5 วิธีการดูแลกระเพาะอาหารและม้าม

5 วิธีการดูแลกระเพาะอาหารและม้าม

“ กระเพาะอาหาร และม้ามเป็นรากฐานของชีวิตหลังกำเนิด”

การดูแล กระเพาะอาหาร และม้ามจัดเป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่สำคัญวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

1. การบริโภคอย่างถูกสุขลักษณะ

คือการรับประทานอาหารเป็นเวลาและในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณที่รับประทานควรอยู่ในระดับ 8 ใน 10 ส่วนจากปริมาณที่รู้สึกอิ่ม การทำเช่นนี้จะกระตุ้นให้มีความหิวหรืออยากอาหารในมื้อต่อไป ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม

สูตรอาหารที่แนะนำในการบำรุงกระเพาะอาหาร คือข้าวฟ่าง 100 กรัม, ฟักทอง 100 กรัม, พุทราจีน 10 เม็ด นำมาต้มรวมกันจนสุก ใช้รับประทานแทนข้าวสวย สูตรนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง เลือดลมไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ที่ต้องการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร

2. การปรับสมดุลอารมณ์ เพราะอารมณ์สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของ ม้าม และ กระเพาะ ได้

ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนจีน อารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธ เครียด โศกเศร้า สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารได้ โดยอาการแสดงจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น ไม่อยากอาหาร ท้องอืด เมื่อยล้าตามร่างกาย ถ่ายเหลว เป็นต้น

งานวิจัยในปัจจุบันพบว่า การย่อยอาหารมีความสัมพันธ์กับระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ดังนั้นการควบคุมอารมณ์จึงสามารถกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้มีความอยากอาหาร และยังส่งผลให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานได้ปกติ

3. การขบฟันและการกลืนน้ำลาย

ฟันและน้ำลายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร โดยหน้าที่หลักคือการทำให้อาหารเปียกและบดย่อยง่ายต่อการกลืน เอนไซม์ในน้ำลายจะสามารถช่วยย่อยแป้ง ดังนั้นการย่อยอาหารจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณช่องปาก การบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารจึงควรเริ่มตั้งแต่การดูแลรักษาสุขภาพของช่องปาก และกระตุ้นการผลิตน้ำลาย

4. การเดินออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเป็นประจำทุกวัน จะช่วยปรับสมดุลการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้

ชาวจีนโบราณเชื่อว่าหากได้เดินออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเป็นประจำทุกวัน จะช่วยปรับสมดุลระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม ป้องกันอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และโรคเรื้อรังที่จะเกิดกับระบบทางเดินอาหาร

หากแต่การเดินออกกำลังกายนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยผู้ที่เหมาะต่อการเดินหลังรับประทานอาหาร คือบุคคลที่ส่วนใหญ่แล้วต้องนั่งทำงาน ผู้ที่ออกกำลังกายน้อย หรือผู้ที่มีร่างกายอวบอ้วน บุคคลจำพวกนี้หลังรับประทานอาหารควรพักประมาณ 20 – 30 นาทีก่อนการเดินออกกำลังกาย โดยการเดินจะช่วยลดปริมาณการสะสมไขมันในร่างกาย และลดปริมาณการคัดหลั่งน้ำดีในกระเพาะอาหารอีกด้วย

ผู้ที่ไม่เหมาะต่อการเดินหลังรับประทานอาหาร คือบุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะอาหารหย่อน เป็นต้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น การออกกำลังกายด้วยการเดินควรกระทำหลังรับประทานอาหารเย็น 2 ชั่วโมง และไม่ควรหักโหม โดยเดินให้มีเหงื่อออกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับมีอาการหอบ หายใจถี่ สามารถเดินครั้งละ 15 – 20 นาที และหยุดพักได้บ้างตามความเหมาะสม

5. การนวดท้องหลังรับประทานอาหาร การนวดบริเวณหน้าท้องเป็นประจำช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของลมปราณ และการไหลเวียนเลือดในร่างกาย

ภายในบริเวณช่องท้องของร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญต่างๆ โดยทางแพทย์จีนเชื่อว่าบริเวณช่องท้องนั้นมีการไหลผ่านของเส้นลมปราณเป็นจำนวนมาก การนวดบริเวณหน้าท้องเป็นประจำจะสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของลมปราณ และการไหลเวียนเลือดในร่างกาย โดยสามารถส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและอายุยืนยาว 

หากแต่ไม่ควรนวดหลังรับประทานอาหารในทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวเร็วเกินไป อาหารที่ยังย่อยไม่เสร็จจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก และจะส่งผลให้ลำไส้เล็กทำงานหนักขึ้น อีกทั้งยังทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

—————————–

อ่านบทความอื่นของเรา

ดูแลไต ต้องดูแลอวัยวะอื่นควบคู่ไปด้วย

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *