“ปาก” บอกความผิดปกติของสุขภาพได้

พูดถึงปากคน หลายคนได้ดิบได้ดีเพราะปาก บางคนประสบเคราะห์กรรมก็เพราะปากโดยแท้ มีให้พบเห็นบ่อย คำพูดที่ออกมาจากปากก็สำคัญเป็นการสะท้อนอุปนิสัย ทัศนคติ การศึกษา การได้รับการอบรมเลี้ยงดู

คนจีนโบราณเชื่อว่า นอกจากเหตุปัจจัยของการบ่มเพาะจากสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ลักษณะของปากจะเป็นตัวกำหนดพื้นฐานอุปนิสัยดั้งเดิม และกำหนดการแสดงออกของบุคลิกภาพได้ด้วย คนที่มีลักษณะเด่นของธาตุใดธาตุหนึ่งจะมีบุคลิกภาพจิตใจ ที่โน้มเอียงไปแบบหนึ่งลักษณะเด่นของธาตุก็จะไปแสดงออกที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น จมูก หู ตา ปาก คิ้ว ซึ่งเป็นภาพจำลอง (holographic) ของร่างกายทั้งร่างกาย จึงทำให้โหงวเฮ้งของคนมีความแตกต่างกันไป

จึงมีความเป็นไปได้ในหลักทฤษฎีแพทย์จีน สภาพความเป็นอยู่(ทางเศรษฐกิจ สังคม) ส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ สภาพจิตใจก็มีผลต่อร่างกาย ต่อสีสัน ความมีชีวิตชีวาของใบหน้า ดวงตา จมูก ฯลฯ ซึ่งแน่นอน ความสุขที่เกิดขึ้นทางกายและใจ มีผลต่อลักษณะของอวัยวะและสภาพต่างๆ ของใบหน้า ซึ่งเสมือนเป็นกระจกสุขภาพที่ปรากฏสู่ภายนอก

คนที่มีลักษณะปากเล็ก-บางรูปร่างมักจะผอมอ่อนแอ ไม่ทนต่องานหนัก อาจเรียกว่าเป็นคนไม่แข็งแรงทำงานหนักไม่ได้ ถ้าในภาวะที่ต้องเจอกับภาวะตรากตรำก็จะลำบาก แต่ถ้าเป็นดารา ทำงานไม่ใช้แรงงานกาย งานเจรจาติดต่อ ก็อาจจะเหมาะสมกับสภาพของสังคม ก็อาจเรียกว่าดีได้

เราจึงพบปรากฏการณ์ที่ดารา นักแสดงจำนวนมากที่ดูแล้วหุ่นดี ร่างกายผอม-เพรียว ทั้งที่สุขภาพไม่ดีเป็นภาพที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่บางคนที่มีความสมบูรณ์อิ่มเอิบของใบหน้า ที่แสดงความอยู่ดีกินดี หุ่นคุณหญิงคุณนาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแง่ของโหงวเฮ้งที่ดี กลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา และถือว่าเป็นหุ่นที่มีโอกาสเกิดโรคความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และรูปร่างไม่เซ็กซี่ตามยุคสมัย

สิ่งที่จะเขียนเล่าสู่กันฟัง คงจะให้ความสำคัญของปากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นหลัก บางอย่างอาจเชื่อมสัมพันธ์กับการดูโหงวเฮ้งบ้าง แต่หลายอย่างก็ไม่สามารถอธิบายได้ในขอบเขตความรู้ที่จำกัดจากทฤษฎีแพทย์แผนจีน

การดูและพิเคราะห์ปากทางการแพทย์แผนจีน
1. การแบ่งพื้นที่รอบริมฝีปาก
เป็น 13 พื้นที่ บ่งบอกตำแหน่งอวัยวะภายในที่สะท้อนออกมาที่ริมฝีปาก

2. การพิจารณาสีของริมฝีปาก
ริมฝีปากขาวซีด มักเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง เลือดและพลังไม่พอ ภาวะความดันเลือดต่ำ ภาวะมีบุตรยาก พบได้ในโรคต่าง ๆ เช่น
 โรคไอเรื้อรัง เนื่องจากม้ามพร่อง พลังส่วนกลางของร่างกายอ่อนแอ มักพบใบหน้าขาวซีดด้วย
– โรคปวดท้อง เนื่องจากความเย็นในระบบม้าม ใบหน้ามักจะเหลือง แขน-ขาเย็น กลัวความเย็น ปัสสาวะมักใส หรืออุจจาระเหลว
– โรคเด็กขาดสารอาหาร ท้องเสียเรื้อรัง ท้องป่อง มีเสียงลำไส้บีบตัวดัง อาหารไม่ย่อย ไม่อยากอาหาร หน้าผากมักมีรอยเขียว

ริมฝีปากสีเขียว
 บ่งบอกว่ามีความเย็นอยู่ส่วนลึก การไหลเวียนเลือดติดขัดภายใน ภาวะเจ็บปวดภาวะชักในเด็ก
– ริมฝีปากถ้าปรากฏเป็นสีเขียว บ่งบอกความรุนแรงของโรคโดยเฉพาะเกิดจากภาวะโรคตับรุนแรงที่กระทบต่อระบบม้าม
– สตรีริมฝีปากเขียวร่วมกับมีเล็บออกสีม่วง มักตกเลือดทางช่องคลอด ปวดแน่นท้องบริเวณสะดือ
– เด็กทารกที่มีอาการหวาดผวา ตกใจกลัว หรือลมชัก จะมีริมฝีปากเขียว แขน-ขาสั่นกระตุก

ริมฝีปากสีม่วง บ่งบอกอาการไหลเวียนเลือดติดขัด อาจเกิดจากพลังหยางพร่อง หรือมีเลือดอุดกั้นหรือมีพยาธิในลำไส้

ริมฝีปากสีเทา เทาดำ และริมฝีปากหดตัวไม่สามารถปกคลุมฟัน (ทำให้เห็นฟัน) แสดงว่าพลังม้ามเริ่มหมด ถ้ามีเหงื่อเย็นออกด้วยแสดงว่าอันตรายมาก

ริมฝีปากสีแดงจัด แดงเข้ม แสดงว่ามีความร้อนสะสมภายใน โดยเฉพาะระบบม้ามหรือปอด ถ้ามีสีแดงเข้มร่วมกับสีผิวปากเหลือง แห้งเกรียม แสดงว่ามีการสูญเสียสารน้ำของร่างกายมาก

ริมฝีปากสีเหลือง มีผิวหลุดลอกหรือริมฝีปากบวม แสดงว่ามีความร้อนชื้นของม้าม (มีการสะสมของอาหารตกค้างนาน ๆ จนมีความร้อนภายในระบบย่อย)

3. ริมฝีปากสั่น
ทางการแพทย์จีนกล่าวว่า “ถ้าปากสั่น ควบคุมการเปิด-ปิดลำบาก การเปิด-ปิดถี่ มักพบในอาการของโรคมาลาเรีย เนื่องจากพลังหยางและเลือดพร่อง หรือพบในภาวะที่พลังของม้าม กระเพาะอาหารเริ่มหมด”
ซึ่งบ่งบอกภาวะกระเพาะอาหารม้ามพร่อง

4. ริมฝีปากแห้งและเป็นรอยแตก
ตำราโหงวเฮ้ง กล่าวว่า “ถ้าริมฝีปากเหี่ยวแห้งเกรียม มีสีเหลือง มีฟันแห้งและมีสีดำ ระวังอายุสั้น”
ทางการแพทย์จีนกล่าวว่า “ภาวะริมฝีปากเหี่ยวแห้ง มีรอยแตก แสดงว่า มีการสูญเสียน้ำในร่างกาย เช่น ภาวะท้องเสีย หรือไข้สูงเรื้อรัง ภาวะอากาศร้อนจัดเสียเหลื่อ หรือภาวะที่มีความร้อนสะสมในระบบของม้าม”

5. ปากเล็ก ปากใหญ่
ปากมาตรฐาน ในทางแพทย์แผนจีนนั้น มุมปากทั้ง 2 ข้าง อยู่ในแนวสันตรงที่ลากจากขอบตาดำด้านในดิ่งลงมาทางมุมปาก

ปากใหญ่ ในตำราโหงวเฮ้งกล่าวถึงบุรุษเพศที่มีปากใหญ่มักจะดี “ปากใหญ่เท่ากำปั้น จะเป็นแม่ทัพนายกอง”

สำหรับสตรีเพศ การมีปากที่ใหญ่ถือเป็นลักษณะที่ไม่ดี เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะภาวะปากใหญ่บ่งบอกความเป็นคนกล้าหาญ บึกบึน กล้าได้กล้าเสีย เป็นช้างเท้าหน้า เป็นตัวของตัวเอง หรือมีลักษณะนักรบฝ่ายบู๊ แต่อาจขาดความรอบคอบ ในยุคศักดินา หรือสังคมที่มีค่านิยมให้สตรีเป็นช้างเท้าหลัง เป็นผู้ตาม หรือผู้ช่วยของบุรุษ จึงถือเอาลักษณะผู้หญิงบู๊เป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสม

ปากเล็กหรือปากจู๋ (ปากหดสั้น) ทารกหรือผู้ใหญ่ที่มีปากเล็ก หดแคบ มักพบร่วมกับภาวะหัวใจ ม้ามมีความร้อน นอกจากนั้นยังพบในภาวะกระทบลมเย็น ทำให้ปวดท้องรุนแรง

6. มุมปากยกขึ้นบน หรือมุมปากตกลงล่าง
ตำราโหงวเฮ้ง กล่าวว่า “คนที่มีมุมปากยกขึ้นบน จะมีโชคลาภ มีราศีดี เป็นที่เคารพรักของคนอื่น มีตำแหน่งการงานดี มีการเงินดี มนุษยสัมพันธ์ดี เป็นคนอารมณ์ดี การงานลื่นไหลคล่องตัว”
“คนที่มีมุมปากตกลงล่าง ค่อนข้างเป็นคนดื้อรั้น ถือทิฐิ ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ค่อยได้ ไม่ต่อยประสบความสำเร็จทางหน้าที่ตำปหน่งและการงาน เป็นลักษณะที่ไม่ดี”

ทางการแพทย์สมัยใหม่ พบว่าในขณะที่คนอยู่ในภาวะมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ประสาทใบหน้า ประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อใต้ตา กล้ามเนื้อริมฝีปากบน ปากและบริเวณแก้มได้รับการกระตุ้น
ทางการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า ในขณะที่คนอยู่ในภาวะมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ประสาทใบหน้าประมาทที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อใต้ตา กล้ามเนื้อริมฝีปากบน, ปากและบริเวณแก้มได้รับการกระตุ้น มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น คนที่มีความสุขความสบายทางร่างกาย จิตใจจึงมักจะมีมุมปากที่ยกสูงขึ้น ในทางกลับกัน คนที่อยู่ในภาวะอารมณ์โมโห หงุดหงิด มีความทุกข์ ก็จะส่งผลกลับกัน ทำให้กล้ามเนื้อริมฝีปากตกลง