คนสูงอายุ มักจะมีปัญหาเรื่องของ หลอดเลือดแข็งตัว จากสาเหตุความเสื่อมตามอายุขัยหรือจากโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เบาหวานที่เป็นมาหลายปีแม้ว่าจะได้รับการบำบัดดูแลรักษาอย่างดีด้วยยามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
หลอดเลือดแข็งตัว ทำให้อวัยวะสำคัญๆ เกิดปัญหาได้ง่าย เช่น สมอง หัวใจ และไต ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองแข็งตัว มีโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอัมพฤกษ์ – อัมพาต อีกทั้งทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ง่าย, ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแข็งตัว ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน จะทำให้หัวใจขาดเลือด, ถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมแข็งตัว ทำให้ไตฝ่อ ไตทำหน้าที่น้อยลงเกิดภาวะไตวาย
และในกรณีที่หลอดเลือดทั่วร่างกายแข็งตัว อวัยวะทุกส่วนของร่างกายขาดเลือดหล่อเลี้ยง เกิดอาการไม่สบายทั้งตัว ปลายมือปลายเท้าชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายอ่อนเพลีย ดังนั้นการดูแลหลอดเลือดให้แข็งแรง ยืดหยุ่น จึงเป็นการดูแลสมอง หัวใจ และสุขภาพโดยรวมด้วย
ปรมาจารย์แพทย์จีน หลี่สือเจิน ( 李时珍) กับเคล็ดลับอาหาร ป้องกันรักษาโรคสมอง
1. เก๋อเกิน (葛根) บางคนเรียกว่า โสมภูเขา ( 山人参 ) มีสรรพคุณสำคัญ คือ เสริมธาตุน้ำ ขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือดต้านมะเร็ง ป้องกันการตายของเซลล์ประสาทสมอง สูตรการทำอาหารง่ายๆ โดยใช้ เก๋อเกิน 30 กรัม, ข้าวสาร 50 กรัม เอามาทำข้าวต้ม ต้มไปด้วยกัน
2. เห็ดหูหนูดำ (黑木耳) ใช้ปริมาณ 6 กรัม แช่น้ำจนพอง นำไปต้มทำเป็นแกงจืด รับประทานเป็นประจำ จะช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันการอุดตันของเลือด ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
3. รากคึ่นไช่ 5 รากกับพุทราจีน 10 ลูก ต้มดื่มเป็นประจำ จะลดไขมันในเลือด
4. กระเทียม หัวหอมสด 10 – 15 กรัม รับประทานเป็นประจำ จะลดภาวะไขมันในเลือด
5. ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับสมอง แนะนำให้ดื่มน้ำส้มจีน หลังอาหาร 5 – 10 ซีซี จะช่วยทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น เป็นการลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด
6. โปรตีน ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแรงหลอดเลือด เลือกรับประทานโปรตีนจากอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ติดมัน เช่น หมู, ไก่, เป็ด ฯลฯ เลือกพืชจากทะเล เช่น สาหร่าย จะช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว
7. ต้มสมุนไพร ซานจา (山楂 )) ดื่มแทนน้ำชา จะช่วยลดภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงได้ดี (บ้านเราอาจใช้น้ำกระเจี๊ยบแดง)