ชะเอม (甘草) กันเฉ่า กับสรรพคุณในทางการแพทย์จีน
สรรพคุณในทางการแพทย์จีนเกี่ยวกับ “ชะเอม” (甘草) กันเฉ่า ได้กล่าวว่า ชะเอมมีรสหวาน ฤทธิ์กลางๆ (ไม่ร้อน – ไม่เย็น) เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ, ปอด, ม้าม และกระเพาะอาหาร
สรรพคุณของชะเอม
สามารถขับระบายปัจจัยก่อโรคหรือเสียชี่ (邪气) ทั้งชนิดร้อนและเย็นออกจากอวัยวะภายใน
เสริมความแข็งแรงของเอ็นและกระดูก
ช่วยกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ แผลอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร เสริมบำรุงพลัง
ถ้าใช้ชนิดสด จะช่วยขับพิษ ขับไฟความร้อนในร่างกาย
ถ้าใช้ชนิดสุก จะขับความเย็นบริเวณผิวนอก, แก้อาการเจ็บคอ, เสริมพลัง บำรุงสารยินและเลือด, บำรุงปอดและม้าม
ถ้าใช้ชนิดผัดน้ำผึ้ง จะสามารถบำรุงส่วนกลาง (ม้าม กระเพาะอาหาร) และแก้อาการปวดเกร็ง
ข้อควรระวัง
การใช้ชะเอมในปริมาณมากจะทำให้
– ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ทำลายประสาทตา
– เกิดอาการบวมเนื่องจากมีโซเดียมในเลือดสูงขึ้น โพแตสเซียมในเลือดต่ำลง
– ทำให้ท้องอืด, แน่นท้อง, อาเจียน
– ไม่ใช่รวมกับสมุนไพรบางชนิด เช่น ไห่เจ่า (海藻) , กันสุย (甘遂), หยวนฮวา (芫花) , ต้าจี๋ (大戟 )
ตำรับยาสมุนไพรชะเอม
- กันเฉ่า – หวงฉีทัง (甘草黄芪汤) ช่วยระงับเหงื่อออกมากผิดปกติ เสริมยินและแก้กระหาย เหมาะสำหรับคนที่คอแห้ง กระหายน้ำ, อ่อนเพลีย เป็นหวัดเรื้อรังเป็นๆหายๆ
หวงฉี (黄芪) 15 กรัม ม่ายตง (麦冬) 10 กรัม กันเฉ่า 3 กรัม (甘草) ต้มกับน้ำพอประมาณ เอาน้ำที่ต้มแล้วผสมน้ำตาลกรวด แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
- ลวี่โต่ว-กันเฉ่าทัง (绿豆甘草汤ตำรับถั่วเขียว – ชะเอม) ใช้ขับพิษ, ช่วยรักษาตับอักเสบจากการติเชื้อ, ฝีอักเสบต่างๆ โดยไม่กระทบต่อพลังพื้นฐานร่างกาย (เจิ้งชี่ ,正气) คือใช้ชะเอมไปปรับประสานกับการขับพิษของถั่วเขียว
ถั่วเขียว 90 กรัม ชะเอม 15 กรัม ใช้ไฟแรงต้มจนเดือด แล้วค่อยๆ หรี่ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มต่ออีกประมาณ ½ – 1 ชั่วโมง แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง
- ชาเหลียนจื่อกันเฉ่าว (莲子甘草茶) ใช้รักษาแผลร้อนใน แผลในปาก เนื่องจากไฟหัวใจแกร่งทำให้นอนไม่หลับ
ใช้ลูกบัว (เหลียนจื่อ莲子 ) 15 กรัม กันเฉ่า 2 กรัม ชาเขียว 5 กรัม ใช้ชงเป็นชา ดื่มบ่อยๆ
ตำรับที่กล่าวมาหาซื้อได้ง่ายๆ มีลักษณะเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน มีปัญหาเล็กน้อยลองดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ง่าย แบบนี้ ใครๆ ก็ทำได้ครับ