การประยุกต์นำมาใช้ทางคลินิก
1. ตับเป็นเสมือนคลังเลือด หรือธนาคารกลาง ขณะที่เราเคลื่อนไหว เลือดจากตับจะถูกส่งไปหล่อเลี้ยง ดวงตา แขน ขา เอ็น ข้อต่อต่างๆ ที่อยู่ส่วนปลายของร่างกาย ถ้ามีสิ่งเร้ามากระตุ้น ทำให้จิตอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะอารมณ์โกธร โมโหฉุนเฉียว เลือดจะถูกผลักไปสู่ส่วนบน ทำให้หน้าแดง หัวใจเต้นแรง หายใจเร็ว หลอดเลือดหดตัว หลอดลมตีบ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองแตกได้ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ตับทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนแองจิโอเท็นซินโนเจน(Angiotensinogen) ทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนจากไตควบคุมเกี่ยวกับความดันโลหิต ทางการแพททย์แผนจีน ภาวะหยางของตับแกร่งทำให้ภาวะความดันโลหิตสูง
2. การนอนหลับ การปิดตา การปล่อยวาง นั่งสมาธิ จะลดการกระตุ้นจากการมองเห็น เกี่ยวข้องกับลดการนำเลือดออกจากตับไปยังแขนขา ศีรษะ สมอง แต่จะนำเลือดกลับมาสู่ที่ตับแทน ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ตับเปิดทวารที่ตา(肝开窍于目) “เวลาร่างกายเคลื่อนไหว เลือดอยู่ที่เส้นลมปราณภายนอก เวลาคนจิตใจสงบ ร่างกายหยุดการเคลื่อนไหว เลือดจะกลับเข้าตับ” ขณะที่เรานอนหลับ เลือดจะถูกลำเลียงกลับมาที่ช่องท้อง ผ่านตับ เพื่อเก็บสะสมและหล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน ทำให้อวัยวะภายในได้รับอาหารหล่อเลี้ยง ขณะเดียวกันเลือดที่ผ่านตับก็จะได้รับการทำลายพิษต่างๆ
3. ตับทำหน้าที่ทำลายสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ทั้งจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อากาศมลพิษที่หายใจเข้าไป และพิษต่างๆรวมทั้งเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด จะต้องผ่านตับซึ่งมีหน้าที่ทำลายพิษโดยการแปรสภาพแล้วขับทิ้งทางน้ำดี ลมหายใจ ทางไตและทางผิวหนัง
4. การทำลายพิษที่ดี่สุด คือช่วงตี 1 ถึงตี 3 เป็นช่วงที่เส้นลมปราณตับทำงาน การนอนหลับการนอนหลับในช่วงกลางคืน ช่วง ๒๓.๐๐ น. เป็นอย่างช้า จนถึง ๕-๖ โมงเช้า ด้วยการนอนหลับที่สนิทและต่อเนื่อง จะช่วยให้ตับเก็บเลือดได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถนำไปบำรุงเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้พอ ทั้งอวัยวะภายใน และ แขน ขา ลำตัว ข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อ รวมถึงเต้านม และมดลูกในผู้หญิง
5. การนอนหลับสนิทในช่วงการทำงานของตับ ช่วงตี 1 ถึงตี 3 เป็นช่วงในการเจริญเติบโตของกระดูกเพิ่มความสูง เป็นช่วงสำคัญที่มีการหลั่งของโกรธฮอร์โมน ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น ฮอร์โมน IGF-1 (Insulin-like Growth factor 1) เกิดจากการแปรสภาพของโกรท ฮอร์โมนที่ตับเป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก
6. ตับมีหน้าที่ผลิตเกลือน้ำดีและน้ำดี ปกติตับสามารถสร้างน้ำดีได้ประมาณ 1/2 ลิตรต่อวัน จะถูกขับออกมาทางท่อน้ำดี ผ่านต่อมายังลำไส้เล็ก มีหน้าที่ในการทำลายสภาพความเป็นกรดในลำไส้ และช่วยย่อยอาหารจำพวกไขมัน ของเสีย สารพิษ ส่วนหนึ่งรวมถึงโมเลกุลของฮีโมโกลบินที่ได้จากการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุจากม้ามจะถูกขับทิ้งมากับน้ำดี
แพทย์แผนจีนมองว่า ตับมีหน้าที่การขับระบาย肝主疏泄
7.ตับมีหน้าที่เก็บเลือด กับ หน้าที่ในการขับระบายเลือด การเก็บเลือดทำให้ตับเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาก ตับต้องมีเลือดที่สมบูรณ์ ตับสะสมเหล็กที่เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ของเม็ดเลือดแดงเพื่อนำไปใช้สร้างฮีโมโกลบินต่อไป ตับจึงจัดเป็นเป็นอวัยวะยิน ส่วนหน้าที่ในการระบายผลักดันเลือด รวมถึงการขับน้ำดี คือหยาง จึงเรียกตับอวัยวะตับโดยโครงสร้างเป็นยิน แต่การทำหน้าที่เป็นหยาง(体阴用阳)
8. การปรับสมดุลการทำงานของตับจึงเน้นที่การทำให้มีการเก็บเลือดที่เพียงพอและการระบายทีเหมาะสม ไม่มากเกินไป น้อยเกินไป
- ภาวะระบายที่มากเกินไป จะทำให้เกิดหยางแกร่งและพลังหยางขึ้นสู่เบื้องบน เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หงุดหงิด โมโหง่าย
- การดื่มเหล้า เหล้ากระตุ้นการไหลเวียนเลือด เข้าเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ปอดและตับ ทำให้การระบายของตับมากขึ้น เลือดจะถูกผลักดันออกจากตับ เหล้ามีรสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน ดื่มปริมาณมาก จะทำลายหลอดเลือดฝอย ทำลายตับ เกิดร้อนชื้น ทำให้ตับอักเสบ ตับแข็ง
- ภาวะระบายที่น้อยเกินไป ทำให้พลังติดขัด เลือดคั่งค้าง มีอารมณ์หงุดหงิด ประจำเดือนผิดปกติ เกิดก้อนที่มดลูก ก้อนที่เต้านม ระบบย่อยและดูดซึมอาหารแปรปรวน
- ผู้หญิงที่มีนิสัยครุ่นคิด เก็บกดทางอารมณ์ ไม่มีการระบายออก มีผลทำให้พลังและเลือดของเส้นลมปราณตับไม่ระบายหรือกระจายออกเช่นกัน เมื่อมีการติดขัดของเส้นลมปราณตับ จะทำให้มีอาการคัดแน่นตึงบริเวณเต้านม ปวดเต้านม โดยเฉพาะช่วงที่จะกำลังมีประจำเดือน
9. ตับมีหน้าที่ในการสร้างประจำเดือนและการขับประจำเดือนเกี่ยวข้องกับการเก็บเลือดและการระบายเลือด(肝脏参与了女性月经的贮藏和排泄) การแก้ไขความผิดปกติของประจำเดือนจึงต้องปรับการทำงานของอวัยวะตับ
10. ตับมีหน้าที่ดึงรั้งเลือด(肝能摄血) บทบาทในการช่วยการแข็งตัวของเลือด ตับสร้างฮอร์โมนธอมโบพอยอีติน (Thrombopoietin ) ซึ่งบางส่วนผลิตที่ไต ช่วยกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเกล็ดเลือดเพื่อทำให้เลือดแข็งตัว ตับยังมีหน้าที่ในการเก็บสะสมวิตามิน เค ช่วยการแข็งตัวของเลือด ช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ วิตามินเคยังช่วยทำให้ระบบประจำเดือนในผู้หญิงมาเป็นปกติ
11. การเก็บกักน้ำอสุจิเป็นหน้าที่ของไต(ควบคุมการปิด) แต่การปล่อยระบายน้ำอสุจิเป็นหน้าที่ของตับ(ควบคุมการเปิด) (司疏泄者,肝也;司閉藏者,腎也) ผู้ป่วยที่มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ อาจเป็นเพราะไตอ่อนแอหรือเป็นเพราะตับร้อนชื้น ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำอสุจิได้
12. เครียดลงกระเพาะ ตับสัมพันธ์กับถุงน้ำดี เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำดี ช่วยการย่อยอาหาร การติดขัดของพลังตับโดยเฉพาะจากอารมณ์ที่เครียดหงุดหงิด โมโหง่าย รวมถึงโรคของตับ จะทำให้พลังไม่ระบายมีผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร (肝胃不和)ทำให้กลไกพลังกระเพาะอาหารย้อนขึ้น ไม่ลงล่าง มีอาการแน่นจุกในท้อง เรอ สะอึก และมีผลกระทบต่อม้าม (肝脾不调)ทำให้เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว
13. ความสมบูรณ์ของตับแสดงออกที่เล็บ ตับกำกับเอ็น (肝主筋, 肝华在爪) เล็บเป็นส่วนเกินของเอ็น
- เล็บที่มีสีเลือด เงางาม มีประกาย เล็บเป็นส่วนเกินของเอ็น การที่เอ็นมีเลือดมาหล่อเลี้ยงดี ทำให้มีความยืดหยุ่น อาการหรือโรคที่เกี่ยวกับการชัก เกร็ง หลังแอ่น กัดฟันแน่น(เกี่ยวข้องกับเอ็น) เล็บไม่เงางาม ล้วนแสดงถึงความผิดปกติของตับ
- อวัยวะเพศชาย จัดเป็นเอ็นชนิดหนึ่ง การแข็งตัวอวัยวะเพศ การหลั่งอสุจิของผู้ชาย เกี่ยวข้องกับตับ ตับไม่ดี ตับแข็ง สะสมเลือดไม่พอ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ผู้ป่วยตับแข็งจะทำให้ความสามารถในการกำจัดฮอร์โมนบางอย่างลดลง ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น ทำให้เต้านมโตขึ้น รวมถึงมีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก
14. ตับสัมพันธ์กับอารมณ์โกธรและอารมณ์กลัว อารมณ์โกธรทำให้พลัง เลือด ไหลเวียนแผ่ซ่านขึ้นสู่ด้านบนมากเกินไป เกิดจากพลังตับแกร่ง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดศีรษะ อาเจียน ถ้าเป็นมากทำให้เป็นลมหมดสติ
15. ตับเป็นอวัยวะเกี่ยวข้องกับลมและธาตุไม้(风木之脏) เป็นอวัยวะที่เสริมไฟของหัวใจ(内寄相火) ทางพยาธิสภาพจะเกี่ยวข้องกับ โรคของลมและไฟส่วนบนคือลมตับ ไฟตับ ทำให้เกิดการชัก หมดสติ เป็นอัมพาต ชักเกร็ง(เอ็นขาดการหล่อเลี้ยง)ในทางตรงข้ามถ้าพลังตับอ่อนแอ จะทำให้เกิดความกลัว
16. ตับเกี่ยวข้องกับตา ตับเปิดทวารที่ดวงตา วิตามินเอ (vitamin A) เป็นสารที่ช่วยในการปกป้องกระจกตา มีบทบาทสำคัญในการช่วยการมองเห็นในที่มืด วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในเซลล์รับแสงที่จอประสาทตา ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงแดด และยังมีการศึกษาพบว่า วิตามินอีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคต้อกระจกได้ ตับมีหน้าที่เก็บสารอาหารอย่างวิตามิน A , D , E , K แร่ธาตุ และสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายชนิดอื่น ๆ ไว้ให้ร่างกายดึงไปใช้ในยามขาดแคลน
17. ตับเกี่ยวข้องกับน้ำตาที่หล่อเลี้ยงตาเกี่ยวข้องกับตับ การระบายความอัดอั้นของพลังตับ สามารถใช้น้ำตาเป็นช่องทางหนึ่ง การเสียน้ำตาที่มากเกินไปก็จะกระทบอวัยวะตับ จนมีคำกล่าวที่ว่า “น้ำตาก็คือเลือด” เลือดในตับพร่องจะทำให้ตาแห้ง น้ำตาน้อยลง
18. สีเขียว รสเปรี้ยว เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตับ สีเขียววิ่งเข้าเส้นลมปราณตับช่วยการระบายของตับ ช่วยบำรุงเลือด ช่วยขับไฟร้อนในตับ ผักสีเขียวมักมีเส้นใย ช่วยการขับอุจจาระ ทำให้ของเสียในลำไส้ถูกขับทิ้งได้ง่ายไม่ถูกดูดซึมกลับสู่ร่างกาย ช่วยลดภาระการทำลายสารพิษของตับ สีเขียวจึงมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของตับ รสเปรี้ยวเข้าเส้นลมปราณตับจะช่วยการดึงรั้งสารยินเลือดให้กับตับ และไม่ให้การระบายของพลังตับมากเกินไป