เปี่ยนเชวียะ扁鹊 (ก่อน ปีค.ศ.407 – 310) เป็นแพทย์จีนที่มีชื่อเสียง ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานหลักการตรวจจับชีพจรแบบแพทย์จีน ครั้งหนึ่ง เว่ยเวินหวาง (魏文王) กษัตริย์แห่งรัฐฉินในสมัยชุ่นชิวจ้านกว่อ ( 春秋战国the Warring States period (475-221 BC) ได้สอบถามเปี่ยนเชวียะในข้อข้องใจบางประการ
เว่ยเวินหวางถาม “ในครอบครัวของเจ้ามีพี่น้อง 3 คน ล้วนแต่เป็นแพทย์ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม ถึงที่สุดแล้วทั้ง 3 คนใครเก่งที่สุด?”
เปี่ยนเชวียะตอบว่า “พี่ชายคนโตเก่งที่สุด พี่คนรองเก่งรองมา ส่วนข้าพเจ้าเก่งน้อยที่สุด”
เว่ยเวินหวางถามต่อ “แล้วเหตุใด เจ้าจึงเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่า?”
เปี่ยนเชวียะตอบ “พี่ชายคนโตรักษาโรคก่อนเกิดโรค คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาได้ขจัดต้นเหตุและเงื่อนไขต่างๆเพื่อไม่ให้เกิดโรค ชื่อเสียงความสามารถของเขาจึงไม่มีคนรู้ มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้นที่รับรู้
ส่วนพี่ชายคนกลางรักษาโรคเมื่อโรคเพิ่งแสดงอาการเริ่มแรก คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการรักษาโรคง่ายๆ จึงมีชื่อเสียงในหมู่บ้าน ส่วนข้าพเจ้ารักษาเมื่อเป็นโรคเมื่อโรคลุกลามและมีความรุนแรงแล้ว คนทั่วไปเห็นข้าพเจ้าใช้เข็ม ใช้การปล่อยเลือด ใช้ยาทาพอกภายนอก ทำให้เข้าใจว่าเป็นแพทย์ฝีมือยอดเยี่ยม ชื่อเสียงจึงระบือไกลทั่วประเทศ”
สรุปได้ว่า พี่ชายคนโต ใช้แค่การมองพลังชีวิต บ่งบอกถึงสภาพร่างกายโดยองค์รวม ก็หาแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพ ดูแลตั้งแต่โรคยังไม่ก่อตัว เป็นการหามาตรการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เป็นการรักษาที่ต้นทาง ในแง่การสาธารณสุข การดูแลสุขภาพประชาชน ถ้าทำได้ระดับนี้ ถือว่าเป็นสุดยอดทางการแพทย์ เรียกว่า แพทย์ชั้นสูงรักษาประเทศ (上医治国)
พี่ชายคนกลาง ใช้การรักษาเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค รักษาขณะที่โรคอยู่ในระดับผิวตื้น แก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆที่ต่อเนื่องตามมา เป็นการรักษากลางทาง เป็นแนวคิดในการรักษาคน มากกว่ารักษาโรค มองหาสาเหตุพื้นฐานและแก้ไของค์รวม ป้องกันโรคต่างๆที่จะตามมา เรียกว่า แพทย์ชั้นกลางรักษาคน (中医治人)
ส่วนตัวเปี่ยนเชวียะเอง รักษาเมื่อเป็นโรครุนแรงแล้ว รักษาตอนที่โรคก่อตัวลุกลาม โรคเข้าสู่ระดับเลือดและเส้นลมปราณแล้ว เป็นการรักษาที่ปลายทาง มักมีหลายโรค มีหลายอาการ การรักษามีความซับซ้อนซึ่งในทางการแพทย์ไม่ควรปล่อยให้มาถึงขั้นนี้ เพราะยากแก่การเยียวยาและมีค่าใช้จ่ายสูง เรียกว่า แพทย์ชั้นล่างรักษาโรค (下医治病)