โรคกรดไหลย้อน (胃食管反流病) มุมมองแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน (2)

โรคกรดไหลย้อน (胃食管反流病) มุมมองแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน (ตอน 2)

รักษาโรคกรดไหลย้อน แบบแผนปัจจุบัน

  1. การรักษาด้วยยา โดยยาจะเข้าไปออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อช่วยลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร
  2. ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น
  3. การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบนอย่างผิดปกติ

 

โรคกรดไหลย้อนกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะมีพยาธิสภาพอยู่ที่กระเพาะอาหารเป็นหลัก แต่แพทย์จีนมองว่า เบื้องหลังการทำงานของกระเพาะอาหารคืออวัยวะม้ามและอวัยวะตับ การรักษาจึงต้องวิเคราะห์แยกแยะภาวะความเสียสมดุลหรือต้นตอที่แท้จริง

 

หน้าที่สำคัญของกระเพาะอาหาร

  1. รองรับอาหารและน้ำ (主受) เสมือนขุนนางที่ทำหน้าที่ดูแลเก็บกักอาหารเสบียงกัง (仓廪之官,主纳水谷) เป็นที่เก็บอาหารที่ผ่านการเคี้ยวในปาก และเดินทางผ่านหลอดอาหาร
  2. การย่อยอาหาร กระเพาะอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหารในระดับต้นๆ (腐熟水谷) เพื่อให้มีขนาดเล็กลงแล้วส่งไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก
  3. ควบคุมการไหลลงของพลังสู่ด้านล่างในการขับเคลื่อนอาหารและการขับถ่ายอุจจาระ แต่การขับเคลื่อนพลังไปด้านล่างของกระเพาะอาหารต้องอาศัยการทำงานของม้าม ในการลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้วไปสู่ด้านบน (เหมือนการส่งระบายสินค้าออกไม่ดี การนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาก็จะตกค้างง่าย) ถ้าม้ามอ่อนแอ กระเพาะอาหารก็จะบีบตัวให้อาหารลงสู่ลำไส้เล็กได้น้อยลง

 

ความสำคัญของตับ

อวัยวะตับ ควบคุมการขับเคลื่อนหรือกลไกพลังทั่วร่างกาย เป็นอวัยวะรับสารอาหารที่ดูดซึมแล้วมาสะสมเก็บเป็นพลังงานสำรองเพื่อนำออกมาใช้ในยามจำเป็น เป็นอวัยวะที่ส่งเลือดเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายในและภายนอก รวมถึงการกระตุ้นจากอาหารที่รับประทานไป ถ้าการทำงานของตับติดขัด (จากอารมณ์เครียดเก็บกด) หรือมากไป (จากอารมณ์โกธร) จะส่งผลต่อทิศทางพลังขับเคลื่อนของม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้การย่อยดูดซึมและลำเลียงอาหารไม่ดี (ส่งขึ้นไปตับและปอดด้านบน) ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนอาหารลงล่างของกระเพาะอาหารก็ไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งง่ายต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนนั่นเอง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *