ทัศนะแพทย์แผนจีน ต่อการนอนหลับ

เวลากลางวัน เป็นหยาง ระบบประสาทส่วนกลาง จะถูกกระตุ้นให้มีความตื่นตัว หลังเที่ยงวัน พลังหยางของธรรมชาติจะค่อยๆ ลดลงจนถึงเที่ยงคืน ภาวะความตื่นตัวของระบบประสาทส่วนกลางค่อยๆ อ่อนล้าหรือลดลง การทำงานของคนเราควรจะต้องให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ และสภาพของ “นาฬิกาชีวิต” ของร่างกาย

เวลากลางคืน เป็นยิน ระบบประสาทส่วนกลางควรอยู่ในสภาพสงบและพัก เพื่อขจัดความเมื่อยล้าจากการทำงาน การเคลื่อนไหวของร่างกาย จิตใจ ตลอดวันที่ผ่านมา

การนอนหลับจึงเป็นวิธีการพักผ่อนตามธรรมชาติที่ดีที่สุด ถ้าการนอนหลับเพียงพอ หลับสนิท และเป็นการหลับตอนกลางคืนในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายมีการฟื้นตัวได้ดีที่สุด เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็จะมีความสดชื่น มีสภาพร่างกาย สภาพของสมองที่พร้อมจะทำงานให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุด ปัญหาจะเกิดขึ้นมากมาย เมื่อร่างกายและสมอง ไม่สามารถพักผ่อน และฟื้นฟูสภาพได้จากภาวะการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือหลับไม่พอ

ร่างกายคนเรามีระบบการทำงานของร่างกายที่มีกฎเกณฑ์ เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบสมดุล กฎเกณฑ์เหล่านี้เปรียบเสมือน “นาฬิกาชีวิต” การเคลื่อนไหวของมันเป็นไปตามวิถีการหมุนรอบตัวเองของโลก การเข้าใจกฎเกณฑ์ของ “นาฬิกาชีวิต” เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัว นำมาซึ่งสุขภาพที่ดี อายุยืนยาว การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ตัวอย่างกฎเกณฑ์ทางสรีระของร่างกาย เช่น

ความดันของหัวใจ ประมาณ 72 ครั้ง/นาที

การหายใจ ประมาณ 16 ครั้ง/นาที

อุณหภูมิของร่างกาย ช่วงเช้าต่ำกว่าช่วงค่ำ

ความดันเลือด ช่วงกลางวันสูงกว่ากลางคืน

รอบของประจำเดือนประมาณ 28 วัน

การนอนไม่หลับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับระยะยาวจะมีผลกระทบต่อกฎเกณฑ์ธรรมชาติของร่างกาย หรือสัญญาณชีวิต (vital sign)

สาเหตุของการนอนไม่หลับ

สาเหตุของการนอนไม่หลับ แพทย์แผนจีนมองว่า เกิดจากหลายสาเหตุ

1. ใช้ความคิดมาก ทำลายหัวใจ (สมอง ประสาท) และระบบม้าม (การย่อย)

2. ความผิดปกติของไต (หัวใจและไตไม่สัมพันธ์ประสานกัน)

3. ร่างกายอ่อนแอ ตกใจง่าย พบเหตุการณ์ภายนอกมากระทบ จะทำให้จิตใจตื่นตระหนก นอนไม่หลับ

4. ใช้ยาบำรุงพลังหรือยากระตุ้นพลังอย่างไม่เหมาะสม เช่น เขากวางอ่อน หมาหวง ยากระตุ้นหยางของร่างกาย

ข้อแนะนำเพื่อการนอนหลับที่ดี

การนอนหลับที่ดี ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1. ตื่นนอนแต่เช้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เคลื่อนไหว ออกกำลังกายประมาณ 20 นาที เพื่อกระตุ้น “นาฬิกาชีวิต”  (รับพลังหยาง) เพื่ออุ่นร่างกาย ระบบประสาท ในการทำงานของวันใหม่

2. การกินอาหารเช้าและกลางวันไม่ควรอิ่มเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงนอนตอนกลางวัน (โดยเฉพาะคนที่ชอบหลับกลางวันบ่อยๆ แล้วกลางคืนไม่หลับ) การที่มีความหิวเล็กน้อย ช่วยกระตุ้นไม่ให้หลับกลางวัน

3. ก่อนนอน 2 ชั่วโมง ถ้าเป็นคนหลับยาก อาจออกกำลังกายเบาๆ สัก 15-30 นาที จะทำให้การนอนหลับดีขึ้น

4. การนอนหลับ ต้องตั้งใจนอนจริงๆ นอนให้พอ ไม่ใช่สักแต่ได้นอน เช่น นอนเปิดไฟ เปิดโทรทัศน์ ทำให้รบกวนการนอน และถูกกระตุ้นตลอดเวลาระหว่างนอนหลับ

5. ฝึกเคล็ดลับการผ่อนคลายก่อนการนอนหลับ ให้นอนหงาย ผ่อนคลายทั่วร่างกาย มือทั้ง 2 ข้าง วางใต้สะดือ ลิ้นแตะเพดานบน เมื่อมีน้ำลายเกิดขึ้นในปากให้ค่อยๆ กลืนลงไปช้าๆ เวลาที่สำคัญที่สุดที่ต้องหลับสนิทคือ 01.30-02.30 น. (จึงควรเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม) เพราะระดับฮอร์โมนและอุณหภูมิของร่างกายต่ำสุด ร่างกายมีผ่อนคลายและมีการทำงานน้อยที่สุด

6. ใช้ลูกบอลสุขภาพ (ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นหินกลมขนาดกำมือ) โดยหลักการคือ กระตุ้นเส้นลมปราณ ปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และหัวใจ ที่วิ่งผ่านบริเวณฝ่ามือ โดยเฉพาะใจกลางฝ่ามือ มีจุดฝังเข็ม เรียกว่า เหลากง  บนเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ เวลาอ่อนเพลีย ระบบประสาทตึงเครียด เวลากระตุ้นจุดนี้จะทำให้มีการปรับระบบสมดุลของสมองและประสาทได้ กระตุ้นวันละหลายครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที มือซ้ายมือขวาทำสลับกัน เวลากำคลายนาทีละประมาณ 60 ครั้ง

7. เท้าแช่น้ำร้อนก่อนนอน เป็นวิธีธรรมชาติและเสริมสุขภาพที่ดี นอกจากเป็นการทำความสะอาดเท้า ควรใช้ฝ่ามือถูนวดบริเวณเท้าไปด้วย เป็นการกระตุ้นเลือดพลังให้ไหลเวียน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อองค์รวมของร่างกาย เราสามารถส่งสัญญาณการกระตุ้นไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ (Reflexology ) น้ำที่ใช้แช่อยู่ที่ประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส ความร้อนจะทำให้หลอดเลือดบริเวณเท้าขยายตัว การไหลเวียนเลือดและการขับระบายของเสีย และการได้รับอาหารของเนื้อเยื่อบริเวณเท้าเร็วขึ้น ช่วยฟื้นฟูและขจัดความอ่อนล้าได้ดี การนวดที่บริเวณนิ้วก้อยของเท้าจะช่วยเรื่องของมดลูกและการปัสสาวะกลางคืน (เส้นกระเพาะปัสสาวะ ควรนวดร่วมกับจุดบำรุงไต หย่งฉวน ที่บริเวณอุ้งเท้าทั้ง 2) การแช่เท้าด้วยน้ำร้อน จะดึงเลือดจากข้างบนมาสู่ข้างล่าง ลดภาวะตึงเครียดของสมอง ทำให้หลับสบาย และไม่ค่อยฝัน