เหตุแห่งโรค และหลักการรักษาโรคกรดไหลย้อน (胃食管反流病)

หากจะกล่าวถึงเหตุแห่งโรคกรดไหลย้อนในมุมมองของแพทย์แผนจีน สามารถจำแนกได้ดังนี้

1. การรับประทานอาหารไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีมื้ออาหาร อยากกินเมื่อไรก็กินตอนนั้น เช้าไม่กิน ดึกกินมาก (饮食不当) ทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารแปรปรวน ทำงานไม่ปกติ

2. ปล่อยให้หิวเกินไปหรือกินอิ่มเกินไป (饥饱失常) เพิ่มภาระและสร้างความสับสนกับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย

3. อารมณ์เครียด – กังวล จะทำร้ายกระเพาะอาหารและม้าม (忧愁思虑伤及脾胃) การครุ่นคิดมากเกินไป ทำให้พลังรวมศูนย์ไม่กระจาย การระบายพลังของตับเกิดการติดขัด ส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้อาหารไม่ย่อย ไม่ดูดซึม

4. การชอบรับประทานอาหารไม่สุก ฤทธิ์เย็น จะทำให้หยางของม้ามพร่อง เนื่องจากม้ามชอบความแห้งไม่ชอบความชื้น (喜燥恶湿) ชอบความอุ่น ไม่ชอบความเย็น (恶凉喜温)

5. การที่ช่องว่างส่วนกลางร่างกาย (จงเจียว中焦) ได้รับความเย็นจากอาหารหรืออากาศ จนเกิดภาวะเย็นพร่อง (虚寒) ทำให้อาหารไม่ย่อย ไม่ดูดซึม เกิดการตกค้างเกิดเป็นความชื้นและเสมหะ และย้อนกลับขึ้นด้านบนไปทางหลอดอาหาร

6. คนที่ไตหยางอ่อนแอ 肾阳虚亏 (ไตหยางเป็นการทำหน้าที่ของไตในการให้พลังอุ่นร้อนเพื่อการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย) จะทำให้การทำงานทุกอวัยวะลดน้อย รวมถึงการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม

การวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรค

ในการวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรค จำเป็นต้องพิจารณาความเสียสมดุล ความเชื่อมโยงของปัญหาของอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง  และแยกแยะปัญหาหลัก ปัญหารอง รักษาองค์รวมและรักษาเฉพาะส่วนควบคู่กันไป ซึ่งจากการวิจัยพบว่า โรคกรดไหลย้อนเกิดได้หลายภาวะ คือ 1. ภาวะตับกระเพาะอาหารอุดกั้นเกิดความร้อน (肝胃郁热)  2. ภาวะตับและกระเพาะอาหารไม่สมดุล (肝胃不和) 3. ภาวะกระเพาะอาหารร้อนพลังย้อนข้นบน (胃热气逆)  และ 4. ภาวะพลังตับอุดกั้นม้ามพร่อง (肝郁脾虚型)

รักษากรดไหลย้อนด้วยยาสมุนไพร

1. ตำรับจั่วจินหวาน (左金丸) : สรรพคุณ ลดพิษความร้อนในกระเพาะอาหาร ขับไฟกระเพาะอาหาร ระบายตับปรับกระเพาะอาหาร (泻火,疏肝,和胃,止痛)

2. ตำรับหวงเหลียนเวินต่านทัง (连温胆汤) : สรรพคุณ ขับร้อนสลายชื้นปรับพลังสลายเสมหะ ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี (清热燥湿 理气化痰 和胃利胆)

3. ตำรับปั่นเซี่ยโฮ่วพ่อทัง (半夏厚朴湯) : สรรพคุณ เคลื่อนพลังสลายการเกาะตัว ดึงพลังลงล่างสลายเสมหะ (行气散结,降逆化痰)

4. ตำรับไฉหูซูกานซ่าน (柴胡疏肝散) : สรรพคุณ ระบายตับ ปรับพลัง กระตุ้นการไหลเวียนเลือด หยุดปวด (疏肝理气,活血止痛)

5. ตำรับท่งเซี่ยเย่าฟังร่วมกับซื่อจินจื่อทัง (泻要方合四君子) : สรรพคุณ ระบายตับ เสริมบำรุงม้าม

รักษากรดไหลย้อนด้วยการนวดจุด – ฝังเข็ม

การระบายดึงพลังกระเพาะอาหารลงล่าง

  • จู๋ซานหลี่(足三里)
  • จงหว่าน (中脘)
  • เน่ยกวน (内关)

การปรับการทำงานตับ เพื่อระบายและขับเคลื่อนพลัง

  • ซานอินเจียว(三阴交)
  • ไท่ชง(太冲)

                จะเห็นได้ว่าโรคกรดไหลย้อน แพทย์แผนจีนไม่ได้มองไปที่การทำงานของกระเพาะอาหาร หรือหูรูดกระเพาะอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับอวัยวะตับ ถุงน้ำดีและม้ามหรือบางครั้งเกี่ยวข้องกับอวัยวะไตอีกด้วย การรักษาจึงต้องปรับรักษาสมดุลไปด้วยกัน