แพทย์แผนจีน กับอาการปวดกล้ามเนื้อเอ็นกระดูก (ปี้เจิ้ง)
ในมุมมองของแพทย์แผนจีน อาการปวดกล้ามเนื้อเอ็นและกระดูกหรืออาการปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเมื่อยล้าหนัก ยืดหดลำบาก เหน็บชา ปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ ปวดข้อรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ฯลฯ มักเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่อง หายแล้วกำเริบใหม่ได้อีก ซึ่งแพทย์จีนจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “ปี้เจิ้ง” (痹症) โดยสาเหตุของการเกิดโรคมาจากเลือดและพลังปิดกั้น ไหลเวียนไม่คล่อง กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นลมปราณ กระดูกขาดการหล่อเลี้ยง กลไกสำคัญของการเกิดโรคมาจากการกระทบจากปัจจัยก่อโรค คือ ลม ความชื้น ความร้อน และความเย็นเป็นหลัก มักร่วมกับพื้นฐานอ่อนแอของอวัยวะภายในคือ ตับ ม้าม ไต
ลักษณะของอาการปวด
- ปวดจากลม (行痹) : มีลักษณะแบบปวดเคลื่อนที่
- ปวดจากความเย็น (痛痹) : มีลักษณะแบบปวดข้อรุนแรง ตำแหน่งแน่นอน เจอความเย็นอาการปวดจะรุนแรง แต่เมื่อเจอความอุ่นอาการปวดจะบรรเทา
- ปวดจากความชื้น (着痹) : มีลักษณะการปวดข้อแบบหนักๆ มีอาการชา
- ปวดจากความร้อนอักเสบ (热痹) : มีลักษณะแบบการปวด บวม แดง ร้อน เจอความร้อนอาการยิ่งรุนแรง
- ปวดเมื่อยจากตับและไตอ่อนแอ : มีลักษณะแบบเข่าอ่อน เมื่อยเอว ขาไม่มีแรง โดยทั่วไปมักมี 2 ปัจจัยร่วม คือ ลมความชื้นความร้อน และลมความชื้นความเย็น
ความสัมพันธ์ของปี้เจิ้งกับอวัยวะภายใน
- ตับ – ควบคุมเส้นเอ็น
- ไต – ควบคุมกระดูก
- ม้าม – ควบคุมกล้ามเนื้อ
การรุกรานของปัจจัยก่อโรคจะแสดงผลได้ เนื่องจากความแข็งแรงหรืออ่อนแอของอวัยวะภายในเป็นมูลฐาน ในขณะเดียวกัน ถ้าการได้รับสิ่งก่อโรคที่เป็นปัจจัยภายนอก ลม ความชื้น ความร้อน ความเย็น เกิดการปวดเรื้อรัง ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะพร่องต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะอวัยวะตับและไต โดยทั่วไปการเกิดอาการปี้เจิ้งแบบเรื้อรัง จึงเป็นปัจจัยร่วมของความอ่อนแอของอวัยวะภายในและปัจจัยก่อโรค (เงื่อนไขภายนอก)