“อากาศร้อนๆ แบบนี้ ถ้าได้ดื่มน้ำเย็นใส่น้ำแข็ง คงสดชื่นน่าดู”
“อากาศร้อนมาก ผมเลยนอนบนพื้นปูน เปิดพัดลมเย็นสบายดี แต่พอตื่นขึ้นมารู้สึกอ่อนเพลียหนักๆ หัวเหมือนจะไม่สบาย”
“ปิดเทอมหน้าร้อน พาเด็กๆ ไปห้างสรรพสินค้าทีไร กลับมาไม่สบายทุกทีเลย”
ใน หน้าร้อน ยามกระหายน้ำ ทุกคนมักนึกถึงน้ำเย็น น้ำแข็ง น้ำ อัดลม หรือไอศกรีม หรือหากอากาศร้อนมากๆ ถ้าอยู่บ้านมักใช้วิธีเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศจ่อถึงเนื้อถึงตัวทั้งวันทั้งคืน หรือบางคนนิยมไปหลบความร้อนตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ความเคยชินหลายอย่างอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้มากโดยที่เราคาดไม่ถึง แพทย์แผนจีนมีการบันทึกเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ หน้าร้อน ไว้อย่างน่าสนใจ แนวความคิดพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของแพทย์แผนจีน คือ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติรอบตัวที่มีความเกี่ยวพันและผลกระทบต่อกันอย่างแยกไม่ออก การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัวที่เด่นชัด คือ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ฤดูกาล ซึ่งได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ (มีลมแรง) ฤดูร้อน (มีแดดร้อน) ปลายฤดูร้อน(มีความชื้น) ฤดูใบไม้ร่วง (มีอากาศแห้ง) และฤดูหนาว (มีอากาศเย็น) จะมีผลต่อการปรับตัวของร่างกายและการเกิดโรค
สาเหตุแห่งโรคที่มากระทบร่างกายจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศและฤดูกาลมี 6 ปัจจัยด้วยกัน คือ ลม แดดร้อน ความชื้น ความแห้ง ความเย็น และไฟ (ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย) ซึ่งแต่ละปัจจัยมีผลกระทบต่อการปรับตัวของร่างกายแตกต่างกัน ถ้าหากร่างกายไม่สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หรือเพราะภาวะของร่างกายอ่อนแอจะทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น การเข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติของปัจจัยก่อโรคและของร่างกาย รวมถึงประสบการณ์การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมของคนจีนสมัยก่อนที่เรียนรู้จากชีวิตจริง ซึ่งหากนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของคนสมัยใหม่ (ที่ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้นทุกที) ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
วิธีดูแลสุขภาพ หน้าร้อน มีดังนี้
1. ไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด
หน้าร้อน อากาศร้อน ต้องหาทางช่วยดับความร้อน เพื่อป้องกันความร้อนกระทบร่างกายมากเกินไป เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่วิธีการให้ความเย็นแทนที่มากเกินไป เช่น กินน้ำแข็ง อยู่ในที่ที่มีความเย็น กินแต่อาหารที่มีความเย็น ฯลฯ นับว่าไม่เหมาะสม โดยทั่วไป เรามักดื่มน้ำเย็นๆ น้ำใส่น้ำแข็ง น้ำชาแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็ง น้ำอัดลม ผลไม้แช่เย็น เช่นแตงโม สับปะรด ฯลฯ ของเย็นๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร น้ำเย็นปริมาณมากจะไปเจือจางน้ำย่อย และมีผลให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหาร เพื่อทำการย่อยลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพการย่อยอาหารลดลง ก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบได้ง่าย คนที่เป็นโรคกระเพาะและเป็นแผลอักเสบอยู่แล้วก็จะกำเริบได้ง่าย หรือคนที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ หากดื่มน้ำเย็นก็จะยิ่งทำให้มีอาการไอและหอบมากขึ้น นอกจากนั้น น้ำแข็งที่ไม่สะอาดก็มีส่วนทำให้เกิดท้องร่วงท้องเสียอีกด้วย
2. เครื่องดื่มที่เหมาะสมใน หน้าร้อน
ในฤดูร้อนที่เรามีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อมาก การทดแทนน้ำในร่างกายที่เสียไปที่ดี คือ การดื่มน้ำเปล่า (ที่สุกแล้ว) หรือถ้าจะเสริมปรุงแต่งด้วยน้ำตาล เกลือ หรือสมุนไพรอื่นๆ ก็สามารถเลือกได้ตามความชอบและความเหมาะสม เช่น
- การดื่มชาร้อน น้ำเก๊กฮวยน้ำดอกสายน้ำผึ้ง น้ำใบไผ่ น้ำบ๊วย น้ำถั่ว จะช่วยลดความร้อนของหัว ใจ (การไหลเวียนเลือด) ทำให้ตาสว่าง เพิ่มน้ำในร่างกาย บำรุงตับ บำรุงไต เจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ขับปัสสาวะเสริมพลังร่างกาย
- การเติมน้ำตาลและเกลือ(ในปริมาณที่พอเหมาะ) ในเครื่องดื่มต่างๆ จะช่วยเสริมพลังและป้องกันการสูญเสียเกลือโซเดียมของร่างกายได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือใช้แรงงานมาก
ตัวอย่าง เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ หน้าร้อน
- ดอกเก๊กฮวย ๑๐ กรัม ชาใบเขียว ๑๐ กรัม ต้มใส่น้ำ ๕๐๐ ซีซี กินแทนน้ำ ช่วยขับร้อน ทำให้ตาสว่าง เสริมสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ลดอักเสบ ขับพิษร้อน
- ใบบัวสด (บัวหลวง) ๒๐กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี นำมาต้ม เวลาดื่มเติมน้ำตาลเล็กน้อย จะช่วยขับร้อน ทำให้เย็น สร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย ขับความชื้น ลดไขมันในเลือด
- ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำอย่างละ ๕๐ กรัม ต้มใส่น้ำตาลกินทั้งเปลือก มีสรรพคุณขับร้อน ทำให้เย็น ขับความชื้น บำรุงไต เพิ่มพลัง
- บ๊วยดำ ๑๐๐ กรัม น้ำ ๑,๐๐๐ ซีซี ต้มใส่น้ำตาลพอประมาณ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วดื่ม มีสรรพคุณสร้างน้ำในร่างกาย ดับกระหาย หยุดไอ แก้ท้องเสีย
การดื่มน้ำชาหรืออาหารสมุนไพรที่ร้อน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการขับเหงื่อ กระจายความร้อน สังเกตได้ว่าหลังจากกินอาหารดังกล่าวจะทำให้รู้สึกสบาย สรรพคุณของสมุนไพรก็เพื่อทำให้ภายในร่างกายไม่ร้อนเกินไป และสร้างน้ำเพื่อไม่ให้เสียเหงื่อมาก แต่ไม่ควรดื่มน้ำชาใส่น้ำแข็ง เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี
3. ไม่ควรนอนให้ลมหรือ ความเย็นโกรก
ความร้อนจากลมแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับ ตากลมในขณะเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิผิวของร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สด ชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้ การใช้พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศไม่ควรให้กระทบโดยตรงกับร่างกายนานๆ โดยเฉพาะที่บริเวณท้อง หากโดนลม นานๆ จะทำให้ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสียได้ หรือคนที่พลังพร่อง เมื่อโดนลมนานๆ จะทำให้เกิดความเย็น โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า ทำให้การไหลเวียนเลือดน้อยลง คนที่อยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาออกจากห้องต้องระวังการปรับตัวกับอากาศที่ร้อนภายนอก เด็กที่ไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าต้องระวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รวดเร็วจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
4.การนอน การพักผ่อน
โดยธรรมชาติของ หน้าร้อน กลางวันจะยาว กลางคืนจะสั้น (คนทั่วไปที่ไม่ได้นอนในห้องปรับอากาศที่ปรับอุณหภูมิ) กว่าอากาศจะเย็นสบายให้นอนหลับได้ก็มักจะดึก แล้วตอนเช้าตรู่ท้องฟ้าก็สว่างเร็ว ทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าที่เคยเป็น หน้าร้อน เราจะนอนได้น้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันอุณหภูมิในตอนกลางวันจะทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เหนื่อยง่าย (เพราะมีเลือดไหลเวียนมาที่ผิวกายมากกว่าปกติ แต่ไปเลี้ยงสมองหรือไป ที่ระบบการย่อยอาหารน้อยกว่าปกติ) ทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกง่วงตลอด
ในภาวะเช่นนี้ หลายคนที่อยู่ในห้องปรับอากาศอาจจะไม่ค่อยรู้สึกกับการเปลี่ยนของอากาศมากนัก แต่สำหรับคนทั่วไป (โดยเฉพาะคนในชนบทหรือคนที่ต้องทำงานในที่กลางแจ้ง) การได้พักผ่อนนอนหลับในช่วงกลางวันบ้าง จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่น้อยเลย ผู้ที่ทำงานในที่ทำงานคงจะนอนหลับกลางวันไม่สะดวก อาจใช้วิธีนั่งพิงพนักตัวตรง หลับตา สงบนิ่งๆ ในช่วงกลางวัน ก็เป็นการพักผ่อนที่ดี แต่สำหรับผู้ที่สถานที่อำนวยที่จะนอนหลับช่วงกลางวันนั้น ท่าที่นอนควรเป็นท่านอนราบหรือนอนตะแคง ห้ามนอนคว่ำ หรือนอนฟุบบนโต๊ะทำงาน เพราะจะกดท้อง กดทรวงอก กระทบการหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อไม่คลายตัวจึงผ่อนคลายไม่เต็มที่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ร้อนนี้ มีวิธีดูแลสุขภาพอย่างไร?