“ไขมันพอกตับ” โรคที่เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน ยา สารพิษ การขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาของตับ ทำให้มีการสะสมของไขมันที่ตับมากเกินไป
ปัจจุบันแม้ว่าระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เกิดปัญหาด้านอาหารและมาตรการการป้องกัน ทำให้อัตราการเกิดไขมันในตับยังคงเพิ่มขึ้น และพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลง ซึ่งปัจจุบันไขมันสะสมในตับเป็นโรคที่พบบ่อยจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้คน อัตราการเกิด ไขมันพอกตับ ในประเทศจีนสูงถึง 8.4 – 12.9 % ซึ่งพบบ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ มักพบมากในผู้สูงอายุ ที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 40 – 50 ปี
ไขมันพอกตับ จัดว่าเป็นโรคไม่ร้ายแรงเฉกเช่นมะเร็ง มักค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา มีอัตราถึง 25% และ 1.5 – 8% ของผู้ป่วยอาจพัฒนาไปสู่โรคตับแข็ง ซึ่งในที่สุดการทำงานของตับจะล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยที่จะให้ความสำคัญกับอันตรายของโรคนี้
ภาวะ ไขมันพอกตับ มักจะไม่มีอาการที่เห็นได้เด่นชัด ส่วนมากมีอาการอ่อนเพลีย มักตรวจพบตอนตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลว่ามีไขมันในเลือดสูงและจากผลอัลตราซาวน์มีไขมันพอกตับ สำหรับคนที่อ้วนขึ้นเรื่อยๆ หรือคนที่อดอาหารเพื่อลดความอ้วนแต่ไม่ได้ผลยิ่งมีความจำเป็นต้องตรวจภาวะ ไขมันพอกตับ ในเวลาเดียวกันสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรังที่มีปัญหาของระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการกระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน เรอ ท้องอืด รู้สึกไม่สบายบริเวณตับ การเพิ่มลดของน้ำหนักอย่างผิดปกติ มีเลือดกำเดาไหล มีภาวะดีซ่าน ตลอดจนโรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง ขาดความมีชีวิตชีวา เป็นต้น ยิ่งต้องให้ความสำคัญใส่ใจเป็นพิเศษ
ไขมันพอกตับ มักมีอาการปวดสีข้าง ตำแหน่งปวดไม่แน่นอน เจ้าอารมณ์ สาเหตุของความเจ็บปวดจะมาก – น้อย ขึ้นอยู่กับการแปรปรวนของอารมณ์ แน่นหน้าอก เรอบ่อย ปวดแน่นท้อง ฝ้าบนลิ้นบาง ชีพจรตึง
แพทย์แผนจีนเชื่อว่าโรค ไขมันพอกตับ เกิดจากการรับประทานอาหารประเภทมัน หวาน เหนียวหนืด แอลกอฮอล์ มากเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อ 2 อวัยวะ คือ ตับและม้าม ทำให้ตับสูญเสียการขับระบาย เลือดของตับติดขัดเกิดเลือดคั่ง ทำให้ม้ามสูญเสียการลำเลียง ความชื้นไม่ถูกแปรเปลี่ยน เกิดความชื้นเสมหะ ซึ่งใช้หลักการในการรักษาคือ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ระบายการอุดกั้นของตับ เสริมม้าม สลายความชื้นและเสมหะ
ประสบการณ์การรักษาในคลินิกพบว่า ผู้ป่วยไขมันพอกตับ มักสัมพันธ์กับภาวะโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลายาวนาน โรคเบาหวาน หรือเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นส่วนใหญ่ ในการรักษาต้องใช้แนวคิดองค์รวมของแพทย์แผนจีนและการเปี้ยนเจิ้งแยกสภาพร่างกาย เลือกการใช้ยาสมุนไพรจีน การฝังเข็ม ควบคุมโภชนาการที่เหมาะสมร่วมกัน พบว่าการรักษาได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง
– ไวรัสตับอักเสบในทัศนะแพทย์แผนจีน