กายต้องเคลื่อนไหว – ใจต้องสงบนิ่ง เทคนิคสุขภาพดี แบบแพทย์แผนจีน

กายต้องเคลื่อนไหว - ใจต้องสงบนิ่ง เทคนิคสุขภาพดี แบบแพทย์แผนจีน

แพทย์จีน ให้ความสำคัญกับ “การเคลื่อนไหว” คือ ท่านปรมาจารย์ ฮั้วถอ (หมอฮูโต๋) ท่านกล่าวว่า “การเคลื่อนไหวทำให้พลังเคลื่อน หลอดเลือดไม่ติด ขัด ทำให้ไม่เกิดโรค เหมือนดังแกนประตูที่ไม่ผุกร่อน”

ซุนซือเหมี่ยว กล่าวว่า “การดูแลสุขภาพ ต้องออกกำลังกายแต่น้อย สม่ำเสมอ อย่าหักโหมเหนื่อยเกินไป เอาแค่ระดับที่พอทนทานได้เป็นพอ

ทัศนะตรงนี้สอดคล้องกับแผนปัจจุบัน คือการออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างเลือดพลังให้กับร่างกาย อวัยวะภายใน กล้ามเนื้อแขนขา เอ็น กระดูก ข้อต่อ การไหลเวียนและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไป จะทำให้สูญเสีย พลังหยาง ทำให้สูญเสียความสมดุล ของอวัยวะภายใน และร่างกาย ทำให้แก่เร็ว อายุสั้น จำเป็นต้องพิจารณาการดูแลสุขภาพด้วยการหยุดนิ่งเพราะ สามารถลดการสูญเสียพลังหยาง สารจิง และสารยิน

การดำรงไว้ซึ่งการสมดุลของยินหยางเป็นหัวใจของการมีสุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว
การเคลื่อนไหวเกิดหยาง การหยุดนิ่งเกิดยิน เนื่องจากคนเรามีพื้นฐาน ของร่างกายต่างกัน คนมีพลัง หยางมาก ชอบจะเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ถ้าจับเขาให้อยู่ นิ่งไม่ไปไหน แน่นอนจะเกิดความอึดอัดอยู่ไม่ติด คนที่มีพลังยินมาก ชอบหยุดนิ่ง ไม่ชอบเคลื่อนไหว ถ้าบังคับให้เขาเคลื่อนไหวมากไป ก็จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในทัศนะแพทย์จีน การหยุดนิ่งจึงไม่ใช่การหยุดนิ่งอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องประสานกับการเคลื่อนไหวที่พอเหมาะตามลักษณะปัจเจกของแต่ละบุคคล
 การเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง มีผลกระทบและสืบเนื่องต่อกัน แยกจากกันไม่ได้
 การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่นิ่งก็มีการเคลื่อนไหว ในขณะที่เคลื่อนไหวก็มีการหยุดนิ่ง ขณะที่ข้างนอกเคลื่อนไหว ข้างในก็หยุดนิ่ง ด้านนอกหยุดนิ่ง ข้างในก็เคลื่อนไหว
 เคลื่อนไหวถึงที่สุดก็จะหยุดนิ่ง หยุดนิ่งถึงที่สุด ก็จะเคลื่อนไหว เป็นการแปรเปลี่ยนของยินหยาง

ในทางปฏิบัติ การเคลื่อนไหวการออกกำลังกาย และการหยุดนิ่ง มีหลักการดังนี้
1. การออกกำลังกายมากเกินไป และการหยุดนิ่งมากเกินไป ล้วนไม่ดี ทำลายสุขภาพทั้งคู่
2. ออกกำลังกายให้เหงื่อออกพอเหมาะ ไม่ควรให้ออกมากเกินไป เพราะเหงื่อออกมากจะทำลายหยางชี่
3. ผู้สูงอายุต้องเน้นการหยุดนิ่งมากกว่าการเคลื่อนไหว เวลาเคลื่อนไหวต้องค่อยๆ นุ่มนวล และจบลงอย่างช้าๆ
4. คนที่ร่างกายแข็งแรงหรือมีภาวะแกร่งมากต้องเน้นการเคลื่อนไหวเป็นหลัก เช่น คนที่มีความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หัวใจหลอดเลือด
5. คนที่ร่างกายปกติหรือไม่พร่องไม่แกร่ง ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน เน้นการหยุดนิ่ง เป็นหลัก ประสานกับการเคลื่อนไหว ที่พอเหมาะเป็นด้านรอง
6. การหยุดนิ่งไม่ได้มีความหมายว่าหยุดนิ่งโดยสิ้นเชิง การเคลื่อนไหวก็ไม่จำเป็นต้องให้ได้ขนาดการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
7. การบริหารพลังลมปราณในแบบมวยจีนไท้เก้ก หรือแบบอื่นๆ เน้นการกำหนดจิตที่นิ่งมีสติ จะปรากฏการเคลื่อนไหวของพลังลมปราณขึ้นเองตามเส้นลมปราณต่างๆ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า การหยุดนิ่งสามารถเกิดการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหว ที่ได้ขนาดถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะหลั่งสารความสุขออกมา ทำให้จิตสงบนิ่ง มีความสุข

การสร้างสมดุลของยิน-หยาง การสร้างสมดุลของการเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง การประสานการบริหารทางกายกับบริหารทางจิต เป็นการเสริมสุขภาพที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน แยกจากกันไม่ได้

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *