ความยากลำบาก 5 ประการ ในการดูแลสุขภาพ ( 养生五难 )

ความยากลำบาก 5 ประการ ในการดูแลสุขภาพ ( 养生五难 )

หนังสือแพทย์จีนโบราณชื่อ ต๋าหนานหยางเซิงลุ่น (答难养生论) ได้พูดถึงความยากลำบาก 5 ประการที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการดูแลสุขภาพ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าถึงเป้าหมายการมีสุขภาพดี เราลองมาพิจารณาด่านสำคัญทั้ง 5 กัน

 

ความยากลำบากที่ 1 “ตัดไม่ขาดจากลาภยศสรรเสริญ” ( 名利不灭,此一难也 )

                ความจริงลาภยศสรรเสริญเป็นความปรารถนาของมนุษย์ปุถุชน แต่การคาดหวังหรือการยึดติดกับมันมากเกินไป จะเป็นภาระทางใจเป็นการทำลายหยวนชี่ (พลังพื้นฐานของร่างกาย) ทั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการแสดงออกทางจิตใจในรูปแบบอื่น เช่น คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเกษียณอายุด้วยตำแหน่งที่สูง อาจบอกว่ามีทั้งชื่อเสียงและเงินทองพอเพียงแล้ว ไม่ได้หวังลาภยศสรรเสริญมากมาย แต่ยังมีความรู้สึกที่ต้องการเป็นที่ยอมรับ หรือค่าชมเชยจากผู้อื่นตลอดเวลามากเกินจริง  เมื่อประสบกับคำพูดหรือความคาดหวังที่ไม่พึงปรารถนาก็จะผิดหวัง รวมทั้งคนที่มีความละเอียดประณีตในทุกๆเรื่อง ทำทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ทั้งหลายเหล่านี้คือการบั่นทอนพลังหยวนชี่ของร่างกาย  หัวข้อนี้จัดเป็นป้อมปราการด่านสำคัญอันดับแรกเป็นด่านที่ 1

 

ความยากลำบากที่ 2 “ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ดีใจและโกรธ” (喜怒不除,此二难也)

                การควบคุมอารมณ์โกรธ ดีใจ รวมทั้งอารมณ์กลัว, เศร้าโศก, เสียใจ, ตกใจ ไม่ให้แปรปรวนมากไปหรือนานจนเกินไปเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ  เพราะจะทำลายอวัยวะภายในและกลไกพลังหรือการเคลื่อนไหวของพลังในภาวะสมดุลของร่างกายจัดเป็นป้อมปราการที่ 2

 

ความยากลำบากที่ 3 “ไม่สามารถตัดขาดจากแสงสีเสียง” (声色不去,此三难也 )

                การเที่ยวเตร่กลางคืน, อดหลับอดนอน และการหมกมุ่นในกามารมณ์โดยเฉพาะในเพศชาย เป็นปัญหาสำคัญของการทำลายสุขภาพ

                ความจริงแล้วทุกชีวิตล้วนปรารถนาความสุข ทั้งร่างกาย จิตใจ และความต้องการทางเพศ แต่จะการแสวงหาความสุขโดยอาศัยความรู้สึก ความต้องการของตนเองเป็นตัวกำหนดไม่ได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมาชี้นำการปฏิบัติด้วย ความสุขที่ไร้การควบคุมเสมือนขวานเพชฌฆาตที่จะฆ่าและทำลายชีวิต  จัดเป็นป้อมปราการที่ 3

 

ความยากลำบากที่ 4 “การควบคุมการกิน” (滋味不绝,此四难也 )

                การเสพสุขทางอาหาร แสวงหาความอร่อย เสพติดในรสชาติ ไม่คำนึงถึงคุณค่า ประโยชน์และความเหมาะสมกับร่างกายคือการบริโภคด้วยตัณหามากกว่าด้วยปัญญา เพื่อสนองความต้องการทางจิตใจเป็นหลัก ซึ่งจะตามมาด้วยการเกิดโรคมากมายจากการบริโภค จัดเป็นป้อมปราการที่ 4

 

ความยากลำบากที่ 5 “การควบคุมความแปรปรวนทางความคิด” (神虑转发,此五难也 )

                ความวุ่นวายในทางความคิด จัดเป็นป้อมปราการที่  5  มีผลต่อร่างกายและจิตใจ  เช่น

— กังวลมากเกินไป               ทำให้เกิดความอ่อนล้าของสมองและร่างกาย

— บ่นมากเกินไป  ทำให้จิตประสาทฟุ้งซ่าน

— คาดหวังมากเกินไป          ทำลายไต ทำลายพลังหยวนชี่ (พลังพื้นฐาน)

— การคิดเรื่องเล็กน้อย จุกจิก หงุดหงิดไปทุกเรื่อง (多恶) จะค่อยๆ ทำลายความสุขของชีวิต ทำลายพลังของม้ามซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายซูบผอม หมดพลัง

— การพูดมากเกินไป ทำให้กลไกพลังของร่างกายและอวัยวะต่างๆ แปรปรวน ทำงานผิดปกติ

— การเก็บกดทางอารมณ์มากเกินไป ทำให้พลังติดขัด เลือดไม่ไหวเวียน เกิดเลือดคั่ง เกิดก้อนต่างๆ ในร่างกาย

 

การรับมือกับความยากลำบาก 5 ประการข้างต้น ให้ความสำคัญกับโลกทัศน์และชีวทัศน์พื้นฐาน ซึ่งหนีไม่พ้นการเตรียมต่อสู้กับความคิด จิตใจ ของตนเองเป็นหลัก  เป็นด่านสำคัญก่อนเข้าสู่โปรแกรมสุขภาพอื่นๆ ต่อไป   

 

 

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *