ว่าด้วยเรื่อง “เลือดพร่อง” (2)

ผู้ป่วยบางคนมีภาวะยินพร่อง แต่เข้าใจผิดไปซื้อยาบำรุงเลือดพร่อง ทำให้อาการของโรคอาจรุนแรงขึ้นได้
ยาจีนในท้องตลาดต้องแยกให้ชัดว่า เน้นไปที่บำรุงยินหรือบำรุงเลือด
ความจริงยาบำรุงเลือดมีบางส่วนของยาบำรุงยิน เลือดเป็นส่วนหนึ่งของยิน ยินพร่องกับเลือดพร่องมีอาการหลายอย่างคล้ายกัน เช่น ชีพจรเล็ก เวียนศีรษะ ตาลาย นอนไม่หลับ

ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ยินพร่อง จะมีอาการร้อนร่วมด้วย เช่น แก้มแดง ลิ้นแดง หงุดหงิด ปากแห้ง ชีพจรเร็ว เป็นต้น ขณะที่เลือดพร่องไม่มีอาการร้อน เช่น ใบ หน้า ริมฝีปาก เปลือกตา เล็บ ลิ้นจะมีสีขาวซีด

อาการที่เรียกว่า “เลือดของหัวใจพร่อง” และ “เลือดตับพร่อง” เป็นอย่างไร?
ทั้ง ๒ ภาวะ มีอาการของเลือดพร่องเหมือนกัน แต่เนื่องจากการขาดเลือดไปมีผลต่ออวัยวะของหัวใจและตับอย่างเด่นชัด ทำให้มีลักษณะเฉพาะ คือ
เลือดหัวใจพร่อง มีอาการทางหัวใจและ สมองเด่นชัด เช่น ใจสั่น ตกใจง่าย นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ลืมง่าย
เลือดตับพร่อง ชายโครงปวดตื้อๆ มองไม่ชัดเวลากลางคืน (ตาบอดไก่) แขนขาชา มีตะคริว

หลักการรักษาเลือดพร่อง และตำรับยาที่ใช้คืออะไร?
ใช้หลักการบำรุงและปรับเลือด
ตำรับยาที่ใช้ได้แก่
๑. ซื่อ-อู๋-ทัง
ตัวยาสำคัญคือ สูตี้ ตังกุย ไป๋สาว ชวน-เซวียง
๒. ตัง-กุย-ปู่-เสวี่ย-ทัง 
ตัวยาสำคัญคือ ตังกุย หวงฉี 
ในรายละเอียด ต้องให้ความสำคัญกับการบำรุงไต บำรุงม้าม บำรุงพลัง ควบคู่ไปกับการบำรุงเลือด ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดียิ่งขึ้น

เลือดพร่องในความหมายแพทย์แผนปัจจุบันได้แก่โรคอะไร?
เทียบเท่ากับ
โรคเลือดจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ พยาธิปากขอ โรคประจำเดือนผิดปกติ ภาวะไขกระดูกฝ่อ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก

เลือดพร่องควรตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนจีน
เลือดจาง ควรหาสาเหตุที่แน่นอนก่อน เพราะจะ ทำให้เราสามารถวางแผนว่าจะรักษาผู้ป่วยโดยวิธีใด เพราะถ้าบำรุงเลือดเป็นการแก้ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าไม่ แก้ต้นเหตุที่ทำให้เสียเลือด เราก็ไม่สามารถบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในแง่การบำรุงเลือด ในทรรศนะแพทย์ แผนจีนยังต่างกับแพทย์แผนปัจจุบันในหลายด้านด้วยกัน
เช่น แพทย์แผนปัจจุบันอาจเสริมเหล็ก โฟลิก วิตามิน หรือบางครั้งอาจให้ยากระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนบางตัว เพื่อกระตุ้นการทำงานของไขกระดูก
แพทย์แผนจีนบำรุงเลือด ต้องบำรุงพลังร่วมด้วย บางครั้งต้องเสริมยาบำรุงระบบการย่อยดูดซึมอาหารให้ดี หรือต้องบำรุงจิง บำรุงไต (เพื่อกระตุ้นการทำงานของ ฮอร์โมน) ควบคู่กันไป

พิจารณาให้ดีทั้ง ๒ แผนมีส่วนคล้ายกันมาก แต่แพทย์แผนปัจจุบันมักแยกส่วน มีความจำเพาะในการบำรุง เช่น เน้นธาตุเหล็ก โฟลิก หรือเพราะขาดฮอร์โมน หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ แต่แพทย์แผนจีนมักจะรักษาหลายๆ ระบบอวัยวะภายในร่วมด้วยเสมอ เพราะถือว่าเป็นองค์รวมสัมพันธ์กัน จึงควรพิจารณาข้อดีข้อเด่นของแต่ละแผน เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด