รู้จัก ภาวะลองโควิด

หลายคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว แต่กลับพบว่า ร่างกายและจิตใจของตนเองไม่เหมือนเดิม บางคนอาจใช้ระยะเวลาหนึ่งฟื้นกลับมาได้ บางคนก็ฟื้นกลับมาไม่หมด แสดงให้เห็นว่า หลังจากหายจากโควิด-19 ผู้ป่วยยังต้องมีปัญหาที่ต้องติดตามแก้ไขและฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำจากการเจ็บป่วยให้ฟื้นกลับมาเร็วที่สุด

Long COVID คืออะไร    

ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ แม้ว่าเชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย หรืออาจจะเกิดมีอาการใหม่ ที่ไม่เคยเป็นระหว่างติดเชื้อ

อาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และมักจะหายขาดภายใน 12 สัปดาห์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่าภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions) หรือ Long COVID

กล่าวโดยรวม ลองโควิด (Long COVID) เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นตามมากับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป   อาการลองโควิดจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม

อาการลองโควิดLong COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง  มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-49 ปี และอายุระหว่าง 50-69 ปี ร้อยละ 20  บางคนแม้ว่าตอนติดเชื้อจะเป็นไม่หนัก แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่กลับสู่ภาวะสุขภาพที่เคยแข็งแรงตามปกติเสียที ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วก็ตาม ความรู้สึกนี้เอง เป็นหนึ่งในอาการของ “ลองโควิด” ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 35% และในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในมากถึง 87%

กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบอาการ Long COVID

ปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงของความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Long COVID สูงได้แก่

– ผู้สูงอายุ ภาวะลองโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีอายุ 18-49 ปี ได้ประมาณ 10% และเพิ่มสูงถึง 22% ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี

– เพศหญิงมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย  

– ผู้ทีมีภาวะอ้วน

– ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหอบหืด และโรคเบาหวาน

– ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

– ผู้ที่ขณะติดเชื้อโควิด-19 มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อและไม่มีอาการ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักหรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสที่จะเกิดอาการ Long COVID ได้เช่นเดียวกัน

อาการที่พบมากที่สุดใน Long COVID

อ่อนเพลียเรื้อรัง  เหนื่อยง่าย อ่อนแรง

หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม

ปวดศีรษะ สมาธิจดจ่อลดลง ความจำผิดปกติ

ไอ เจ็บแน่นหน้าอก

ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ

ท้องร่วง ท้องเสีย

จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล หรือมีผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

บางคนหายจาการติดเชื้อแล้วก็กลับมาเป็นปกติเลย แต่บางคนแม้ว่าตอนติดเชื้อจะเป็นไม่หนัก แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่กลับสู่ภาวะสุขภาพที่เคยแข็งแรงตามปกติ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วก็ตาม

สาเหตุเกิดภาวะลองโควิด

เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขณะที่ร่างกายป่วยเป็นโควิด-19 จะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีการสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา ไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะโดยเฉพาะปอด ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และยังไปทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ เป็นผลจากความผิดปกติของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อโรคแล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรือต้องอาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบก็อาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่

เชื้อโควิด-19 เมื่อลงปอดในผู้ป่วยโดยเฉพาะที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ส่งผลให้ปอดมีความเสียหาย ต้องทำงานหนัก ปอดไม่แข็งแรง จากเดิมที่เนื้อปอดมีความยืดหยุ่น ปอดจะเริ่มแข็งและเกิดรอยโรค เกิดแผลหรือพังผืดต่าง ๆ ในเนื้อปอด ส่งผลให้แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจไม่เต็มปอด และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีผลจากอาการต่อเนื่อง เช่น เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อ เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญอื่นๆ

การเกิดภาวะลองโควิดมีผลโดยตรงจากการติดเชื้อโควิด-19  พื้นฐานทางร่างกาย โรคประจำตัว อายุแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ยาที่รักษาอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรักษาโควิด-19 เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์  รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหลังจากได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน อาการที่อาจพบได้หลังกลับบ้าน เช่น แสบกระเพาะอาหาร  อาการกรดไหลย้อน ค่าน้ำตาลไม่คงที่ หรือมีอาการของโรคเบาหวาน

รวมถึงผลข้างเคียงจากการได้ยาที่ใช้รักษาความเครียดทั้งทางกายทางใจที่ต้องเผชิญระหว่างเจ็บป่วย และยังอาจจะต้องเผชิญปัญหาอื่นๆหลังจากหายป่วยกลับมาอยู่บ้าน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว การตกงานฯลฯ ทุกอย่างเหล่านี้เป็นปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้งอย่างที่ควรเป็น

แนวทางการดูแลผู้ป่วย ลองโควิดของแผนปัจจุบัน

  • เมื่อผู้ป่วยหายจากโควิด-19 และกลับบ้านแล้ว ถ้าหากเกิดมีอาการผิดปกติชัดเจน เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ควรติดต่อโรงพยาบาลและได้รับตรวจประเมินและการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเพิ่งตรวจพบโรคประจำตัวใหม่ตอนเข้ารับการรักษาโควิด-19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง และควรรับการรักษาโรคประจำตัวนั้นอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม อาจจะลองมาตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คผลเลือด เอกซเรย์ปอด ค่าตับ ค่าไต ค่าสารอักเสบต่าง ๆ รวมถึงระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
  • วางแผนในการดูแลและฟื้นฟูตัวเองให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น ลดโอกาสป่วยง่ายและติดเชื้อซ้ำ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และอาจพิจารณาวิตามินเสริม
  • ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า ปัญหาเรื่องการนอน อาจติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ