแล้วตามความเหมาะสม