ิวิธีบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร

ระบบการทำงานที่สมดุลของอวัยวะภายใน ถือเป็นปัจจัยหลักของการมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งทางการแพทย์แผนจีนได้ให้ความสำคัญต่อม้ามและกระเพาะอาหารเป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่า หลังการกำเนิดของมนุษย์ ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เจริญเติบโตและดำรงชีวิต

กระเพาะอาหารจะทำหน้าที่รับและย่อยอาหารจนได้สารจำเป็นในการหล่อเลี้ยงร่างกาย และม้ามจะทำหน้าที่ลำเลียงสารเหล่านี้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ม้ามจึงถูกจัดเป็นแหล่งสร้างสารจำเป็นและต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต ดังโบราณกล่าว “ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นรากฐานของชีวิตหลังกำเนิด” ด้วยเหตุนี้การดูแลม้ามและกระเพาะอาหารจึงจัดเป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่สำคัญวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

1. การบริโภคอย่างถูกสุขลักษณะ กล่าวคือการรับประทานอาหารเป็นเวลาและในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณที่รับประทานควรอยู่ในระดับ 8 ใน 10 ส่วนจากปริมาณที่รู้สึกอิ่ม (อิ่ม 8 ใน10 ส่วน) การทำเช่นนี้จะกระตุ้นให้มีความหิวหรืออยากอาหารในมื้อต่อไป ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม สำหรับผู้สูงอายุควรทานอาหารในปริมาณที่น้อย แบ่งทานอาหารเป็นหลายมื้อ เพื่อลดภาระการทำงานของกระเพาะอาหารในการย่อย และทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ อีกทั้งไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด ควรรับประทานผักและผลไม้เพื่อให้ได้รับกากใยอาหารที่เพียงพอ โดยกากใยเหล่านี้จะส่งผลให้การขับถ่ายดีขึ้น ป้องกันการท้องผูก สำหรับผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวาน ของมัน ของทอด รสเค็ม ควรทานอาหารที่ย่อยง่าย ปรุงสุก และร้อน (อุ่น) เป็นต้น

สูตรอาหารที่แนะนำในการบำรุงกระเพาะอาหาร คือข้าวฟ่าง 100 กรัม, ฟักทอง 100 กรัม, พุทราจีน 10 เม็ด นำมาต้มรวมกันจนสุก ใช้รับประทานแทนข้าวสวย สูตรอาหารนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง เลือดลมไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ที่ต้องการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร สูตรอาหารนี้สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย

2. การปรับสมดุลอารมณ์ ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนจีน อารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธ เครียด โศกเศร้า สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารได้ โดยอาการแสดงจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น ไม่อยากอาหาร ท้องอืด เมื่อยล้าตามร่างกาย ถ่ายเหลว เป็นต้น งานวิจัยในปัจจุบันพบว่า การย่อยอาหารมีความสัมพันธ์กับระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ดังนั้นการควบคุมอารมณ์จึงสามารถกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้มีความอยากอาหาร และยังส่งผลให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานได้ปกติ

การปรับสมดุลอารมณ์ สามารถกระทำได้หลากหลายวิธี เช่น การระบายออกถึงเรื่องราวที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ การเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การเข้าสังคม, การร้อง – ฟังเพลง, ออกกำลังกาย, ดูหนัง, ท่องเที่ยว รวมไปถึงการหาเป้าหมายในชีวิตเช่น ความสำเร็จในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ ยังควรให้กำลังใจตนเองอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

3. การขบฟันและการกลืนน้ำลาย ฟันและน้ำลายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร โดยหน้าที่หลักคือการทำให้อาหารเปียกและบดย่อยง่ายต่อการกลืน เอนไซม์ในน้ำลายจะสามารถช่วยย่อยแป้ง ดังนั้นการย่อยอาหารจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณช่องปาก การบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารจึงควรเริ่มตั้งแต่การดูแลรักษาสุขภาพของช่องปาก และกระตุ้นการผลิตน้ำลาย แพทย์จีนโบราณซุนซือเหมี่ยว ได้บันทึกถึงแนวทางการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารไว้ว่าหลังการทำความสะอาดช่องปากในตอนเช้า ให้สงบจิตใจและทำการขบฟัน 30 ครั้ง หลังจากนั้นให้กัดฟันค้างไว้พร้อมกับขยับลิ้นไปดุนบริเวณเพดานปาก เพื่อกระตุ้นต่อมน้ำลาย ขยับลิ้นไปมาจนกว่าน้ำลายเต็มช่องปาก แล้วแบ่งกลืน 3 ครั้ง

4. การเดินออกกำลังกาย ชาวจีนโบราณเชื่อว่าหากได้เดินออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเป็นประจำทุกวัน จะช่วยปรับสมดุลระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นระบบการย่อยและดูดซึม ป้องกันอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และโรคเรื้อรังที่จะเกิดกับระบบทางเดินอาหาร หากแต่การเดินออกกำลังกายนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยผู้ที่เหมาะต่อการเดินหลังรับประทานอาหาร คือบุคคลที่ส่วนใหญ่แล้วต้องนั่งทำงาน ผู้ที่ออกกำลังกายน้อย หรือผู้ที่มีร่างกายอวบอ้วน บุคคลจำพวกนี้หลังรับประทานอาหารควรพักประมาณ 20 – 30 นาทีก่อนการเดินออกกำลังกาย โดยการเดินจะช่วยลดปริมาณการสะสมไขมันในร่างกาย และลดปริมาณการคัดหลั่งน้ำดีในกระเพาะอาหารอีกด้วย

ผู้ที่ไม่เหมาะต่อการเดินหลังรับประทานอาหาร คือบุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะอาหารหย่อน เป็นต้น บุคคลประเภทนี้ นอกจากจะไม่ควรเดินแล้วยังควรได้รับการพักผ่อนโดยการนอนเป็นเวลา 10 นาทีอีกด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น การออกกำลังกายด้วยการเดินควรกระทำหลังรับประทานอาหารเย็น 2 ชั่วโมง และไม่ควรหักโหม โดยเดินให้มีเหงื่อออกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับมีอาการหอบ หายใจถี่ สามารถเดินครั้งละ 15 – 20 นาที และหยุดพักได้บ้างตามความเหมาะสม

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการเดินออกกำลังกายหลังรับประทานอาหาร ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกัน จะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

5. การนวดท้องหลังรับประทานอาหาร ภายในบริเวณช่องท้องของร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญต่างๆ โดยทางแพทย์จีนเชื่อว่าบริเวณช่องท้องนั้นมีการไหลผ่านของเส้นลมปราณเป็นจำนวนมาก การนวดบริเวณหน้าท้องเป็นประจำจะสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของลมปราณ และการไหลเวียนเลือดในร่างกาย โดยสามารถส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและอายุยืนยาว หากแต่ไม่ควรนวดหลังรับประทานอาหารในทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวเร็วเกินไป อาหารที่ยังย่อยไม่เสร็จจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก และจะส่งผลให้ลำไส้เล็กทำงานหนักขึ้น อีกทั้งยังทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการนวดหน้าท้องควรกระทำก่อนนอนโดยมีวิธีการดังต่อไปนี้ ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างทับกัน และเริ่มด้วยการนวดทวนเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกาอย่างละ 108 ครั้ง วิธีการดังกล่าวนอกจากจะป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย

การบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารตามหลักการแพทย์แผนจีน ดังข้างต้น เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ปลอดภัย และสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพียงแค่รายละเอียดในการปฏิบัตินั้น ควรขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายของแต่ละบุคคล ทั้งนี้หากเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสม