ภาวะลองโควิด ในมุมมองแพทย์แผนจีน

โรคโควิด-19 ในทางแพทย์แผนจีนตามทฤษฎี《温疫论》เรียกว่า อี้ปิ้ง “疫病” สิ่งก่อโรคคือ พิษร้อน และพิษชื้น เป็นหลัก (热毒和湿毒为主) พยาธิสภาพเกี่ยวข้องกับ ความชื้น ความร้อน พิษ เลือดคั่ง ความแห้ง เสมหะ ภาวะพร่อง

เมื่อสิ่งก่อโรคพิษร้อนชื้น(ไวรัสโควิด-19) โจมตีจากภายนอกระดับเว่ย 卫 (ผิวภายนอก) เข้าสู่ระดับชี่ 气 (มีไข้ ปวดเมื่อยตัว) และสู่ระดับลึกอิ๋งเซวี่ย 营血 (เข้าสู่ปอดและอวัยวะภายใน) ที่ทำให้มีอาการปอดบวม(ปอดร้อนชื้น) เกิดลิ่มเลือดอุดตัน(เลือดคั่ง) เกิดอาการช็อค หมดสติ (พิษร้อนเข้าเยื่อหุ้มหัวใจ-หัวใจ) ผู้ป่วยระยะรุนแรงและภาวะวิกฤติ

อาการของ Long COVID มาจากพื้นฐานภาวะร่างกายและความรุนแรงของโรค

เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 บางคนอาจไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย บางคนอาจมีอาการหนักปานกลาง บางคนอาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต แพทย์แผนจีนมองว่ามาจากพื้นฐานภาวะร่างกายและเจิ้งชี่ (正气 พลังพื้นฐานของร่างกาย)ในการต่อสู้กับเสียชี่ (邪气 สิ่งก่อโรค)  ทำให้ผู้ป่วยมีหลายอาการและหลายอาการแสดงในลักษณะที่แตกต่างกัน ทำให้การรักษาผู้ป่วยมีการใช้แนวทาง หลักการ วิธีการ และตำรับยาที่ใช้รักษาแตกต่างกัน

1.  ลักษณะเบาหรือทั่วไป (轻型及普通型) มีส่วนประกอบของยาขับพิษ ขับร้อน ขับชื้น (ความเย็น) แก้ไข้ แก้ไอ สลายเสมหะ

1.1 ลักษณะพิษเย็นชื้น (寒湿疫毒证) เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีอาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ ไข้ไม่สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดในข้อกระดูก ตรวจพบฝ้าบนลิ้นขาวบางเหนียว ชีพจรลอยและแน่น หลักการรักษาคือ การขับพิษความเย็นและความชื้น

1.2 ลักษณะร้อนชื้น (湿热疫毒证)(มีความร้อนมากกว่าความชื้น 热重于湿型)คนไข้กลุ่มนี้พอเริ่มติดเชื้อ ก็มีอาการมาก เช่นไข้สูง คอแห้ง ไอแห้ง เสมหะแห้งขากออกลำบากบางทีมีเลือดติด ปวดเมื่อยตัวมาก อ่อนเพลีย อาจมีท้องเสีย ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นขาวหรือเหลืองเล็กน้อย ชีพจรเร็ว หลักการรักษาคือ การขับความพิษร้อนและสลายความชื้น

1.3  ลักษณะร้อนชื้น 湿热疫毒证(ชนิดความชื้นมากกว่าความร้อน湿重于热型)

คนไข้กลุ่มนี้พอเริ่มติดเชื้อ ก็มีอาการมาก มักมีไข้หลังเที่ยง เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอกและท้อง เรออาเจียน  ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดเมื่อยตัวหนัก ไอแห้ง คอขม เหนียวในลำคอ ลิ้นแดงฝ้าบนลิ้นเหลืองเหนียวหรือขาวหนาเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว

หลักการรักษา ขับความชื้นสลายสิ่งตกค้าง ขับพิษขับร้อน

2. การรักษาติดเชื้อรุนแรงและวิกฤติ เชื้อโรคบุกเข้าร่างกายสู่ระดับลึกอิ๋งเซวี่ย 营血 (เข้าสู่ปอดและอวัยวะภายใน) เป็นภาวะซับซ้อนที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อปอดและต่อเนื่องไปหลายระบบ หลายอวัยวะ

ในผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีปอดอักเสบและผู้ป่วยวิกฤติ นอกจากการใช้ยาเชิงตำรับแล้วยังมีการพัฒนายาในรูปแบบการฉีด เช่น ยาฉีด เซวี๋ยปี้จิ้ง (血必净注射液) สรรพคุณกระต้นการไหลเวียนเลือด สลายการอุดกั้นของเลือด  ยาฉีดสี่เยียนผิง(喜炎平注射)液 เป็นสารแอนโดรกราโฟไลด์ซัลโฟเนตจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร  ช่วยขับพิษขับร้อนแก้ไอ ท้องเสียจากโรคบิด และยาฉีดเร่อตู๋หนิง (热毒宁注射液) ช่วยขับพิษขับร้อน

ศาสตราจารย์ หวางจินต๋า(王今达教授) เสนอแนวคิด 3 กลุ่มอาการกับ 3 วิธีการ “三证三法”  โดยอธิบายว่า พิษร้อนชื้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ(Septic Shock) เนื่องจาก 3 ภาวะคือ ภาวะพิษร้อน “毒热证”(จากพิษร้อนชื้น) ภาวะเลือดคั่ง “血瘀证”(จากความร้อน) ภาวะพร่องเฉียบพลัน”急性虚证”(พร่องจากการต่อสู้กับสิ่งก่อโรค)

การเกิดลองโควิด ในมุมมองแพทย์แผนจีน

พยาธิสภาพของการเกิดโรคโควิด-19 คือ พลังพร่อง ยินพร่อง พิษ เสมหะ ความชื้น ความร้อน ความแห้ง เลือดคั่ง ฯลฯ

กลไกการเกิดโรค การดำเนินของโรค มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ของ พิษร้อน พิษชื้น ทำให้เกิดไข้ความร้อน เกิดความแห้ง เสมหะร้อน  ภาวะพร่องของพลังและสารน้ำ(ยิน) ของอวัยวะปอด ม้าม ไต ความร้อนเข้าหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หมดสติ ช็อก(ทำลายสมอง)

ดังนั้นภายหลังจากการหายจากโรคโควิด-19 เมื่อตรวจไม่พบเชื้อหรือการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ผลลบแล้ว ก็เป็นช่วงฟื้นฟูร่างกาย แพทย์แผนจีนถือว่าแม้อาการของผู้ป่วยจะทุเลาลง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่สามารถเอาชนะสิ่งก่อโรค(พิษร้อนชื้น)ได้แล้ว และยังคงมีพยาธิสภาพอื่น เช่น เสมหะ ความเย็น ความร้อน ความแห้ง เลือดคั่ง พลังพร่อง ยินพร่อง ดำรงอยู่ ลองโควิด จึงเป็นช่วงของการขจัดเสียชี่ที่ตกค้างและการฟื้นฟูเจิ้งชี่ของร่างกายให้กลับสู่ภาวะสมดุลนั่นเอง

ในทางคลินิกพบว่ามี 3 แบบในการปรับพยาธิสภาพ

  1. ภาวะพลังและยินพร่องร่วมกับมีความชื้นและเลือดคั่ง (气阴两虚、挟湿挟瘀者) ใช้หลักการรักษา เสริมพลังบำรุงยิน กระจายพลังปอดสลายชื้น(益气养阴、宣肺化湿) ตำรับยาที่นำมาปรับใช้ คือ ซาเซินม่ายตงทังร่วมกับ อู่เย่หลูเกินทัง (沙参麦门冬汤合五叶芦根汤加减)
  2. ภาวะพลังและยินพร่องเป็นหลัก ใช้หลักการ เสริมพลังบำรุงยิน ตำรับยาที่ปรับใช้ คือ เซิงม่ายทัง (生脉饮) และ ซาเซินม่ายเหมินตงทัง( 沙参麦门冬汤)
  3. ภาวะพลังปอดและม้ามพร่อง มีเสมหะชื้น ใช้หลักการเสริมพลัง บำรุงม้าม สลายเสมหะชื้น  (健脾益气, 燥湿化痰) ตำรับยาที่ปรับใช้ คือลิ่วจวินจื่อทัง(六君子汤) ถ้ามีภาวะเลือดคั่ง(血瘀) ก็ปรับเพิ่มยากระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ถ้ามีความร้อนตกค้างเลือดคั่ง ท้องผูก พิจารณาเพิ่มยาขับถ่ายระบายสลายเลือดคั่ง เป็นต้น

ตัวอย่างอาการ ลองโควิด และการปรับสมดุลด้วยตำรับยาจีน

1. ภาวะพลังของปอดและม้ามพร่อง (肺脾气虚证) มีเสมหะชื้น(湿痰)

ม้ามเป็นแหล่งที่มาของพลังร่างกาย ปอดเป็นที่กระจายกำกับพลังไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจสั้น เหนื่อยไม่มีแรง เบื่ออาหารคลื่นไส้ แน่นในท้อง ท้องอืด ไม่มีแรงเบ่งอุจจาระ บางรายมีท้องเสีย ลิ้นซีดบวม ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว การรับรสผิดปกติ

หลักการการรักษา

  บำรุงพลังเสริมม้าม ขับสลายเสมหะความชื้น

ตำรับยาที่ปรับใช้  ลิ่วจวินจื่อทัง 六君子汤

ฝาปั่นเซี่ย (法半夏) 9 g、เฉินผี (陈皮) 10g、ตั๋งเซิน(党参) 15g、จื้อหวงฉี(炙黄芪) 30g、ไป่จู๋ผัด (炒白术) 10g、ฝูหลิง(茯苓) 15g、ฮั่วเซียง(藿香) 10g、ซาเหริน(砂仁) 6g 、กานเช่า(甘草) 6g。

2. ภาวะพลังและยินพร่อง(气阴两虚证)

ความร้อนจากไข้ทำลายสารน้ำในร่างกาย อ่อนเพลีย เสียพลัง เหนื่อยง่าย หายใจสั้น ต้องใช้แรงในการหายใจ ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ไข้ต่ำๆหรือไม่มีไข้ เบื่ออาหาร ไอแห้งเสมหะน้อย ลิ้นแดงแห้งชีพจรเล็ก ไม่มีแรง  

ตำรับยาที่ปรับใช้  เซิงม่ายทัง ( 生脉散) และ ซาเซินม่ายเหมินตงทัง ( 沙参麦门冬汤)

มีสมุนไพรขับพิษร้อน เสริมสารน้ำ แก้กระหายและสลายเลือดคั่งร่วม

ซาเซิน(沙参) 20g、ม่ายตง(麦冬) 15g、ซีหยางเซิน(西洋参) 6g、อู่เว่ยจื่อ(五味子) 6g、เซินสือกาว(生石膏) 15g(先煎)、ตั้นจวู่เย่(淡竹叶) 10g、ซ่างเย่(桑叶) 10g、หลู่เกิน(芦根) 15g、ตานเซิน(丹参) 15g、กานเฉ่า(甘草) 6g。

การฝังเข็มและรมยาระยะฟื้นฟู

จุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูการทำงานของปอดและม้ามและพยุงเจิ้งชี่(正气)

จุดฝังเข็มที่ใช้และความถี่ในการรักษา

  • รมด้วยแท่งโกฐจุฬาลัมภาที่จุด จู๋ซานหลี่(足三里) เก๋อซู(膈俞) เฟ่ยซู(肺俞) ข่งจุ้ย (孔最)ทั้ง  2 ข้าง  และ จงหว่าน (中脘)  กวนหยวน(关元)  จุดต้าจุย(大椎) วันละครั้ง

สรุป

โควิด-19 ในมุมมองแพทย์แผนจีน สาเหตุมาจากสิ่งก่อโรคที่มีลักษณะพิเศษไม่เป็นไปตามฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนที่มีสภาพร่างกายพื้นฐานแตกต่างกัน เกิดการต่อสู้กันระหว่างสิ่งก่อโรค邪气(เสียชี่)กับเจิ้งชี่正气(พลังพื้นฐานของร่างกาย) ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบสมดุล คือ ทำให้เกิดโรค มีอาการ ความรุนแรง และอาการแสดงต่างกันขึ้นกับพื้นฐานของร่างกายผู้ป่วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญของหลักการรักษาข้อหนึ่งของแพทย์แผนจีนที่ว่า  โรคเหมือนกันรักษาต่างกัน โรคต่างกันรักษาเหมือนกัน “同病异治,异病同治” (ต่างกับการรักษาแผนปัจจุบันที่ใช้การรักษาโควิด-19 ที่เป็นแบบมาตรฐานเดียวกันในผู้ป่วยทุกราย)

การรักษาแบบแผนปัจจุบันมุ่งเน้นการใช้ยาขจัดไวรัสเป็นหลัก ร่วมกับการแก้อาการและแก้ภาวะแทรกซ้อนของโรค ในขณะที่แพทย์แผนจีนเน้นที่การขับสิ่งก่อโรค แก้อาการและปรับสมดุลพื้นฐานร่างกายควบคู่กันไปด้วย มีแต่ภาวะร่างกายที่สมดุลจึงจะสามารถเอาชนะสิ่งก่อโรคได้อย่างยั่งยืน ภาวะLong Covid เป็นผลจากการดำเนินโรคเกิดพยาธิสภาพและการเสียหายจากการต่อสู้กับโควิด ยิ่งสู้กันหนักและยาวนาน การเสียหายก็จะมากยิ่งขึ้น จัดว่าเป็นการเสียหายและทิ้งพยาธิสภาพตกค้างของระบบสมดุลอย่างต่อเนื่อง การปรับสมดุลอวัยวะภายในแต่เนิ่นๆควบคู่กันไปในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยทำให้การรักษาผู้ป่วยหายเร็วขึ้น และยังป้องกันการลุกลามไปสู่ปอดอักเสบรุนแรงและภาวะวิกฤติ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้นหลังจาการหายจากโควิด-19 (ลองโควิด)