อาการปวดกล้ามเนื้อเอ็นกระดูก กับอาการปี้เจิ้ง (痹症) ในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน กับแพทย์แผนจีน
เมื่อพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Pain) ในความหมายของการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ ความรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกในส่วนต่างๆ ของร่างกายทั่วตัว ที่พบบ่อย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดต้นคอ เป็นต้น ส่วนใหญ่พบแพทย์ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ อาการปวดก็เป็นๆ หายๆ อยู่คู่กับเราไปตลอด
สาเหตุและประเภท
- จากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไปหรือเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำๆ ทำให้เกิดความตึงเครียดสะสมที่กล้ามเนื้อ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันจนทำให้กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ เช่น การออกกำลังกาย การทำงาน
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome หรือ MPS) วินิจฉัยจากประวัติมีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ตรวจพบจุดปวดที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger point) คลำได้ก้อนหรือไตแข็งๆในกล้ามเนื้อที่ตึง (Taut band)
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย (Fibromyalgia) อาการปวดทั่วตัวมานานกว่า 3 เดือน ต้องมีจุดกดเจ็บประมาณ 11 จาก 18 จุด โดยเป็นทั้งซีกซ้าย และซีกขวาของร่างกาย ทั้งเหนือเอว ใต้เอว และต้องมีอาการปวดกล้ามเนื้อกลางลำตัว คือ คอ หน้าอก ทั้งหลังส่วนบนและส่วนล่าง และอาจมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) หรืออาการอ่อนเพลีย อ่อนล้าของร่างกายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย เช่น เบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ ภาวะติดเชื้อ โรคมะเร็ง เป็นต้น
- ภาวะอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดทั่วร่างกาย (Polymyalgia rheumatic หรือ PMR) ร่วมกับการตรวจการอักเสบของเลือดโดยการดูค่าการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sediment rate: ESR) สูงมากกว่า 40 มม./ชั่วโมง
- สาเหตุจากโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคเอส แอล อี (Lupus Systemic Lupus Erythematosus)
- เกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล (Electrolyte Imbalance) เช่น ปริมาณแคลเซียมหรือโพแทสเซียมในร่างกายน้อยเกินไป หาสาเหตุได้โดยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน (Statins)
แนวทางการป้องกันและรักษา
- กรณีมีอาการปวดเมื่อยที่พอทนได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว หรือต่อการทำงาน แนะนำให้ใช้การบีบนวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ มากกว่าใช้ยาแก้ปวด
- การใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาเมื่อมีอาการปวด เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรค และถ้าใช้ยาแก้ปวดไม่เหมาะสม ก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาได้ เช่น แผลในกระเพาะอาการ โรคไต หรือการแพ้ยา
- ถ้าอาการปวดนั้นรุนแรงมาก และเป็นขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และ/หรือต่อการทำงาน อาจทานยาแก้ปวด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล หรือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS ) เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
- การทำกายภาพบำบัดโดยการนวด การยืดกล้ามเนื้อ การใช้ความร้อนประคบ และการใช้คลื่นความร้อนนวด
- พักผ่อนร่างกายจากกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ประคบร้อนและประคบเย็น ในช่วง 1 – 3 วันแรก ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งห่อผ้าในบริเวณที่มีอาการปวดของกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ