เรื่องของ”น้ำจับเลี้ยง” เครื่องดื่มสมุนไพรจีนแก้ร้อนใน

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับน้ำต้มสมุนไพรจีนพื้นบ้านของชาวจีน เมื่อเวลามีไข้ เจ็บคอ คอแห้ง มีแผลร้อนในในปาก ในช่วงของอากาศเปลี่ยนหรือทานอาหารฤทธิ์ร้อน อาหารทอด อาหารเผ็ด มักจะได้รับคำแนะน้ำให้ไปดื่มสมุนไพรแก้ร้อนใน ที่รู้จักและคุ้นเคยในภาษาไทยทับศัพท์จีนแต้จิ๋วว่า “น้ำจับเลี้ยง” (จับเหลี่ยงจุ้ย杂凉水) หรือ “ชาจับเลี้ยง”(杂凉茶)

    ความหมายของ “จับเลี้ยง”

     จับเลี้ยง (จีนตัวย่อ: 杂凉; จีนตัวเต็ม: 雜涼) เป็นคำอ่านของภาษาจีนแต้จิ๋ว

杂 : จีนกลางอ่านว่า จ๋า  zá แปลว่า เบ็ดเตล็ด หลายอย่าง ปนเป คละรวมกัน

凉 : จีนกลางอ่านว่า เหลียงท liáng แปลว่า เย็น

น้ำจับเลี้ยง หมายถึง ของเย็นหลายอย่าง คือ เครื่องดื่มหรือน้ำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็นหลายชนิดมารวมกัน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น 10 อย่าง(คำกับจับ(杂) ภาษาแต้จิ๋วพ้องเสียงกับคำว่าจั้บ(十) ซึ่งแปลว่า 10 ทำให้เข้าใจผิดว่า น้ำจับเลี้ยง ใช้สมุนไพร 10 อย่าง

   ความเป็นมาเครื่องดื่มสมุนไพรจีน凉茶(เหลียงฉา)

  凉茶(เหลียงฉา) ไม่ได้หมายถึง  ชาเย็น (ชามักมีฤทธิ์เย็นมาก) แต่เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ค่อนเย็น (凉) แต่ไม่เย็นมาก(寒) ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ  เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ขจัดความร้อนจากอากาศในฤดูร้อน และขจัดความแห้งทำให้เจ็บคอในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว ใช้ในหมู่ประชาชนค่อนข้างกว้างขวาง โดยไม่ต้องให้แพทย์จีนเขียนตำรับสมุนไพรให้เป็นการเฉพาะราย ชาวบ้านทั่วไปสามารถใช้วิจารณญานพิจารณาบริโภคตามความเหมาะสม เสมือนเครื่องดื่มสมุนไพรหรือยาสมุนไพรสามัญประจำบ้าน

        ประเภทของเครื่องดื่มสมุนไพร  凉茶(เหลียงฉา)

  1. ประเภทขับพิษขับร้อน ใช้ในกรณีที่มีไฟหรือความร้อนภายในค่อนข้างมาก สมุนไพรที่ใช้ เช่น  ดอกสายน้ำผึ้ง(银花)   เก็กฮวย(菊花) ลูกพุด(山栀子) เหมาะกับช่วงฤดูร้อนและฟดูใบไม้ร่วง
  2. ประเภทไข้หวัด แยกเป็นกระทบลมร้อน กระทบลมเย็น ลมชื้น ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคซาร์ โควิด-19 สมุนไพรที่ใช้ต้องปรับให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงของร่างกายและฤดูกาล
  3. ประเภทขับร้อนทำให้ชุ่มชื้นลดความแห้ง มีอาการคอแห้ง ลิ้นแห้ง ไอแห้ง เหมาะกับฤดูใบไม้ร่วง สมุนไพรที่ใช้ เช่น สาลี่ (梨子) ซาเซิน (沙参)  ยวี่จู๋(玉竹) ม่ายตง(冬麦
  4. ประเภทขับร้อนขับชื้น เหมาะกับฤดูร้อน เข้าฤดูฝน คนที่มีภาวะร้อนชื้น มีกลิ่นปากเหม็น ฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียว หน้าแดง สมุนไพรที่ใช้ เช่น ดอกสายน้ำผึ้ง(银花)   เก็กฮวย(菊花) อินเฉิน(茵陈) ถู่ฝู่หลิง(土伏苓)

จาก凉茶(เหลียงฉา)สู่ จับเลี้ยง(杂凉)

  แถบมณฑลกวางตุ้ง  ฮ่องกง มาเก๊า มีการใช้เครื่องดื่มสมุนไพรเรียกว่า凉茶(เหลียงฉา) กันอย่างแพร่หลายเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรขับระบายพิษร้อน เสริมน้ำแก้คอแห้ง ขับไฟขจัดชื้น(清热解毒、生津止渴、祛火除湿)    ถือเป็นต้นแบบหรือตัวแทนภูมิปัญญาและใช้ในการดูแลร่างกายตามสภาพของพื้นที่ภูมิภาคและสภาพอากาศ ได้รับการรับรองจากรัฐสภาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมเมื่อวันที่  20 พฤษภาคม  2549

    ชาวจีนที่อพยบมาอยู่เมืองไทยได้นำภูมิปัญญาทำเครื่องดื่มน้ำจับเลี้ยงมาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยรวบรวมเอาสมุนไพรหลายชนิดเข้าเป็นส่วนผสม ทั้งสมุนไพรไทยและจีน ดื่มได้ทั้งแบบร้อนและเย็น สรรพคุณป้องกันและบรรเทาอาการร้อนใน โดยเฉพาะอาการร้อนในที่เกิดจากสภาวะที่ร่างกายขาดความสมดุล เช่น นอนดึก พักผ่อนไม่พอ หรือรับประทานของที่มีฤทธิ์ร้อน ของทอด หรือกินน้ำน้อย มีแผลในปาก ปากลิ้นเปื่อย ขมคอ เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง ไอ ตาร้อนผ่าว

     “จับเลี้ยง” นับได้ว่าเป็นตำรับยาจีนประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ตำรับยาเพื่อการบำรุงสุขภาพ  แต่เพื่อดูแลป้องกันโรคมากกว่า แม้ว่ายืดหยุ่นกว่าตำรับยาอื่นๆ  คือการใช้สมุนไพรขับพิษขับร้อนที่ไม่รุนแรงมาก แต่ก็ไม่ควรรับประทายต่อเนื่องทุกๆวันเป็นเวลานาน

ส่วนประกอบของสมุนไพรตำรับเครื่องดื่มจับเลี้ยงที่นิยมใช้

จับเลี้ยง คือ สมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติเย็น อาทิ เฉาก๊วย ดอกงิ้ว ใบบัว บัวบก รากบัว หญ้าคา เมล็ดเพกา เก๊กฮวย โหล่วเกง เทียงฮวยฮุ่ง แซตี่ แห่โกวเช่า หล่อฮังก๊วย ฯลฯ มีสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยหลายตัวและเป็นสมุนไพรอีกหลายตัวที่เป็นสมุนไพรจีน สูตรอาจจะมีการดัดแปลงแตกต่างกันไป จำนวนและปริมาณก็ปรับเปลี่ยนตามสภาพ

  • ดอกงิ้ว (木棉花) ขับพิษขับร้อน ลดอาการอักเสบ บวม แผลในกระเพาอาหาร ขับชื้นขับปัสสาวะ แก้ไอ
  • ใบบัว (荷叶) ขับความร้อนของหัวใจ ตับ ม้าม ปอด ลดอาการหงุดหงิด ลดความดันขับปัสสาวะ
  • รากบัว (莲藕)  ขับร้อนดับกระหาย ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อยหยุดถ่ายลดความร้อนในกระเพาะอาหาร ป้องกันเลือดออก
  • รากหญ้าคา (白茅根) ) แก้ร้อนใน แก้ไอ แก้ไข้ เจ็บคอ คอบวม ไล่ความชื้นในร่างกาย ขับน้ำ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว
  • เมล็ดเพกา(木蝴蝶) แก้อักเสบเจ็บคอ ไอเสียงแหบ ปากเป็นแผล
  • เก๊กฮวย(菊花) แก้ร้อนใน ดับร้อนถอนพิษไข้ แก้หวัด แก้ไข้ ลดความดัน ทำให้ตาสว่าง
  • โหล่วเกง (หลูเกิน芦根)  ขับพิษขับร้อน ลดความร้อนของปอดและกระเพาะอาหาร เสริมสารน้ำ แก้กระหาย ขับเสมหะหนองในปอด
  • เทียงฮวยฮุ่ง (เทียนฮวาเฟิ่น 天花粉) ขับพิษขับร้อน ลดความร้อนของปอดและกระเพาะอาหาร ช่วยสลายเสมหะให้ความชุ่มชื้นกับปอด
  • แซตี่ (เซิงตี้ – โกฐขี้แมว生地)  ระบายร้อนภายในร่างกาย ทำให้เลือดไม่ร้อน เสริมยินสร้างสารน้ำบำรุงสารจิงและเลือด
  • แห่โกวเช่า(เซี่ยคูเฉ่า夏枯草) แก้ไอ เจ็บคอ เสียงแห้ง เป็นแผลในช่องปาก ลดไฟตับ ลดความดันโลหิต
  • หล่อฮังก๊วย (หลอฮั่นกั่ว罗汉果) รักษาอาการเจ็บคอ คอแห้ง ไอจากการอักเสบ ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้นระบายอุจจาระ รสหวานแต่ไม่ทำให้เกิดความร้อน
  • ใบไผ่ 淡竹叶 ขับความร้อนหัวใจ ช่วยผ่อนคลายความหงุดหงิด แก้กระหายขับปัสสาวะ ขับนิ่ว
  •  ซางเย่(ใบหม่อน) 桑叶

รักษาอาการคอแห้งจากพิษร้อนจากลมร้อน  เหมาะสำหรับรักษาอาการตาแดง เหงือกอักเสบบวม คออักเสบ ระบายความร้อนของปอดและเสริมสารน้ำช่วยให้ทางเดินหายใจเกิดความชุ่มชื้น

  • ใบบัวบก(积雪草)  ขับร้อนขับชื้น  ขับพิษลดบวม แผลอักเสบ ภาวะดีซ่าน(ร้อนชื้น) แก้ช้ำใน แก้พิษสารหนู ขับร้อนจากอากาศในฤดูร้อน

 วิธีการต้มน้ำจับเลี้ยง

ต้มสองน้ำ การต้มน้ำแรก ให้เอาจับเลี้ยงใส่หม้อ เติมน้ำราว 3-4 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ลดไฟอ่อน ต้มต่ออีก 10-15 นาที จากนั้น ตักเอากากออก ยกหม้อน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกลง พักไว้ เอากากจากการต้มน้ำแรก มาใส่น้ำ 2-3 ลิตร ต้มต่อเป็นน้ำที่สอง พอได้น้ำที่สองแล้ว ตักกากทิ้งให้หมด เอาน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกมาเทผสมรวมกัน ใช้ไฟอ่อนต้มให้เดือดอีกครั้ง

จับเลี้ยงที่ได้ก็ยังอาจมีรสขมฝาดเฝื่อน ไม่น่าดื่มนักสำหรับบางคน โดยเฉพาะเด็ก จึงนิยมเพิ่มรสหวานในน้ำจับเลี้ยง ด้วยการใส่น้ำตาลกรวด (冰糖) ซึ่งมีฤทธิ์เย็น หรือใส่น้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อยป่น乌糖)ซึ่งมีฤทธิ์อุ่น หรืออาจจะใส่น้ำตาลทั้งสองชนิดผสมกันก็ได้

ข้อควรระวังในการดื่มจับเลี้ยง

  1. จับเลี้ยง ไม่ต้มยาค้างคืน ไม่ค้างยาไว้ในหม้อ แล้ววันรุ่งขึ้นนำมาต้มใหม่
  2. จับเลี้ยงเป็นยาสมุนไพรค่อนไปทางเย็น ต้องดื่มแต่พอประมาณเพื่อการขับพิษร้อน ป้องกันรักษภาวะร้อนในของร่างกายที่ไม่รุนแรง สตรีตั้งครรภ์ หรือระหว่างให้นมบุตร และผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เด็กเล็ก ควรดื่มแต่พอประมาณ เพราะจะทำให้ร่างกายเย็น มีผลกระทบโดยตรงตรงต่อระบบย่อยและดูดซึมอาหาร เกิดอาการท้องแน่น อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ดื่มต่อเนื่องระยะยาวทำให้ภูมิคุ้มต่ำ ปวดหลังปวดเอว ปวดตามข้อกระดูก มือเย็นเท้าเย็น
  3. จับเลี้ยง ไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย ควรดื่มเมื่อมีภาวะร้อนใน หรือดื่มป้องกันเมื่อกระทบกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มีความร้อนเพื่อปรับสมดุลร่างกาย ควรรับประทานในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยทั่วไป  เมื่ออาการร้อนภายในทุเลาก็ควรต้องหยุดทาน การกินป้องในช่วงอากาศร้อน  ไม่ควรดื่มจับเลี้ยงทุกวัน ดื่มเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็มากพอแล้วตามความเหมาะสม