ภาวะไขมันเลือดสูง คือ ภาวะที่ตรวจเลือดพบว่ามีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งไขมันในร่างกายแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภท
1. ไขมันชนิดอันตราย ได้แก่
- คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ชนิดที่เป็นไขมันเลว คือ แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) ถ้ามีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง ก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพอกหนาขึ้น จนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก (ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้งหรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มี โคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)
2. คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
ไขมันชนิดดี คือ เอชดีแอล ((High density lipoprotein-HDL) ยิ่งมีระดับสูงเท่าจะยิ่งเป็นผลดี เพราะไขมันชนิดนี้จะทำหน้าที่ตรงข้ามกับไขมันชนิดอันตราย คือ จะไปลดและป้องกันการพอกตัวของไขมันในหลอดเลือด และจะนำพาคลอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยลง ( ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร)
คนที่มีไขมันในเลือดสูง มีความหนืดของเลือดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหลอดเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ จึงไม่สะดวก นานไปหลอดเลือดก็จะตีบลงและอุดตัน โดยเฉพาะถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน และถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่สมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ จึงต้องควบคุมระดับไขมันในเลือดให้พอเหมาะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมา ภาวะไขมันเลือดสูงจึงจัดเป็น “ฆาตกรเงียบ” (Silent killer) มีวิธีการหลายอย่างในการลดภาวะไขมันเลือดสูง นอกเหนือจากการใช้ยา เช่น การควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน เพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก การออกกำลังกาย ฯลฯ
ในทัศนะแพทย์แผนจีน ภาวะไขมันเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความอ้วน คนที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมากๆ โดยเฉพาะมื้อดึก ชอบอาหารมัน ของหวาน และใช้พลังงานน้อย นั่งทำงานกับที่ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย อีกทั้งการทำงานอวัยวะภายในเสียสมดุล ที่สำคัญได้แก่ อวัยวะม้าม ไต ตับ หัวใจ ผลที่ตามมาคือความชื้น เสมหะ เลือดติดขัด เกิดความร้อนสะสม และตามมาด้วยการเกิดลมภายใน (เกิดอาการหมดสติจากภาวะหลอดเลือดหัวใจสมองตีบตัน)
ตำรับอาหารสมุนไพรสำหรับภาวะไขมันเลือดสูง
- มื้อเช้ารับประทานข้าวโอ๊ต วันละชาม(早吃1碗燕麦粥)ต้มข้าวโอ๊ต จนเดือดแล้วต้มต่อด้วยไฟอ่อน 10 นาที อาจใส่เนื้อหมูสับทำเป็นข้าวโอ๊ตต้มหมูสับ ผู้สูงอายุอาจใส่นมพร่องไขมันรับประทาน
- มื้อค่ำ รับประทานกระเทียม 3 กลีบ (晚餐吃3瓣大蒜)
- รับประทานหอมใหญ่ วันละ ครึ่งลูก (天天吃1/2個洋葱)
- รับประทานสาลีหรือแอปเปิล วันละลูก(天天吃酪梨或苹果1個)
- ซุปเห็ด-ฟักเขียว(蘑菇冬瓜汤)
วิธีปรุง
ใช้เห็ดหรือเห็ดหอม ปริมาณพอควร เอาส่วนโคนเห็ดออก ล้างให้สะอาด
ฟักเขียวขนาดกลาง 1 ลูก ปลอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้น
ใช้น้ำประมาณ 500 ซีซี ต้มฟักเขียวจนเดือด ใส่หอมใหญ่ฝอยและขิงฝอย จากนั้นจึงใส่เห็ด ต้มจนเดือด ปรุงรสตามต้องการ
สรรพคุณ – ลดการนำเข้าไขมันในร่างกาย
• เห็ด มี โปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน ที่สำคัญคือกากไย ลดการดูดซึมของคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย
• ฟักเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมาก ไม่เพิ่มพลังแคลอรีแก่ร่างกาย ลดความร้อนในกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่แนะนำ ส่วนมากมักมีส่วนของกากใย เช่น แครอท(胡萝卜) ฟักทอง(南瓜) ข้าวโพด (玉米) เต้าหู้ (豆腐) เห็ดหูหนูดำ (黑木耳) หัวไช่เท้า(白萝卜) รวมถึงชาเขียว